© 2017 Copyright - Haijai.com
8 เรื่องจำเป็นที่สุดของ “แม่”
ทุกวันนี้สุขภาพของคุณ โดยเฉพาะคนเป็นแม่ นั้นดีแค่ไหน การตรวจร่างกายจะช่วยบอกได้ดีที่สุด เพราะการตรวจร่างกายจะทำให้เราได้รู้ความเป็นไป หรือเป็นสัญญาณเตือนจากภายในของเรา เพื่อที่จะสามารถดูแล ปรับปรุง หรือจัดการได้ทันท่วงทีก่อนที่โรคต่างๆ จะก่อตัวขึ้นมานั่นเอง
ทำอย่างไรสุขภาพของเราจึงจะดีตลอดไป ในฐานะของผู้หญิงที่เป็นแม่เหมือนกัน จึงอยากให้คุณแม่ท่านอื่น ๆ หันมาสนใจการตรวจสุขภาพพื้นฐานกันบ้าง มาดูซิว่า 8 เรื่องเหล่านี้คุณให้ความสำคัญกันบ้างหรือเปล่า
….อย่าลืมนะคะคุณคือดวงไฟที่ส่องสว่างของลูก ถ้าไฟดวงนี้ดับไป
…ใครจะดูแลลูกให้มีความสุขเหมือนที่คุณดูแล
1.ตรวจเต้านม
เต้านมเป็นส่วนสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนหวงแหน การตรวจเต้านมทำได้หลายวิธีแต่พื้นฐานคือการตรวจด้วยมือ แม้ว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือนสามารถช่วยให้ผู้หญิงตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเต้านมก่อน แต่การตรวจที่ดีที่สุดสำหรับมะเร็งเต้านมคือการตรวจเต้านมทางคลินิก และการทำแมมโมแกรม โดยผู้หญิงควรตรวจมะเร็งเต้านมทางคลินิกทุกๆ 3 ปี ก่อนที่อายุครบ 40 ปี หลังจากนั้นต้องไปตรวจ แมมโมแกรม ทุกๆ ปีเมื่ออายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป
การตรวจแมมโมแกรมเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันเพราะมีความละเอียดสูง สามารถตรวจพบมะเร็งก่อนที่จะรู้สึกว่าเป็นก้อนเนื้อได้ ล่วงหน้าถึง 2 ปี แม้ว่าแมมโมแกรมจะสามารถตรวจ พบมะเร็งได้หลายชนิด แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจผิดพลาดตรวจไม่พบได้บ้าง และ ในอีกทางหนึ่งผลที่ได้จากการตรวจแมมโมแกรมเมื่อนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยวิธี ตัดชิ้นเนื้อ ก็อาจพบว่าผลที่ได้เป็นปกติไม่เป็นมะเร็งก็ได้
2.ตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap Test)
การตรวจมะเร็งปากมดลูก (Pap test) ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้หญิงไม่ควรพลาด เพราะมะเร็งปากมดลูกเมื่อรู้ก่อน รักษาได้เร็ว มีโอกาสหายได้สูง การตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก จะเป็นการตรวจภายใน โดยแพทย์จะนำเซลล์จากปากมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติของมะเร็งที่ยังไม่แสดงอาการ โดย U.S. Preventive Services Task Force (USPSTF) ได้แนะนำให้ผู้หญิงทำการตรวจมะเร็ง ปากมดลูกในช่วงประมาณ 3 ปี หลังจากเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หลังจากนั้น ควรกลับไปตรวจซ้ำอีกทุกๆ 3 ปี
สำหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี ไม่จำเป็นต้องไปตรวจมะเร็งปากมดลูก เป็นประจำเหมือนวัยสาว หากผลการตรวจที่ผ่านมาปกติ และไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูก ส่วนผู้หญิงที่ได้รับการตัดมดลูกและปากมดลูกออกด้วยสาเหตุ ที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็ง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยเช่นกัน
3.ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
การตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีความจำเป็นสำหรับผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีคู่นอนมากกว่า 1 คน และหนึ่งในนั้นก็มีคู่นอนอีกหลายคน เชื้อที่ตรวจพบมากที่สุด คือ chlamydia ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาจส่งผลทำให้เป็นหมันได้ ส่วนเชื้อตัวอื่นที่พบบ่อยเช่นกัน ได้แก่ หนองใน (gonorrhea) ซิฟิลิส โรคเอดส์ (HIV) เริม (HPV) และไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
