© 2017 Copyright - Haijai.com
การทำงานของระบบขับถ่ายของเด็กทารก
Dealing with waste ( อึ อึ ปู ปุ้ ของหนู )
เรื่องปูปุ้หรือการถ่ายของลูกน้อย บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ด้วยแล้ว มีเรื่องให้ต้องกังวลได้ทุกเรื่องจริงๆ แม้แต่เรื่องการขับถ่ายของเจ้าตัวน้อยแสนรัก ซึ่งอันที่จริงก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญพอสมควรทีเดียว พอๆ กับเรื่องการกินและการนอนเลยทีเดียวเชียวค่ะ ก็เพราะทั้งปัสสาวะและอุจจาระของคนเรา เป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของคนๆนั้นนี่นา
การทำงานของระบบขับถ่าย
เด็กทารกยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาระบบขับถ่าย และระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายกำลังอยู่ในช่วงของการปรับระบบเพื่อให้เข้าที่เข้าทาง
การขับถ่ายเป็นระบบการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งอวัยวะที่สำคัญในการทำหน้าที่นี้ ก็คือ ลำไส้ใหญ่ ตับและไต เมื่ออาหารผ่านเข้าไปในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ปากลงไปจนถึงลำไส้เล็กที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารแล้ว กากอาหารที่เหลือจากการย่อย จะถูกลำเลียงผ่านเข้าไปที่ลำไส้ใหญ่ โดยลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่สะสมกากอาหารและจะดูดซึมสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ไขมัน โปรตีน คาร์บอไฮเดรตและกลูโคสเข้าไว้ที่ผนังลำไส้ใหญ่ก่อน หลังจากนั้นก็จะเป็นที่พักกากอาหาร ซึ่งมีลักษณะเหนียวข้นกึ่งแข็ง และลำไส้ใหญ่ก็จะขับเมือกออกมาหล่อลื่น ระหว่างที่บีบตัวเพื่อให้กากอาหารเคลื่อนที่ไปรวมกันที่ลำไส้ตรง ก่อนจะขับออกจากร่างกายทางทวารหนักต่อไป ถ้าลำไส้ใหญ่ดูดน้ำมากเกินไป เนื่องจากกากอาหารตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่หลายวัน จะทำให้กากอาหารแข็ง เกิดความลำบากในการขับถ่าย ซึ่งเราเรียกว่าอาการท้องผูก ส่วนสารอาหารที่ร่างกายได้ดูดซึมเอาไว้ ตับ, ตับอ่อนและถุงน้ำดี ก็จะผลิตเอนไซม์ช่วยในการดูดซึมออกมา และส่งต่อให้ร่างกายนำไปใช้ผ่านทางเส้นเลือดนั่นเอง
ขี้เทา ( meconium )
เด็กแรกคลอด ทารกจะถ่ายออกมาเป็นสีดำ เทาหรือสีดำคล้ำออกสีเขียว เหนียว ๆ คล้ายยางมะตอย ไม่มีกลิ่น ซึ่งเรียกในทางการแพทย์ว่า เมโคเนียม (Meconium) หรือที่รู้จักกันว่า”ขี้เทา” เป็นการระบายสิ่งที่ตกค้างอยู่ภายในของสำไส้เด็กออกมา เพราะขณะอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะกลืนน้ำคร่ำที่หุ้มตัว ซึ่งจะมีเซลล์ของรกและผิวเด็กที่หลุดลอก บางครั้งก็มีเศษขนและผมปะปนอยู่ด้วย ซึ่งเด็กแรกเกิดส่วนมากจะถ่ายออกมาภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่ถ้าหากผ่านมา 2 วันแล้ว เด็กยังไม่มีการถ่ายขี้เทาออกมา ต้องรีบแจ้งให้คุณหมอทราบ เพราะเด็กอาจเกิดอาการลำไส้อุดตัน หรือรูทวารตีบก็เป็นได้
หลังจากที่เด็กได้ดูดนมแม่หรือนมขวดแล้ว อุจจาระจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีอ่อนขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นสีเหลืองทอง หรือเหลืองน้ำตาลในที่สุด เมื่อเข้าสัปดาห์ที่สอง เจ้าตัวน้อยอาจถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลือง หรือสีเขียว มีลักษณะเหลวเละ และบางครั้งเป็นเมือกเหนียวปะปนอยู่ ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด และอาจถ่ายมากถึงวันละ 7-8 ครั้งต่อวัน หรือบางวันไม่ได้ถ่ายเลย ก็ไม่ได้ผิดปกติเช่นกัน การถ่ายบ่อย อาจเป็นเพราะเด็กได้รับน้ำนมแม่มากขึ้น จึงถ่ายมากขึ้นตามไปด้วย
การถ่ายเหลวเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กที่ทานนมแม่ แต่จะไม่เกิดโรคท้องเสียจากนม เพราะนมแม่ไม่มีเชื้อโรคปะปนอยู่แน่นอน นอกจากตัวคุณแม่เองท้องเสีย เมื่อทารกได้รับน้ำนมอาจติดเชื้อนั้นเข้าไปด้วย แต่สิ่งสำคัญคือคุณแม่ต้องทำความสะอาดมือและเต้านมทุกครั้งในการให้นมทารก โดยการใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดบริเวณหัวนม ก่อนการให้นมทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
