Haijai.com


ลำดับเหตุการณ์พัฒนาการของเด็กทารกแรกเกิด


 
เปิดอ่าน 8151

ลำดับเหตุการณ์พัฒนาการของเด็กทารกแรกเกิด

 

 

Becoming mobile (เริ่มเคลื่อนที่เอง)

 

คุณแม่มือใหม่ที่เหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกเองบางคน อาจเคยคิดว่าเมื่อไหร่ลูกจะโตซักทีน้อ  อยากให้ลูกโตเร็วๆจัง  ส่วนคุณแม่ที่มีลูกโตแล้วหรือมีลูกหลายคน  อาจมองย้อนกลับไป และรู้สึกว่าทำไมลูกโตเร็วจัง  อยากย้อนเวลากลับไปให้ลูกเป็นเด็กน้อยน่ารักไร้เดียงสาเหมือนตอนเล็กๆอีกครั้งจัง  แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน  สิ่งที่คุณแม่ที่เลี้ยงลูกเองต้องได้พบเจอแน่ๆ ก็คือ  ช่วงเวลาประทับใจที่แทบจะทำให้แม่บางคนถึงกับกริ๊ดออกมาดังๆ หรือตื้นตันจนต่อมน้ำตาแตก  เมื่อเจ้าตัวน้อยของคุณเริ่มพูด หรือเริ่มกระดึ้บ ( เคลื่อนที่ ) ได้เองเป็นครั้งแรก

 

 

เด็กทารกจะมีพัฒนาการแบบที่ค่อยเป็นค่อยไป และมีลำดับเหตุการณ์  เช่น เด็กจะเรียนรู้การชูคอ การพลิกตัว  ก่อนจะไปสู่การคืบ การคลาน การนั่งและการลุกขึ้นยืนในที่สุด   ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้เวลาตลอดขวบปีแรกของชีวิตเลยทีเดียว  อาจฟังดูยาวนานเมื่อเปรียบเทียบกับลูกสัตว์บางชนิด ที่สามารถเดินได้เองตั้งแต่คลอดในวันแรก  แต่นั่นเป็นเพราะระบบวงจรชีวิตที่แตกต่างกัน  ต้องขอบคุณความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำให้โลกนี้น่าสนใจ  มีความหลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้  และก่อนที่จะนอกเรื่องไปไกลกว่านี้  เรามาดูพัฒนาการด้านร่างกายของเจ้าตัวน้อยไปกันทีละขั้นตอนเลยดีกว่าค่ะ

 

 

เริ่มขยับและเรียนรู้

 

ในตอนแรกคลอด  เจ้าตัวน้อยก็สามารถขยับคอให้หันไปทางซ้ายหรือทางขวาตามที่เราจับวางลงบนที่นอน  และสิ่งแรกๆเลยที่เจ้าตัวน้อยของเราเรียนรู้ที่จะขยับเขยื้อนก็คือ ปากที่จะใช้ดูดนมคุณแม่นั่นเอง  นอกจากนั้นยังรู้จักกำและแบมือ  ด้วยท่าทีที่อาจดูเงอะงะทั้งแม่ทั้งลูกในการให้นมครั้งแรก  แต่ในครั้งต่อๆไป ทั้งคู่ก็จะเริ่มค่อยๆทำความรู้จักและคุ้นเคยกัน  ทำให้การให้นมง่ายขึ้นเรื่อยๆ  เจ้าตัวน้อยของเราก็จะเริ่มมีพัฒนาการในการใช้มือมาจับ  มาบีบหรือถูที่หน้าอกคุณแม่ในขณะที่ดูดนมไปด้วย  เพื่อเป็นการสำรวจหรือเพื่อเป็นกล่อมตัวเองไปในตัว  แต่ก็ยังเคลื่อนไหวได้เพียงร่างกายส่วนบนเท่านั้น

 

 

