
© 2017 Copyright - Haijai.com
Hand activity ( เรื่องของการใช้มือ )
“เอ๊ะ.. ลูกเราถนัดซ้ายหรือขวากันแน่ ?”
คุณแม่คุณพ่อบางคนอาจสับสนเรื่องการใช้มือของเจ้าตัวน้อย เพราะเดี๋ยวก็เห็นใช้มือขวาอยู่ดีๆ อ้าว ! ตอนนี้เปลี่ยนมาใช้มือซ้ายซะแล้ว ตกลงจะถนัดซ้ายหรือขวากันแน่นี่ลูก จนทำให้พ่อแม่บางคนถึงกับสรุปไปเลยว่าลูกถนัดทั้งสองข้าง
ในช่วง 1-3 ปีแรก เป็นช่วงที่การใช้มือของเด็กมีความสลับซับซ้อน เหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งไปมา บางครั้งก็ใช้มือซ้าย บางทีก็ย้ายเปลี่ยนมาเป็นมือขวา หรือพ่อแม่บางคนบอกว่าตอนเล็กๆคิดว่าลูกถนัดขวา จะหยิบจับอะไรก็ด้วยมือขวาเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ตอนนี้รู้แล้วว่าลูกถนัดซ้าย ที่จริงแล้วยังค่ะ เพราะลูกเพิ่งจะสองขวบเอง กว่าที่ลูกตุ้มนาฬิกาในเรื่องมือซ้ายมือขวาจะหยุดแกว่งจริงๆก็ต้องรอจนห้าขวบ ( หรือเด็กบางคนอาจถึงแปดขวบ ) ไปแล้ว จึงจะฟันธงได้ว่าลูกถนัดมือข้างไหนกันแน่ เพราะอาการใช้มือทั้งสองข้างสลับกันหรือร่วมกันจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในเด็ก ตั้งแต่ที่เริ่มหัดใช้มือได้ไปจน 3-5 ขวบเลยค่ะ
ทำไมคนส่วนใหญ่จึงถนัดขวา ?
มนุษย์ 90% ถนัดที่จะใช้มือขวามากกว่ามือซ้าย ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า เหตุใดคนส่วนใหญ่จึงถนัดมือขวามากกว่ามือซ้าย แต่เราทราบว่ามนุษย์ถนัดใช้มือข้างขวามาประมาณ 200,000 ปีแล้ว จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของการพบซากขวานโบราณ การถนัดมือขวาไม่ใช่วิวัฒนาการที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆนี้อย่างแน่นอน
มีงานวิจัยที่พบว่า ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ ร่างกายซีกขวาของทารกจะอิงอยู่กับร่างกายคุณแม่ ( ซีกซ้ายหันออกทางหน้าท้อง ) ระบบสั่งงานอวัยวะต่างๆ ในร่างกายทางซีกขวาได้รับการกระตุ้นมากกว่า ทำให้เซลล์ในระบบประสาทถูกสร้างและพัฒนามากกว่าซีกซ้าย เพราะทารกรับรู้ความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งความสั่นสะเทือนที่เกิดจากเสียงหัวใจเต้นและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายคุณแม่มากกว่าซีกซ้าย และเมื่อเด็กคลอดออกมา ก็พบการทำงานของประจุไฟฟ้าทางซีกขวาของร่างกายมากกว่าในซีกซ้าย ทำให้เห็นได้ว่ามนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะถนัดมือขวามากกว่ามือซ้ายอยู่เล็กน้อยแล้วตั้งแต่เกิด ประกอบกับมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเด็กทารกเกิดมา ส่วนมากคุณแม่ก็จะอุ้มลูกด้วยมือซ้ายมากกว่ามือขวา เพื่อใช้มือขวาในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ ทำให้ร่างกายซีกขวาของทารกอิงแอบอยู่กับร่างกายคุณแม่และได้ยินเสียงหัวใจแม่เต้นเหมือนอยู่ในครรภ์ เด็กเกิดความอบอุ่นและมั่นใจกับร่างกายซีกขวามากกว่า
มือซ้าย-มือขวาสลับกัน
