Haijai.com


เก็บสต๊อก ‘นมแม่’


 
เปิดอ่าน 3519

เก็บสต๊อก ‘นมแม่’

 

 

“หลังจากให้นมลูกเสร็จแล้ว ยังต้องปั๊มเก็บไว้เป็นทุนสำรองทุกมื้อ เหมือนหยอดกระปุกออมสินไว้ให้ เวลาไม่ว่าง จะได้นำมาให้พระองค์ทีฯ เสวย
ครั้งแรกอาจจะเจ็บบ้าง แต่ตอนหลังเริ่มสนุกกับการนับปริมาณ เวลาปั๊มต้องทำทั้งสองข้างพร้อมกัน หรือให้องค์ทีฯ  เสวยข้างหนึ่ง แล้วปั๊มอีกข้าง ก็เท่ากับสองข้างได้เหมือนกัน การปั๊มแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ควรดื่มน้ำอุ่นมากๆ  ไม่ควรดื่มน้ำเย็น ปริมาณน้ำนมยังขึ้นอยู่กับการพักผ่อนด้วย ถ้าพักผ่อนมาก นอนให้ได้เกิน 8 ชั่วโมง ครั้งหนึ่งเคยทำสถิติปั๊มไว้ได้ 6 ถุง ถุงละ 120 ซีซี และเราสามารถเก็บน้ำนมที่ปั๊มไว้ในช่องฟรีซได้นานถึง 3 เดือน แต่ถ้าแช่ตู้เย็นปกติอยู่ได้ 2 วัน ช่วงหนึ่งเคยตุนไว้ได้เกือบ 50 ถุง“

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ

 

ภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของคุณแม่ที่เป็น Working Mom ทั้งหลายคือการเก็บสต๊อกนมแม่ไว้เมื่อยามที่ต้องกลับไปทำงาน ส่วนใหญ่จะเตรียมสต๊อกน้ำนมราวครึ่งเดือนก่อนถึงวันกลับไปทำงานจริงค่ะ

 

 

การเก็บน้ำนม ก็ทำได้หลายวิธี ทั้งใช้มือและใช้เครื่องช่วย ตามแต่ใครจะถนัดและสะดวกวิธีไหน เพราะมีข้อดีข้อด้อยต่างกันไป เช่นถ้าใช้มือบีบก็ไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อหา แต่ก็ต้องหัดบีบให้ถูกวิธีด้วยเหมือนกัน ถ้าใช้เครื่องช่วยปั๊ม ก็มีหลายรุ่นหลายแบบให้เลือก ยิ่งรุ่นไหนใช้สะดวกมากเท่าไร ราคาก็สูงมากขึ้นเท่านั้น 

 

 

คุณแม่ที่สนใจการบีบเก็บน้ำนมด้วยสองมือเปล่าละก็ ศูนย์นมแม่ฯ มีข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ว่า

 

 

วางปลายนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ที่ขอบนอกของลานหัวนม หรือห่างจากหัวนมประมาณ 3 ซ.ม. กดนิ้วทั้ง 2 เข้าหาอกแม่ แล้วจึงบีบ 2 นิ้วเข้าหากัน น้ำนมจากกระเปาะน้ำนมจะถูกดันพุ่งออกมา จากนั้นคลายนิ้วแล้วเริ่มทำซ้ำใหม่ โดยกดบีบปล่อยเป็นจังหวะจนน้ำนมออกน้อยลงหรือหมด จึงค่อยเลื่อนตำแหน่งนิ้วที่บีบไปตามขอบลานนม เพื่อให้สามารถบีบน้ำนมออกจากกระเปาะได้ทั่วถึง ไม่ควรใช้แรงบีบมากจนทำให้เจ็บหรือใช้นิ้วมือไถเพื่อรีดน้ำนมออกมาเพราะจะทำให้เต้านมอักเสบได้ ที่สำคัญ คุณแม่ควรบีบน้ำนมจนเกลี้ยงเต้าหรือจนสังเกตว่าเต้านมนุ่มลงแล้ว ซึ่งไม่ควรเกิน 30 นาทีในการบีบแต่ละครั้ง แล้วผึ่งหัวนมให้แห้งก่อนใส่เสื้อค่ะ

 

 

ก่อนเก็บน้ำนมควรบีบน้ำนมทิ้งก่อน 2–3 ครั้ง แล้วจึงบีบใส่ภาชนะเก็บที่สะอาดปราศจากเชื้อ จะเป็นถุงเก็บน้ำนมหรือภาชนะปากกว้างก็ได้ค่ะ เสร็จแล้วปิดฝาให้สนิท เขียนวันที่-เวลาที่บีบน้ำนมติดไว้ นำเก็บเข้าตู้เย็น เมื่อถึงเวลาที่จะใช้ให้เลือกใช้น้ำนมที่บีบไว้ก่อนเสมอ โดยนำมาแกว่งในน้ำอุ่น (ไม่ใช่น้ำร้อน) อย่างช้าๆ เพื่อให้ชั้นไขมันที่แยกตัวออกมานั้นผสมเป็นเนื้อเดียวกัน ห้ามอุ่นหรือละลายนมในไมโครเวฟเด็ดขาด และให้ใช้น้ำนมที่ละลายแล้วภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าลูกทานไม่หมดให้เททิ้ง

 

 

เมื่อถึงเวลาที่คุณแม่จะต้องกลับไปทำงานจริงๆ ก็ควร จัดตารางให้นมและบีบนม  โดยช่วงเช้าควรให้ลูกดูดนมแม่เมื่อ แม่ตื่นนอนและก่อนออกไปทำงาน ระหว่างที่อยู่ในที่ทำงานให้หาเวลาบีบน้ำนมออกเป็นระยะๆ ตามเวลาที่ลูกเคยดูด หรือทุกๆ 3-4 ชั่วโมง และเก็บน้ำนมที่บีบได้ไว้ในตู้เย็น ช่วงเย็นกลับถึงบ้านก็ให้ลูกดูดจากเต้า และพอกลางคืน คุณแม่อาจใช้วิธีให้ลูกทานนมจากเต้าเดียว เพื่อสะสมปริมาณน้ำนม ให้สามารถบีบจากอีกเต้าหนึ่งได้มากๆ และช่วงวันหยุดควรให้ลูกดูดนมจากเต้าทุกมื้อ เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้คงอยู่ค่ะ

 

 

นมแม่เก็บได้นานแค่ไหนนะ

 

วิธีการเก็บ

ระยะเวลาที่เก็บได้

เก็บในอุณหภูมิห้อง(> 25 องศาเซลเซียส)

1 ชั่วโมง

เก็บในอุณหภูมิห้อง(< 25 องศาเซลเซียส)

4 ชั่วโมง

เก็บในกระติกน้ำแข็ง

1 วัน

 

วิธีการเก็บ

ระยะเวลาที่เก็บได้

เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา

2-3 วัน

เก็บในตู้เย็นช่องแช่แข็ง(แบบประตูเดียว)

2 สัปดาห์

เก็บในตู้เย็นช่องแช่แข็ง(แบบประตูแยก)

3 เดือน

 

(Some images used under license from Shutterstock.com.)