Haijai.com


Newborn Skin ผิวหนังของทารกแรกเกิด


 
เปิดอ่าน 4471

Newborn Skin ผิวหนังของทารกแรกเกิด

 

 

ผิวหนังในฐานะที่เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกาย มีหน้าที่ในการรับความรู้สึกต่างๆ ผ่านทางผิวหนัง ควบคุมระบบอุณหภูมิในร่างกาย โดยการระบายความร้อนผ่านทางรูขุมขน ช่วยขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายผ่านทางเหงื่อ และยังเป็นแหล่งสร้างวิตามินดีอีกด้วย แต่เดี๋ยวก่อน...ยังไม่หมดค่ะ นอกจากหน้าที่หลักอย่างที่เราทราบดังกล่าวแล้ว ผิวหนังยังมีหน้าที่เสริมพิเศษอีกด้วย คือช่วยป้องกันอวัยวะที่อยู่ลึกลงไปไม่ให้เป็นอันตราย ป้องกันเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ต่างๆ ไม่ให้แทรกซึมเข้าไปในร่างกายได้โดยง่าย ป้องกันน้ำในร่างกายไม่ให้ระเหยออกและไม่ให้น้ำภายนอกผ่านเข้าไปในร่างกายได้ และผิวหนังยังมีระบบป้องกันตัวเอง โดยเมื่อผิวหนังส่วนใดได้รับการถูไถบ่อยๆ ก็จะหนาตัวขึ้น เห็นไหมคะว่าร่างกายคนเรามีกลไกการทำงานที่วิเศษและซับซ้อนดีจริงๆ   ทีนี้มาดูผิวหนังทารกแรกเกิดกันค่ะ  ว่ามีความเป็นมาเป็นไปอย่างไรตั้งแต่อยู่ในครรภ์

 

 

ในตอนแรกคลอด  เด็กทารกจะมีไขสีขาวๆปกคลุมอยู่รอบตัว  เรียกว่า “เวอร์นิกซ์” ( vernix ) ซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณเดือนที่ 8-9 ระหว่างที่อยู่ในครรภ์  และจะเป็นเสมือนน้ำมันหล่อลื่นที่ทำให้ทารกสามารถคลอดผ่านช่องคลอดออกมาได้โดยไม่เจ็บปวด  นอกเหนือจากนี้  เจ้าไขขาวๆที่ว่านี้  ยังทำหน้าที่คล้ายๆกับฉนวนปกป้องเพื่อเตรียมรับการเปลี่ยนแปลง จากอุณหภูมิที่อบอุ่นในมดลูกสู่โลกภายนอกที่เย็นกว่าของทารกน้อยอีกด้วย  และยังไม่หมดค่ะ  เจ้าเวอร์นิกซ์นี้เองที่คอยเป็นเกราะป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ในช่วงวันแรกๆที่ทารกน้อยต้องออกมาเผชิญโลกภายนอกที่อาจเต็มไปด้วยเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ต่างๆ ในขณะที่ร่างกายยังอ่อนแออยู่นั่นเอง   คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบไปเช็ดล้างหรืออาบน้ำให้ลูกเพื่อให้เจ้าไขขาวๆนี้ออกไปนะคะ  เพราะไขที่ว่านี้จะหลุดลอกออกไปเองภายใน 2-3 วันเท่านั้น  แต่ถ้าล้างออกจนสะอาดหมดจดเกลี้ยงเกลาไปทั้งตัวแล้ว ก็ไม่เป็นไรค่ะ ไม่ต้องตกใจ  เพราะลูกน้อยจะค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแทนที่ในเวลาไม่นาน

 

 

ในช่วงประมาณเดือนที่เจ็ดของการตั้งครรภ์ ก่อนที่ไขเวอร์นิกซ์จะถูกสร้างขึ้น  รูขุมขนของทารกก็เริ่มทำงาน  ซึ่งการที่รูขุมขนเริ่มทำงานขึ้นมาอย่างฉับพลันทันใดนี้เอง  ก็ทำให้ร่างกายผลิตน้ำมันออกมาอย่างมากมาย  และน้ำมันเหล่านี้จะค่อยๆ กลายเป็นไขเวอร์นิกซ์ในเวลาต่อมานั่นเอง  อย่าเพิ่งงงค่ะ  ทีนี้เมื่อรูขุมขนทำงาน ก็ทำให้เกิดขนนุ่มละเอียดบางๆ เหมือนปุยฝ้ายขึ้นทั่วร่างกาย  เรียกว่า “ลานูโก” ( lanugo ) ซึ่งถือว่าเป็นขนชุดแรกของทารก  และเจ้าลานูโกที่บางครั้งทำให้ดูเหมือนรอยย่นทั่วร่างนี้  จะหลุดร่วงไปเองประมาณช่วงเดือนที่ 8-9 ของการตั้งครรภ์  เมื่อคลอดออกมาทารกน้อยของเราจึงไม่มีลานูโก  แต่จะมาสร้างขนชุดที่สองขึ้นในภายหลัง  และลานูโกที่หลุดร่วงเหล่านี้ ก็เชื่อว่าจะปนอยู่ในน้ำคร่ำ  และปะปนอยู่ในอุจจาระที่ทารกถ่ายออกมาในครั้งแรกหลังคลอด  ที่บางครั้งเรียกกันว่าขี้เทาหรือขี้เถ้า ( meconium )นั่นเอง  ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งที่ทารกรับเข้าไปทางน้ำคร่ำและร่างกายไม่ต้องการ  ก็จะถูกขับออกมาจากทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นสารที่หลั่งจากลำไส้น้ำดี  เส้นผม  เส้นขน  เซลล์บุผิว เป็นต้น

 

 

ดังนั้นเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด  เช่น คลอดตอน 7-8 เดือน จะพบว่ามีขนอยู่ทั่วร่างกาย  แต่ยังไม่มีเวอร์นิกซ์  จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าลานูโกอาจทำหน้าที่เป็นฉนวนปกป้องทารกที่คลอดก่อนกำหนดไปด้วยก็เป็นได้

 

 

สำหรับเด็กทารกที่คลอดปกติตามกำหนดนั้น  อาจมีเพียงประมาณ 33% ที่คลอดออกมาพร้อมกับลานูโกที่ยังไม่หลุดร่วง   ซึ่งก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด  เพราะเจ้าลานูโกนี้จะหลุดร่วงไปเองในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด  และขนชุดที่สองก็จะเริ่มสร้างขึ้นมาแทนที่ค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)