ในช่วงประมาณเจ็ดเดือน เจ้าตัวน้อยจะถนัดใช้มือข้างขวา ถึงแม้จะอยู่ในช่วงที่เจ้าตัวน้อยของเรากำลังอยู่ในขั้นทดลอง โดยลองใช้ทั้งมือซ้ายและมือขวา แต่ว่าความถนัดโดยรวมแล้ว จะค่อนมาทางมือข้างขวามากกว่า พอเข้าเดือนที่แปด อาการถนัดขวาก็จะหายไป เพราะเจ้าตัวน้อยจะใช้ทั้งสองมือ คือทั้งซ้ายทั้งขวาในเดือนนี้ และเมื่อถึงเดือนที่เก้า นาฬิกาลูกตุ้มก็จะแกว่งอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้เจ้าตัวน้อยจะแสดงอาการถนัดซ้ายให้เห็นอย่างชัดเจน น่างงมั้ยล่ะคะ....แล้วพอถึงเดือนที่สิบก็จะสลับมาถนัดใช้มือขวาให้ปวดหัวกันอีก
ในเดือนที่สิบเอ็ด เจ้าตัวน้อยอาจสลับกลับมาใช้มือซ้ายอีก แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ยังคงใช้มือขวากันอยู่ สถานการณ์เรื่องการใช้มือซ้าย-มือขวาสลับกันไปมา จะยืดเยื้อไปจนสิ้นขวบปีแรกของเด็ก และพ่อแม่อาจคิดว่าน่าจะจบลงได้แล้ว ลูกเราคงได้พบความถนัดในการใช้มือข้างใดข้างหนึ่งแล้ว แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ค่ะ เพราะอาการแกว่งไปแกว่งมาจะไปหยุดนิ่งจริงๆตอนลูก 3-5 ขวบนู่นเลยค่ะ
มีการทดลองติดตามเรื่องความถนัดในการใช้มือซ้ายขวาของเด็ก และพบต่อไปว่า พอเข้าเดือนที่ 20 เจ้าตัวน้อยก็จะเกิดอาการสับสนในเรื่องการใช้มืออีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งครบสองขวบ เจ้าตัวน้อยจึงจะแสดงความถนัดขวาออกมาให้เห็นอีก จากนั้น ระหว่างช่วงอายุสองขวบถึงสองขวบครึ่ง เจ้าตัวน้อยวัยเตาะแตะก็จะเข้าสู่ความสับสนในเรื่องการใช้มือเป็นครั้งสุดท้าย โดยยังไม่แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า จริงๆแล้วถนัดข้างไหนกันแน่ หลังจากนั้น ประมาณสี่ขวบ เจ้าตัวน้อยที่ถูกเฝ้าติดตาม จึงได้หยุดสับสนและเลือกใช้มือข้างใดข้างหนึ่งที่ตัวเองถนัดออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว และจากการทดลองก็ได้เฝ้าติดตามดูไปจนกระทั่งเจ้าตัวน้อยอายุแปดขวบ ก็พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือข้อสงสัยใดๆ ในเรื่องความถนัดในการใช้มือให้เห็นอีกแล้ว
ถนัดซ้ายหรือขวาดีกว่ากัน ?
มีผลงานวิจัยจากออสเตรเลีย ได้บอกไว้ว่า คนถนัดซ้ายจะทำในสิ่งที่ยาก หรือรวดเร็วได้ดีกว่าคนถนัดขวา โดยเฉพาะงานที่มีข้อมูลมากๆ เช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือการขับรถพร้อมกับคุยโทรศัพท์ไปด้วย เพราะกลุ่มคนที่ถนัดซ้ายนั้น สมองซีกซ้ายและขวานั้นทำงานประสานกันได้ดี การส่งผ่านข้อมูลจากสมองฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และอาจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากสมองของคนถนัดซ้ายแตกต่างจากสมองของคนที่ถนัดขวาเล็กน้อย โดยคนถนัดซ้ายจะมีสมองทั้งสองซีกที่สมดุลและยังมีขนาดใหญ่กว่าคนถนัดขวาเล็กน้อย ทำให้บางครั้งสื่อสารไปมาได้เร็วกว่า
นอกจากนี้ คนถนัดซ้ายยังได้เปรียบเรื่องการพัฒนาสมองซีกขวาได้ดีกว่า ทำให้ได้เปรียบในเรื่องของความคิดที่เป็นอิสระ มีจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ที่ดีกว่า ทีนี้มาดูข้อด้อยของคนถนัดซ้ายกันบ้างค่ะ เราอาจเคยเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและถนัดซ้ายในหลากหลายอาชีพ รวมทั้งนักกีฬามาแล้ว แต่จากผลการทดสอบนักกีฬาที่ถนัดซ้ายพบว่า เมื่อเจอคู่ต่อสู้ที่เหนียวแน่น