ในช่วงเดือนแรก  เจ้าตัวน้อยจะเริ่มมองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวในระยะใกล้ๆได้บ้างแล้ว  แขนขาเริ่มขยับเองได้มากกว่าในตอนแรกคลอด  แต่ยังไม่สัมพันธ์กัน  และไม่ว่าจะรู้สึกอึดอัด เจ็บปวดหรือไม่สบายตัว สิ่งที่เจ้าตัวน้อยจะทำได้ก็เพียงแค่ร้อง  ดิ้น หรือบิดไปมาเท่านั้นเอง  พอครบสามเดือน  เจ้าตัวน้อยก็จะเริ่มชันคอ  ผงกศีรษะ หันไปมาได้   บังคับกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น  ถีบเท้าและเล่นกับนิ้วมือตนเองได้  แถมยังแสดงความสนใจนิ้วมือตัวเองเป็นพิเศษอีกต่างหาก   แต่การขยับเคลื่อนไหวทางร่างกายที่จะนำไปสู่การเคลื่อนที่จริงๆ   ก็คือเมื่อเจ้าหนูค้นพบว่า ในตอนที่เธอแตะส้นเท้าลงแล้วถีบออกไปนั้น  เป็นการดัน ส่งให้ตัวเธอขยับเดินหน้าไปได้หน่อยนึง  ถึงแม้จะเป็นเพียงชัยชนะเล็กๆน้อยๆในการค้นพบของเจ้าตัวน้อย  แต่ก็จะนำไปสู่การเรียนรู้ใหม่ต่อไปอีก

 

 

เริ่มชันคอ-ลุกครึ่งตัวและก้นโด่ง

 

จำตอนช่วงเดือนแรกที่เราลองวางเจ้าตัวน้อยนอนคว่ำหน้าดูได้ไหมคะ   เจ้าหนูของเรายังขยับเขยื้อนด้วยตัวเองแทบไม่ได้เลย  แต่ก็ยังพยายามที่จะยกหัว ชันคอและยกคางขึ้น ในทุกครั้งที่เราวางลูกคว่ำหน้าลง  เจ้าตัวน้อยของเราพยายามลองของ ทั้งที่คอยังไม่แข็ง  ประกอบกับศีรษะที่ใหญ่และหนัก  ทำให้ความพยายามยังไม่บรรลุผล  เพราะยังเกินความสามารถและเกินกำลังที่หนูจะทำได้ค่ะ

 

 

พอเข้าเดือนที่สอง  เจ้าตัวน้อยก็จะเริ่มยกศีรษะขึ้นได้เองบ้างแล้วเมื่อนอนคว่ำ   แต่ก็ทำได้เพียงชั่วครู่สั้นๆเท่านั้นค่ะ  ก็จะหล่นตุ๊บกลับไปนอนอยู่ในท่าเดิมอย่างช่วยตัวเองไม่ค่อยได้อีกแล้ว  ( เริ่มก้าวหน้ามาอีกขั้นหนึ่งแล้ว )  และเมื่ออุ้ม ก็จะสามารถชันคอได้ดีกว่าแต่ก่อน  ต่อมาในเดือนที่สาม   เมื่อคุณประคองตัวลูกขึ้นมาอยู่ในท่านั่ง ลูกจะชันคอได้ดีขึ้น แต่ยังต้องคอยจับไว้ไม่ให้ล้ม และเมื่อวางนอนคว่ำหน้า   เจ้าตัวน้อยก็จะพยายามยกหัวและหน้าอกให้พ้นพื้นได้ช่วงสั้นๆ    และถ้าเราจับนอนหงาย เจ้าหนูก็จะเริ่มใช้มือปัดป่ายไปมา และเล่นนิ้วมือตัวเองอย่างสนใจ  

 

 

พอเข้าเดือนที่สี่  เจ้าตัวน้อยจะสามารถยกศีรษะและใช้แขนยันหน้าอกตัวเองขึ้นได้สบายมากแล้วล่ะค่ะ  หลังจากนั้นเล็กน้อย  เจ้าหนูก็จะลองพยายามทำกับขาดู  และก็พอจะทำได้บ้างทีละน้อย   ดูเหมือนว่าเจ้าตัวน้อยของเรา กำลังเตรียมการที่จะคลานแล้วหรืออย่างไรกันนี่   แต่ยังค่ะ....ยังไม่ใช่ในตอนนี้  เพราะเจ้าตัวน้อยจะทำได้ทีละส่วน  คือใช้มือยกหน้าอกพ้นพื้น  เป็นการพยายามลุกขึ้นจากร่างกายท่อนบน  กับการใช้เท้ายันยกก้นขึ้น เป็นการพยายามยกร่างกายท่อนล่าง เพื่อที่จะลุกขึ้น  แต่ยังไม่สามารถทำพร้อมๆกัน หรือหาจังหวะวิธีประสานให้ลงตัวเข้ากันได้   ดังนั้น  อาจเป็นด้วยความผิดหวัง  เจ้าตัวน้อยของเราจึงเริ่มหมุนตัวออกไปทางด้านข้างแทน  และถึงตอนนี้  เจ้าหนูของเราก็มีพัฒนาการขึ้นมาอีกหนึ่งขั้นแล้วล่ะค่ะ  นั่นก็คือ  เขาสามารถพลิกตัวไปมาได้ เพราะฉะนั้น  คุณพ่อคุณแม่ควรต้องระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้  เพราะเจ้าตัวน้อยอาจพลิกตัวตกลงมาจากเตียงหรือที่วางเขาอยู่ได้   เผลอไม่ได้เด็ดขาดเลยนะคะ