การที่ตรวจพบได้เร็วเท่าไรก็จะทำให้ได้รับการรักษาเร็วขึ้นเท่านั้น หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทราบว่าควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปอย่างไร เพราะเชื้อบางชนิดนั้น เมื่อติดแล้วก็จะเกาะกินคุณไปตลอดกระทั่งอาจพรากชีวิตคุณด้วยก็เป็นไปได้ เช่น เชื้อ HIV ต้นเหตุของโรคเอดส์ที่รู้จักกันดี หรือไวรัสตับอักเสบบีที่อาจกลายเป็นมะเร็งตับในอนาคต สำหรับบางคนที่ไม่เคยตรวจมาก่อนแต่ได้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ดังกล่าว แล้วตั้งครรภ์ เชื้อบางชนิดก็อาจถ่ายทอดไปสู่ลูกในครรภ์ได้เช่นกัน ซึ่งก็เป็นอันตรายต่อเด็กทารกอย่างยิ่งยวด และเรื่องสำคัญที่ควรตรวจหาโรคทางเพศสัมพันธ์ก็เพื่อรับผิดชอบต่อสังคม คือการไม่แพร่กระจาย
4.ตรวจเบาหวาน
ปัจจุบันผู้หญิงมีสถิติเป็นโรคเบาหวานกันมากขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือเป็นโรคอ้วน หรือบางคนที่มีไขมันบริเวณหน้าท้องมาก ก็มีงานวิจัยออกมายืนยันแล้วว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ หรือคนที่มีไขมันบริเวณส่วนๆ อื่นมากกว่าหน้าท้อง โดยผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นเบาหวานในช่วงวัยกลางคน แต่มีแนวโน้มพบมากขึ้นในวัยรุ่น เบาหวานชนิดที่เป็น กันมากก็คือ เบาหวานชนิดที่ 2 เนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น เพราะร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอหรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้ตามปกติ
ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คือ อายุ ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย และกรรมพันธุ์ พบว่ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังพบบ่อยในผู้ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หรือในกลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลสูง มีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง หรือเคยตรวจพบระดับกลูโคสในพลาสมาผิดปกติ
American Diabetes Association (ADA) แนะนำว่าผู้หญิงควรตรวจโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทุกๆ 3 ปีนับตั้งแต่อายุ 45 ปี ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยง แต่สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว หรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เช่น มีดัชนีมวลกาย (BMI) ระหว่าง 25-29 หรือเป็นโรคอ้วน มีดัชนีมวลกาย 30 ขึ้นไป ควร ไปตรวจเร็วขึ้นและถี่ขึ้น
5.ตรวจหาโรคหัวใจ
ทุกวันนี้ต้องยอมรับกันว่ารูปแบบการกินของเราเปลี่ยนแปลงไปมาก อาหารไทยที่เคยเน้นผัก ปลา น้ำพริก มาเป็นอาหารสำเร็จรูป ฟาสต์ฟู้ด การรับประทานอาหารไขมันสูงมากขึ้น และที่สำคัญขาด การออกกำลังกาย จึงทำให้เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อ การเป็นโรคหัวใจ เป็นที่สังเกตว่าในผู้หญิงอาจจะไม่รู้สึกถึงอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แต่ผู้หญิงมักมีโอกาสมากกว่าผู้ชายที่จะมีอาการอาหารไม่ย่อย หายใจลำบาก หรือเจ็บปวดกล้ามเนื้อ แทนที่จะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างทั่วๆ ไป
USPSTF แนะนำว่าผู้หญิงอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ควรตรวจความดันโลหิตเป็นประจำ ถ้ามี ความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 ควรไปตรวจทุกๆ 2 ปี แต่ถ้าความดันโลหิตสูงมากกว่านั้นหรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น มีระดับโคเลสเตอรอลสูงหรือเป็นเบาหวานอยู่แล้วควรไปตรวจให้ถี่มากขึ้น
ผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับความดันโลหิต และระดับโคเลสเตอรอลเป็นประจำ แต่สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น เป็นเบาหวานหรือสูบบุหรี่ ควรเริ่มไปตรวจระดับโคเลสเตอรอลตั้งแต่อายุ 20 ปี โดย National Heart, Lung and Blood Institute แนะนำว่าผู้ที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป ควรตรวจเช็คระดับโคเลสเตอรอลทุกๆ 5 ปี