ต้องอดทนในการเล่นเกมที่ใช้ระยะเวลานานๆ ผลจากการใช้สมองซีกขวาจะเริ่มอ่อนล้าได้ง่ายกว่า และการตีลูกที่เคยแม่นยำ ก็อาจจะมีการตีลูกเสียให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง อีกประการหนึ่งเป็นเพราะว่าหัวใจของเราก็อยู่ทางซีกซ้ายของร่างกาย เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้พละกำลังนานต่อเนื่อง อาจทำให้ร่างกายซีกซ้ายได้รับการกระทบกระเทือนมากกว่า เป็นผลทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก เหนื่อยง่ายเร็วกว่า และเป็นที่น่าสังเกตว่าการถนัดซ้ายอาจมีผลทางด้านอารมณ์ด้วย นักกีฬาที่ถนัดซ้ายส่วนใหญ่มักจะแสดงอารมณ์ออกมามากกว่านักกีฬาที่ถนัดขวา ไม่ว่าจะเป็นอาการดีใจ เสียใจหรืออารมณ์โกรธ เป็นต้น ข้อเสียนอกจากนี้ ก็อาจจะเป็นในเรื่องของการใช้เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหลายในโลกที่มีคนถนัดขวามากกว่า ทำให้คนถนัดซ้ายไม่สะดวกที่จะใช้ หรือต้องมาปรับประยุกต์เอาเอง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีข้าวของเครื่องใช้ที่ออกแบบโดยคิดถึงคนที่ถนัดซ้ายมากขึ้นแล้วก็ตาม
ส่วนคนที่ถนัดขวาจะมีพัฒนาการสัมพันธ์กับสมองซีกซ้าย ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ใช้เหตุผลมากกว่าจินตนาการ ทำการคำนวณและคาดคะเนต่างๆได้ดีกว่าสมองซีกซ้าย จึงพบได้บ่อยๆว่า นักกีฬาที่ถนัดขวาจะควบคุมอุปกรณ์การเล่นได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะกีฬาประเภทแร็กเกต เช่น เทนนิส หรือแบดมินตัน เป็นต้น ซึ่งการกะระยะ ทิศทางหรือตำแหน่งเป็นเรื่องสำคัญในการเล่นกีฬาประเภทนี้ และคนที่ถนัดขวาก็มักจะมีความอดทนและอึดกว่าอีกด้วยในการแข่งขันที่ยาวนาน
เมื่อเริ่มอายุมากขึ้น ความสามารถในการประมวลผลของสมองทั้งสองซีกลดลง คนที่ถนัดซ้ายอาจใช้งานสมองได้ดีกว่า เนื่องจากสามารถถ่ายโอนข้อมูลจากสมองทั้งสองซีกได้มีประสิทธิภาพมากกว่า จากผลการทดสอบจับคู่ตัวอักษร พบว่าคนที่ถนัดซ้ายจะจับคู่ตัวอักษรได้เก่งกว่า ถึงแม้จะมีอายุมากแล้วก็ตาม
ทำไมไม่ถนัดทั้งสองข้างซะเลยล่ะ ?
โดยทั่วไปแล้ว มนุษย์จะพัฒนาความถนัดในเรื่องการใช้มือ และจะใช้ทั้งสองมือสลับกันตั้งแต่แรกเกิดไปจนกระทั่งถึง 3-5 ขวบดังที่ได้กล่าวไปแล้ว นพ.ทัศนวัต สมบุญธรรม อาจารย์และกุมารแพทย์ หน่วยพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลยังได้กล่าวเสริมอีกว่า ในกรณีที่เด็กทารกอายุก่อน 1 ขวบ มีความถนัดข้างใดข้างหนึ่ง อาจจะต้องพึงระวัง เพราะมืออีกข้างที่ทารกไม่ได้ใช้นั้นอาจมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีพยาธิสภาพอะไรบางอย่าง เนื่องจากช่วงอายุ 0-1 ขวบ เด็กมักจะใช้มือหรือ แขนขา 2 ข้างเท่าๆ กัน และช่วงอายุ 1-3 ขวบ จะเป็นช่วงที่พัฒนาว่าถนัดมือข้างใด ถ้าอายุเกิน 3 ขวบ ไปแล้วเด็กใช้มือข้างใดบ่อยๆ ก็อาจสรุปได้ว่าเขาถนัดข้างนั้นไปแล้ว