 

 

จากคืบสู่คลานและเดิน

 

เมื่อเจ้าตัวน้อยของเราได้ฝึกพลิกตัวคว่ำหงายได้คล่องขึ้นแล้ว  ก็จะกลับมาสนใจการใช้มือยันหน้าอกเพื่อที่จะลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  แต่ทำยังไงน้า ถึงจะลุกขึ้นทั้งตัวเหมือนคุณแม่หรือคุณพ่อได้…พอใช้มือยันจนลุกขึ้นมาได้ครึ่งตัวแล้ว  จากนั้นใช้ขายันเพื่อที่จะลุก..อ้าว  ล้มกลับลงมาอีกแล้ว...เฮ้อ !  ถ้าอย่างนั้น  ลองใช้ท้องดันดูซักหน่อยดีกว่า  เอ๊ะ..มันขยับได้นิดนึงนี่นา  ไหนลองใช้มือยันแล้วเท้าถีบไปด้วยดูซิ  โอ้ย...มันยากมากเลย  เพราะท้องและหัวเรามันหนักน่าดู  ไม่เป็นไร  ลองพยายามดูอีกดีกว่า

 

 

และเมื่อเจ้าตัวน้อยของเรา ได้ลองพยายามดูหลายๆครั้ง  เขาก็จะพบว่าตัวเอง สามารถเริ่มเคลื่อนที่ได้เล็กน้อยแล้ว  นั่นก็คือ การคืบนั่นเองค่ะ  และหลังจากนั้นไม่นาน  เจ้าหนูก็สามารถประสานจังหวะและเริ่มรู้เทคนิค  ประกอบกับกล้ามเนื้อแขน-ขาที่แข็งแรงขึ้น  ทำให้เจ้าตัวน้อยเรียนรู้ที่จะคลานในเวลาต่อมา  โดยการยกท้องขึ้นและเดินด้วยแขน-ขาของตนเองได้แล้ว  เขาจะรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกถึงความสำเร็จของการเคลื่อนที่ได้ของตนเองเป็นอย่างมาก  เพราะนั่นหมายถึง อิสรภาพอีกขั้นหนึ่งแล้ว  เจ้าตัวน้อยสามารถเคลื่อนที่หรือเดินทางไปในทิศทางที่ตนเองต้องการได้แล้ว

 

 

พอเข้าเดือนที่เจ็ด  เจ้าตัวน้อยของเราก็สามารถนั่งเองได้อย่างมั่นคง  โดยไม่ต้องมีผู้ใหญ่คอยประคอง หรือกลัวว่าจะล้มอีกแล้ว  ร่างกายหนูน้อยเริ่มแข็งแรงมากขึ้นแล้วในตอนนี้  และพอถึงเดือนที่แปด  เจ้าตัวน้อยของเรานอกจากจะนั่งเองได้  ก็สามารถคลานไปไหนมาไหนได้อย่างคล่องแคล่วว่องไวมากขึ้นอีกด้วย  และเจ้าตัวน้อยของเราก็จะใช้วิธีการคลานไปไหนมาไหน  เพื่อสำรวจหรือเพื่อไปหยิบสิ่งของที่ต้องการแบบนี้ไปอีกหลายเดือน  จนกว่าขาจะค่อยๆหาวิธียืดตัวลุกขึ้นมายืน  ซึ่งในช่วงแรก  แน่นอนว่าลูกน้อยยังต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ให้คอยประคอง  จับลุกขึ้นยืน  หรือยืนเกาะขอบเตียงอย่างไม่มั่นคงก่อนในตอนแรก  แต่ในที่สุด  เจ้าตัวน้อยของเรา ก็จะสามารถค่อยๆลุกยืนขึ้นเองได้ในที่สุด  และการเดินก็จะสิ่งที่จะติดตามต่อมาในไม่ช้า  ในช่วงเวลาประมาณที่เจ้าตัวน้อยมีอายุครบหนึ่งขวบปีพอดี  แต่ถ้าลูกของคุณเดินได้ช้าหรือเร็วกว่านั้น ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงค่ะ  เพราะเด็กบางคนอาจใช้เวลามากกว่าเด็กบางคนบ้างเท่านั้นเอง 

(Some images used under license from Shutterstock.com.)