© 2017 Copyright - Haijai.com
Learning environment สภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ของเด็กทารก
Learning environment ( สภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ )
เคยได้ยินคำพูดที่บอกว่า “เราเป็นผลผลิตจากสภาพแวดล้อมของเราเอง” ไหมคะ ? เป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างยิ่งที่สิ่งมีชีวิตเป็นนักปรับตัว และซึมซับสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ และสร้างให้คนแต่ละคนเป็นอย่างที่เป็นอยู่อย่างสลับซับซ้อนและแตกต่างกันออกไป ต้องมีสภาพแวดล้อมอย่างไรจึงจะสร้างให้คนที่ยิ่งใหญ่เป็นคนที่ยิ่งใหญ่ได้ ? คนที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต เติบโตมาในสภาพแวดล้อมอย่างไร ? คนที่อบอุ่น เข้ากับคนได้ง่าย มีเพื่อนมากและได้รับความช่วยเหลือทุกครั้งที่มีปัญหา ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไรจึงเป็นคนที่มีคนรักใคร่ขนาดนั้น ? สมองน้อยๆ ตอนที่คนเหล่านี้เป็นเด็กทารกถูกโปรแกรมมาอย่างไร หรือสมองของเด็กต้องได้รับการส่งเสริมเลี้ยงดูแบบไหน เพื่อที่จะให้สมองทำงานได้เต็มที่ที่สุดและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่เราต้องการ ?
เด็กทารกจะมีการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน โดยวัยทารกแบ่งออกเป็น 6 ระยะ จนกระทั่งครบสองขวบปีก็ถือว่าสิ้นสุดวัยทารกเข้าสู่วัยเตาะแตะแล้ว ซึ่งนักจิตวิทยาบางท่านเรียกว่า “วัยแห่งการเริ่มคิด” เพราะเด็กจะรู้จักคิดวางแผนในใจก่อนที่จะลงมือทำการใดๆ ซึ่งแตกต่างไปจากสองปีแรก การเรียนรู้ของเด็กวัยทารกมีดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นช่วงของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เริ่มตั้งแต่การปรับตัวต่ออุณหภูมิภายนอก เริ่มหายใจเอง เริ่มดูดนมแม่หรือนมขวด ในระยะนี้เด็กทารกจะใช้ปฏิกิริยาสะท้อนกลับในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความอยู่รอด เช่น การดูดนมเมื่อคุณแม่เอาหัวนมหรือนิ้วแตะที่ข้างแก้ม ลูกน้อยแรกคลอดก็จะหันมางับได้ หรือเมื่อตกใจก็จะขยับแขนขาเหมือนจะดิ้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นซ้ำหลายๆ ครั้ง ลูกน้อยก็จะเริ่มเรียนรู้และทำซ้ำจนกลายเป็นพฤติกรรม แต่ในระยะนี้จะเป็นพฤติกรรมกว้างๆ โดยทั่วไป ยังไม่ใช่พฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด
ระยะที่ 2 ช่วงนี้จะอยู่ในวัย 1-4 เดือน เป็นระยะของการเรียนรู้เบื้องต้น และการมองสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่ง
เป็นไปอย่างต่อเนื่องมาจากระยะที่หนึ่ง เพราะเมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้แล้วว่าถึงเวลากินนม คุณแม่เปิดเสื้อขึ้น ไม่ต้องเอาหัวนมหรือนิ้วมาแตะที่แก้มเหมือนในช่วงแรกอีกแล้ว เด็กก็เตรียมพร้อมที่จะดูดนมแม่ได้ทันที นอกจากนี้เด็กในวัยนี้ยังพยายามที่จะสื่อสารกับคุณแม่ โดยการร้องไห้เมื่อหิว เหนื่อย เบื่อ ไม่สบายตัวหรือมีสิ่งผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น และเริ่มสนใจสภาพแวดล้อมรอบตัว โดยการมองจ้องหรือมองตามสิ่งที่สนใจ เริ่มเล่นกับมือและเท้าของตนเอง และเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบ เมื่อเห็นผู้ใหญ่ทำให้ดูบ่อยๆ เช่น กำมือ แลบลิ้น ฯลฯ
ระยะที่ 3 อยู่ในช่วงอายุ 4-9 เดือน เป็นระยะของการไขว่คว้าสิ่งของและการแยกแยะใบหน้าคน ในระยะนี้เจ้าตัวน้อยจะสามารถเอื้อมมือหยิบจับสิ่งของได้แม่นยำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะการประสานงานระหว่างสายตาและมือมีการทำงานที่ดีขึ้นอย่างมาก การหยิบจับวัตถุสิ่งของของเจ้าตัวน้อยในระยะนี้จะเป็นการหยิบ-จับ-คว้าสิ่งที่พบเห็นอยู่ตรงหน้าหรือที่อยู่ในสายตา ยังไม่สามารถค้นหาสิ่งที่อยู่นอกสายตาได้ เช่น เมื่อเล่นของเล่นชิ้นหนึ่งอยู่ และคุณแม่แอบหยิบของเล่นชิ้นนั้นไปซ่อนเอาไว้ข้างหลังคุณแม่ เจ้าตัวน้อยก็จะไปสนใจกับของเล่นชิ้นอื่นแทน นั่นเป็นเพราะเด็กในช่วงวัยนี้ยังไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างอดีต ปัจจุบันและอนาคตได้ แต่ถ้าเป็นใบหน้าคนแล้วเจ้าตัวน้อยในช่วงวัยนี้ จะจำหน้าคนที่ใกล้ชิดคุ้นเคยและแยกแยะออกจากใบหน้าของคนแปลกหน้าได้แล้ว และจะเริ่มแสดงอาการกลัวคนแปลกหน้าในช่วง 7-8 เดือนเป็นต้นไป นอกจากนั้นพัฒนาการทางด้านสายตาของเจ้าตัวน้อย ก็ดีขึ้นถึงขนาดที่สามารถรับรู้ในเรื่องของมิติ ความลึกและความคงที่ของวัตถุสิ่งของได้อีกด้วยค่ะ
ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เจ้าตัวน้อยกำลังจะลุกยืนและหัดเดิน และเป็นระยะแห่งการคิดเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบันและอนาคต อยู่ในช่วงอายุ 9-12 เดือน โดยในช่วงนี้ เจ้าตัวน้อยจะเริ่มใช้ขาในการพยุงตัวให้ลุกขึ้นยืนและเกาะเดิน เด็กจะผสมผสานสิ่งที่ได้เรียนรู้มา เพื่อมาทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มสามารถเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบันและอนาคตเข้าด้วยกันได้แล้ว เจ้าตัวน้อยจะรู้จักค้นหาของที่หายไปจากสายตาได้เองแล้ว นอกจากนี้ พฤติกรรมการเลียนแบบและทำตามจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมโดยทั่วไป หรือการเลียนแบบในเรื่องการใช้ภาษาพูดก็ตาม
ระยะที่ 5 อยู่ในช่วงอายุ 12-18 เดือน เป็นระยะของการเดินและสำรวจ ในช่วงนี้เจ้าตัวน้อยจะเริ่มเดินเองได้แล้ว การสำรวจสภาพแวดล้อมรอบบ้านจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เจ้าตัวน้อยของเราจะทั้งบีบจับ ดม ชิม เลีย ดูด หรือแม้แต่กัด เพื่อสำรวจและทดสอบสิ่งต่างๆ รวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาของคนใกล้ชิด เช่น เมื่อเราทำอย่างนี้ คุณแม่ก็จะดุ หรือเมื่อทำอีกแบบ คุณแม่ก็จะชม เป็นต้น
ระยะที่ 6 เป็นช่วงของการวางแผนและการฝึกพูด อยู่ระหว่างอายุ 18-24 เดือน ในระยะนี้เจ้าตัวน้อยจะเริ่มรู้จักคิดวางแผนหรือทดลองทำในความคิดของตนเองก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง รู้จักวิธีการแก้ปัญหาที่ดีขึ้น สามารถเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ต่างๆได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ชอบความแปลกใหม่
มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความกระหายใคร่รู้ในสิ่งแปลกใหม่ มากกว่าสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น หรืออาจเรียกว่า “โรคชอบของแปลกใหม่” ( neophilia ) ถ้ามีการจัดสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย น่าตื่นเต้น น่าสนใจและอบอุ่นดูเป็นมิตร เด็กวัยเตาะแตะก็จะใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงในการเรียนรู้และทดลองสำรวจสิ่งแปลกๆใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่เหนื่อยหน่าย สมองน้อยๆจะทำงานและเติบโตจากการเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างมีความสุข และยิ่งเมื่อได้รับการส่งเสริมสนับสนุนกับการเรียนรู้เหล่านั้นจากพ่อแม่ เจ้าตัวน้อยก็จะยิ่งสนุกกับการสำรวจและทดลองจนกลายเป็นส่วนหนึ่งในจิตวิญญาณไปโดยไม่รู้ตัว และติดตัวไปจนกระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพเมื่อเจ้าตัวน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในเวลาต่อมา
กลัวความแปลกใหม่
แต่ถ้าพ่อแม่ปกป้องลูกมากเกินไป กลัวว่าลูกจะได้รับอันตราย โดยไม่ปล่อยให้ลูกได้ทดลองสำรวจสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง จนกลายเป็นการห้ามไปเสียทุกสิ่งอย่าง หรือจ้องจะลงโทษเมื่อเห็นลูกลองทำสิ่งที่แปลกใหม่ เด็กก็กลายเป็น “โรคกลัวความแปลกใหม่” หรือ neophobia ซึ่งตรงกันข้ามกับ neophilia โดยสิ้นเชิง ถ้าสังเกตดูให้ดีในบางเรื่องก็เป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆระหว่างการห้ามทำกับการปล่อยให้ทำ ซึ่งทางที่ดีที่สุด คุณพ่อคุณแม่อาจต้องคิดวางแผนป้องกันหรือวางมาตรการเอาไว้ล่วงหน้า เพราะไม่อย่างนั้นเมื่อลูกโดนดุหรือห้ามทำในสิ่งที่กำลังจะทำอยู่บ่อยครั้งเข้า เด็กก็จะกลายเป็นโรคกลัวความแปลกใหม่ได้นะคะ
ถ้าเป็นไม่มาก เด็กก็อาจกลัวหรือเข็ดขยาดกับเรื่องนั้นๆ หรือสถานการณ์คล้ายๆแบบนั้น แต่ถ้าเป็นมาก เด็กก็อาจจะกลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าเล่นหรือสำรวจสิ่งใหม่ๆเลย ซึ่งนั่นจะไปตัดวงจรการเรียนรู้ของเด็กลงอย่างน่าเสียดาย ทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกใหม่ด้วยความกลัว และอาจทำให้มีผลในเรื่องพัฒนาการที่ล่าช้าในด้านอื่นๆตามมาได้ในที่สุด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)