ถึงแม้ลูกจะถนัดขวาก็ไม่ได้ส่งผลให้การควบคุมมือซ้ายหายไปหมด เพราะกิจวัตรประจำวันโดยทั่วไป ยังจำเป็นต้องใช้มือซ้ายในการประคับประคอง หรือช่วยเหลือมือขวา เช่น การใช้มือซ้ายถือส้อม เพื่อให้มือขวาใช้ช้อนตักอาหารขึ้นไปกินได้ หรือการใช้มีดกับส้อมหั่นเนื้อ จะใช้มือซ้ายถือส้อม เพื่อให้มือขวาหั่นมีดได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้เรายังใช้ทั้งสองมือ ประสานงานกันในการกลัดกระดุมเสื้อ, การขับรถ, การยกของ, ฯลฯ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความจริงแล้วการใช้มือทั้งสองประสานงานกัน จึงยังมีอยู่แทบทุกกิจกรรมในทุกๆวัน ใยประสาทของเซลล์ที่มือซ้ายจึงคงมีอยู่ แต่จะมากหรือน้อยต่างจากมือขวาที่เป็นมือถนัด คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่างกันเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนผู้นั้นด้วย เช่น ถ้าเจ้าตัวน้อยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเล่นดนตรีไทย และสากล ขิม จะเข้ ระนาด เปียโน กีตาร์ กลอง หรือกีฬาบางชนิด เช่น ว่ายน้ำ กอล์ฟ ฯลฯ ที่ต้องใช้มือทั้ง 2 ข้างอยู่บ่อยๆ จะช่วยให้สมองทั้ง 2 ซีก ประสานงานในการถ่ายทอดข้อมูลแลกเปลี่ยนกันและกันได้ดีขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และทำให้ความถนัดในการใช้มือทั้ง 2 ข้างใกล้เคียงกัน แต่ไม่ได้มีขนาดเท่ากันโดยสิ้นเชิง เพราะเขาก็ยังต้องใช้มือข้างที่ถนัดจริงๆ ในการเขียนหนังสืออยู่นั่นเอง และการถ่ายทอดข้อมูลแลกเปลี่ยนกันของสมอง ก็เป็นเพียงการทำงานเฉพาะส่วนเท่านั้น เนื่องจากสมองมีการทำงานหลายส่วน อย่างหลากหลาย จึงไม่ได้ส่งผลต่อการทำงานในด้านอื่นด้วยมากนัก และไม่มีความต่างอย่างเป็นนัยสำคัญทางด้านสติปัญญา หากเจ้าตัวน้อยคนใด จะถนัดใช้มือข้างใดเด่นชัดเพียงข้างเดียว
ดร.อดัม โบรว์ ผู้เขียนหนังสือ The Master hand กล่าวว่า การที่เด็กจะเลือกหรือถนัดในการใช้มือข้างใดนั้นเป็นเรื่องของความเคยชิน ไม่ใช่เรื่องทางพันธุกรรมอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน ดังนั้น ถ้าคุณแม่และคุณพ่อคอยสังเกตและโน้มน้าวให้ลูกใช้มือข้างใดมากเป็นพิเศษ เด็กก็จะติดที่จะใช้มือข้างนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเรายื่นของเล่นให้ลูกถือด้วยมือข้างขวา ( ส่งไปทางที่มือขวาอยู่ ) บ่อยๆหรือทุกครั้ง ทำให้เด็กต้องยื่นมือขวามารับ หรือฝึกให้จับช้อนและถ้วยหัดดื่มด้วยมือข้างใด เด็กก็จะชินกับการใช้มือข้างนั้น และไม่ควรไปเปลี่ยนหรือบังคับให้ลูกต้องใช้มืออีกข้างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าลูกมีท่าทีว่าจะถนัดการใช้มือข้างนั้น เพราะนั่นอาจยิ่งทำให้เจ้าตัวน้อยต่อต้าน แล้วกลับทำตรงกันข้ามกับที่คุณต้องการไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น การฝึกต้องเริ่มฝึกตั้งแต่ที่เจ้าตัวน้อยเริ่มหัดใช้มือกันเลยทีเดียว และถ้าเกินสามขวบไปแล้ว ก็คงยากและไม่ดีต่อสุขภาพจิตเด็กถ้าจะคิดไปเปลี่ยนค่ะ
ได้อ่านข้อมูลมากมายขนาดนี้ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกถนัดซ้ายคงสบายใจขึ้นแล้วนะคะ ขอยืนยันว่าเด็กที่ถนัดซ้ายเป็นปกติดีทุกอย่างค่ะ และอยากกระซิบบอกว่าประธานาธิบดีส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ล้วนถนัดซ้ายแทบทั้งนั้น ไม่เชื่อไปลองเช็คดูได้เลย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)