© 2017 Copyright - Haijai.com
ท้องนี้ หนักใครกันแน่ แม่หรือลูก
ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัวหลังคลอดนั้นเป็นที่กังวลกันมากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นทั้งช่วงก่อนหรือหลังคลอด คุณแม่ทั้งท้องแรก ท้องสอง ท้องสามต่างกังวลเหมือนกันว่ารูปร่างจะไม่กลับคืนมาเหมือนก่อนตั้งครรภ์ กลัวลดไม่ลง แต่การที่จะจำกัดอาหารก็ไม่ได้อีก เพราะกลัวว่าลูกน้อยจะได้สารอาหารไม่ครบ แต่คุณแม่หลายคน เมื่อตั้งครรภ์น้ำหนักขึ้นไปเป็นเท่าตัว หักลบกลบน้ำหนักเจ้าตัวเล็กและหลังคลอดแล้ว กลับเป็นว่าเจ้าหนูเอาน้ำหนักไปนิดเดียว เหลือทิ้งไว้ให้คุณแม่เสียมาก
เราจะมีหลักการง่ายๆ ให้ท้องนี้น้ำหนักคุณแม่เพิ่มขึ้นอย่างพอสมควรและไม่เบียดบังเจ้าตัวเล็กอีกด้วย มาฝากกันค่ะ
ท้องนี้ หนักอะไรบ้าง
น้ำหนักคุณแม่ที่ขึ้นในขณะตั้งครรภ์เป็นผลมาจากหลายส่วนค่ะ ทั้งจากเจ้าตัวเล็ก รก น้ำคร่ำ มดลูก เต้านมที่ขยายใหญ่ขึ้น ปริมาณเลือดและน้ำในเซลล์ที่เพิ่มขึ้น โดยทั่วไปแล้ว น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นมากในช่วงกลางของการตั้งครรภ์ นั่นคือเดือนที่ 3 เป็นต้นไป เพราะช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นั้นคุณแม่ส่วนใหญ่จะแพ้ท้องโอ้กอ้ากกันอยู่ อาจจะไม่ได้ทานอะไรมาก ส่วนช่วงใกล้คลอดนั้นแม้แต่จะนอนจะขยับตัวแต่ละทียังลำบาก ในช่วงนี้อัตราเพิ่มของน้ำหนักจึงไม่มากค่ะ
ท้องนี้ หนักเท่าไหร่ดีนะ
เกณฑ์ที่เราใช้วัดว่าคุณแม่นั้นมีน้ำหนักมากหรือน้อยเกินไปนั้นเราใช้หลักของ Body Mass Index หรือ BMI: ดัชนีน้ำหนักมวลกายค่ะ โดยคำนวณจากน้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร ยกกำลัง 2 ซึ่งก็เท่ากับ กก. /ม.2 (เมตรกำลังสอง) เช่น น้ำหนัก 60 สูง 170 ก็จะเท่ากับ 60 หารด้วย 2.89 = 20.76 ซึ่งแสดงว่า BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติ
คุณแม่ที่มี BMI น้อยกว่า 19.8 ถือว่าผอม ส่วนคุณแม่ที่ BMI มากกว่า 29 ถือว่าอ้วน ถ้าคุณแม่ที่อยู่ในเกณฑ์ผอมควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าคุณแม่อยู่ในเกณฑ์อ้วนแล้ว ก็มีการแนะนำว่าถ้าคุณแม่ BMI ปกติ (19.8-25-6) ควรมีน้ำหนักเพิ่มระหว่างการตั้งครรภ์ 25-35 ปอนด์ (11.5-16 กก.) BMI นี้ใช้วัดจากน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์นะคะ ถ้าคุณแม่จำน้ำหนักตนเองไม่ได้ก็ให้คิดคร่าวๆ ว่าน้ำหนักที่ขึ้นนั้นไม่ควรเกิน 12 กิโลกรัมค่ะ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)