6.ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก
กระดูกของผู้หญิงมีความหนาแน่นน้อยกว่าผู้ชาย และยิ่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียเนื้อกระดูกอย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุน (osteoporosis) โดยผู้หญิงประมาณครึ่งหนึ่งของกลุ่มที่เข้าสู่ วัยหมดประจำเดือน จะมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาวะกระดูกพรุนตลอดช่วงชีวิต
ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนควรตรวจหาภาวะกระดูกพรุนเป็นประจำ ส่วนคนที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น น้ำหนักน้อย หรือไม่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน ควรปรึกษาแพทย์เป็นการเฉพาะ การทราบผลของภาวะกระดูกพรุนจะช่วยให้แพทย์ได้ทราบว่าควรดูแลคุณต่อไปอย่างไร รวมถึงผู้หญิงที่มีภาวะกระดูกพรุนเองก็จะได้ระมัดระวังป้องกันอุบัติเหตุในการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เนื่องจากคนที่เป็นโรคกระดูกพรุนเมื่อเกิดการกระแทกหรือหกล้มก็อาจจะทำให้กระดูกแตกหักง่ายกว่าคนปกติซึ่งเป็นอันตรายพอสมควรถ้าเกิดในตำแหน่งสำคัญ เช่น ข้อมือ หรือสะโพก เป็นต้น
การป้องกันโรคกระดูกพรุนควรเริ่มตั้งแต่วัยรุ่น โดยการสะสมความหนาแน่นของกระดูกด้วยการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกายที่มีแรงกดกระแทกอย่างสม่ำเสมอ หากเข้าสู่วัยทองแล้วการเสริมความหนาแน่นของกระดูกคงเป็นไปไม่ได้
7.ตรวจไทรอยด์
American Thyroid Association แนะนำให้มีการตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนไทรอยด์ TSH (thyroid stimulating hormone) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของไทรอยด์ โดยผู้หญิงควรตรวจหาความผิดปกติของไทรอยด์ ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป และควรตรวจซ้ำเป็นประจำทุกๆ 5 ปี ทั้งนี้ความผิดปกติของการทำงานของต่อมไทรอยด์ จะนำมาซึ่งความผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย และที่สำคัญในหญิงที่ต้องการมีบุตรก็ควรตรวจไทรอยด์ก่อนคิดตั้งครรภ์ แม้ว่าคุณจะอายุไม่ถึง 35 ปีก็ตาม เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวคุณแม่และคุณลูกเอง
8.ตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่
USPSTF แนะนำว่าผู้หญิงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ถ้ามีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งที่เกิดจากติ่งเนื้อมากๆ ในลำไส้ หรือมีภาวะถ่ายทอดมะเร็งลำไส้ทั้งแบบไม่สัมพันธ์กับติ่งเนื้อ หรือตนเองมีประวัติเคยเป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ก็ควรเริ่มตรวจลำไส้ใหญ่ให้เร็วขึ้น สามารถตรวจได้หลายวิธี เช่น การตรวจหาเลือดที่แฝงมากับอุจจาระ การส่องกล้องผ่านทางทวารหนัก (sigmoidoscopy) ที่ใช้กล้องที่ยืดหยุ่นบางๆ เข้าไปตรวจลำไส้ส่วนปลายเพื่อหาก้อนเนื้อก่อนเป็นมะเร็ง การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ที่ใช้กล้องที่ยาวกว่าตรวจสอบทั้งลำไส้เพื่อหาก้อนเนื้อก่อนเป็นมะเร็ง การตรวจเอกซเรย์ barium enema ที่แพทย์จะเอกซเรย์ลำไส้เพื่อหาก้อนเนื้อก่อนเป็นมะเร็ง โดยคุณอาจปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการตรวจที่เหมาะกับคุณมากที่สุด
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการตรวจพื้นฐานเพียง 8 อย่างที่สำคัญเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับคุณผู้หญิงทุกคน คุณอาจจะรอตรวจพร้อมกับตรวจสุขภาพประจำปีก็ได้ เพราะปัจจุบันในโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ก็มีแพคเก็จตรวจสุขภาพหลากหลายแบบให้เลือกในราคาที่ต่างกันออกไป สะดวกแบบไหนก็ทำแบบนั้น
ถ้าคุณเป็นแม่ ขอบอกว่าจำเป็นที่สุดค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)