อุจจาระที่ผิดปกติ
เจ้าตัวน้อยที่กินนมแม่จะถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลืองทอง เหลวเละและอาจมีน้ำปนอยู่เล็กน้อย ในช่วง 1-2 เดือนแรก อาจจะถ่ายบ่อยถึง 5-6 ครั้งต่อวัน หรืออาจไม่ถ่ายเลยเป็นเวลา 2-3 วัน ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกติสำหรับเด็กที่กินนมแม่ จากนั้นก็จะลดลงเหลือ 1-2 ครั้งต่อวัน เพราะร่างกายจะค่อยๆปรับระบบการขับถ่ายให้เข้าที่เข้าทาง แต่ในช่วงห้าเดือนแรก เจ้าตัวน้อยยังมีระบบขับถ่ายไม่สมบูรณ์ จึงอาจยังขับถ่ายไม่เป็นเวลาและไม่สม่ำเสมอ ก็ไม่ต้องกังวลค่ะ แต่ถ้าอุจจาระมีสีคล้ำมาก มีมูกเลือดปนและเป็นหลายครั้งบ่อยๆ ก็อาจต้องเก็บอึ..อึ..ของลูกไปให้คุณหมอเพื่อตรวจดูอาการ เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระบบการย่อยอาหาร
ภาวะรูก้นเป็นแผล ( anal fissure )
ภาวะรูก้นเป็นแผล เกิดขึ้นจากการที่เด็กถ่ายบ่อย จนเกิดการระคายเคืองบริเวณรูทวารหนัก ทำให้เป็นแผล ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องท้องผูกตามมา เนื่องจากการถ่ายแต่ละครั้งไประคายเคืองแผลจนเกิดความเจ็บปวด เจ้าตัวน้อยก็จะมีระบบป้องกันตัวเอง โดยการไม่ยอมถ่ายซะเลย แต่มีวิธีป้องกันค่ะ หลังจากที่ลูกถ่ายทุกครั้ง ทำความสะอาดบริเวณรูทวารจนสะอาดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ป้ายวาสลินเข้าไปหน่อย ก็จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น แต่ถ้าเป็นมาก ก็อาจต้องให้คุณหมอดูว่าเกิดการอักเสบในบริเวณนั้นหรือไม่
ท้องเสีย
อาการท้องเสียมักเกิดกับเด็กที่กินนมผสม และเด็กที่ขาดสารอาหาร ร่างกายอ่อนแอ รวมทั้งเด็กที่เป็นไข้ เป็นหวัด ปอดบวม ออกหัดหรือเป็นหูน้ำหนวก ก็อาจมีอาการท้องเสียไปจนถึงท้องร่วงได้ แต่ถ้าเป็นเด็กที่ทานนมผสม และท้องเสียเพียงครั้งเดียว ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อาการจะหายไปได้เองในการถ่ายครั้งต่อไป ลองสังเกตดูนะคะว่าลูกท้องเสียกี่ครั้ง ( หลายครั้งติดต่อกัน ? ) และมีมูกเลือดหรือสิ่งผิดปกติปะปนมากับอุจจาระหรือไม่ ? เพราะอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นแล้วก็เป็นได้ ถ้าเป็นในกรณีนี้ ก็ควรรีบพาไปพบคุณหมอด่วนเลยค่ะ เพราะร่างกายของเจ้าตัวน้อยอาจสูญเสียน้ำ อาหารและเกลือแร่มากกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณเลือดในร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดอาการช็อคได้
ท้องผูก
ปัญหาท้องผูกส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กที่ทานนมผสม หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนนม การชงนมที่ผิดสัดส่วนก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยท้องผูกได้ ถ้าลูกไม่ถ่ายหลายวัน แต่ยังร่าเริงสดใสและอุจจาระไม่แข็งแห้ง ก็ไม่ถือว่าท้องผูก เด็กที่ดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือสูญเสียน้ำมากจากอากาศร้อน หรือว่าเป็นไข้ ก็อาจทำให้อุจจาระแข็งและท้องผูกได้ ถ้าปล่อยให้ลูกท้องผูกและต้องออกแรงเบ่งมาก ก็อาจทำให้เกิดภาวะรูก้นเป็นแผลตามมาได้
การขับถ่ายยังไม่เป็นระบบ
เด็กแรกเกิดอาจถ่ายทุกครั้งหลังจากตื่นนอนมา และถ่ายทุกครั้งหลังจากได้รับนมแม่หรือนมขวดประมาณครึ่งชั่วโมง และจะปัสสาวะแทบทุก 20 นาทีในช่วงเดือนแรกๆ แต่จะลดจำนวนครั้งลงไปเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น ในช่วงหกเดือนแรก คุณแม่และคุณพ่ออาจต้องเหนื่อยหน่อย กับการคอยเปลี่ยนผ้าอ้อม เช็ดก้นลูก แต่ถ้าคอยสังเกตดูให้ดี ก็อาจพอจับจังหวะการฉี่และการอึของลูกตัวเองได้ เพื่อที่จะเตรียมการเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะหลังจากหกเดือนไปแล้ว ก็อาจลองจับเจ้าตัวน้อยนั่งกระโถนทุกเช้าดูได้ค่ะ เพื่อให้ร่างกายทำงานเป็นระบบเร็วขึ้นและเป็นการฝึกวินัยไปในตัว
(Some images used under license from Shutterstock.com.)