© 2017 Copyright - Haijai.com
ช่วงเวลากลางคืน เจ้าตัวน้อย ตื่นบ่อยจัง
เรื่องนี้อาจจะฟังดูเหมือนไม่ใช่ปัญหา แต่ก็กวนใจคุณพ่อคุณแม่ได้พอสมควรทีเดียวค่ะ ยิ่งโดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ต้องทำงานไปด้วย แล้วยังต้องเลี้ยงลูกเองอีก ตกกลางคืนทีไรเจ้าตัวน้อยกลับไม่ยอมหลับยอมนอนจนคุณพ่อคุณแม่ก็แสนจะเหนื่อย แทบจะเป่ายิ้งฉุบกันตื่นมาดูลูก ว่าแต่ว่าที่เจ้าตัวน้อยตื่นบ่อยขนาดนี้ เพราะอะไรกันน๊า
สาเหตุของการตื่นบ่อยของเด็ก ส่วนหนึ่งอยู่ที่วัยค่ะ เด็กในวัย 3 เดือนแรกจะมีช่วงของการนอนที่สั้นและตื่นบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน แต่ถ้าลูกตื่นบ่อยมากหรือทุกชั่วโมง อาจจะมาจากหลายสาเหตุ เช่น หิวนม ได้รับการกระตุ้นตอนกลางวันมากเกินไป บรรยากาศไม่เป็นใจ มีสิ่งรบกวน ความเปียกชื้น ไม่สบายตัว หรือละเมอเพ้อฝัน เป็นต้น การตื่นบ่อยคงไม่ได้มีผลกับพัฒนาการทางสมอง สมองยังเติบโตได้เป็นปกติ แต่ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายแน่ๆ ค่ะ เพราะฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งได้ดีช่วงนอนหลับ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายของเด็ก ทางการแพทย์เราแบ่งช่วงนอนของคนเราออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ ค่ะ คือ ช่วงที่ลูกตาและร่างกายยังมีการเคลื่อนไหว (REM) กับช่วงที่ลูกตาและร่างกายสงบนิ่ง (Non-REM) ช่วงหลังนี้ล่ะค่ะที่จะเกิดการหลั่งของ Growth Hormone ซึ่งในเด็กวงจรการหลับทั้ง 2 ช่วงนี้จะเกิดสลับกันไป เด็กที่นอนน้อย หลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืนจะทำให้การหลั่งฮอร์โมนตัวนี้เสียไป และมักจะมีพัฒนาการทางร่างกายที่ไม่ค่อยดีนัก ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กตัวเล็ก ไม่ค่อยโต
อายุของลูก |
ธรรมชาติการนอนของลูก |
แรกเกิด – 1 สัปดาห์ |
ลูกจะใช้เวลานอนประมาณ 16.30 ชั่วโมง ต่อวัน และนอนไม่เป็นเวลา มักจะตื่นบ่อย นอน 2-3 ชั่วโมง ตื่นอยู่ 1-2 ชั่วโมง แล้วก็หลับต่ออีก คุณแม่ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ เพราะนี่เป็นเรื่องปกติของเด็กแรกเกิด กำลังปรับตัวให้รู้จักการนอนที่เป็นเวลามากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยค่ะ |
1 เดือน – 2 เดือน |
ลูกจะนอนน้อยลงนิดหน่อยประมาณ 16 ชั่วโมง ต่อวัน และไม่เป็นเวลา ยังคงตื่นบ่อยคล้ายๆ กับตอนแรกเกิด |
2 เดือน – 3 เดือน |
นอนประมาณ 15.30 ชั่วโมง ต่อวัน ลูกเริ่มจะนอนเป็นเวลามากขึ้น แต่ยังคงตื่นบ่อยอยู่ค่ะ ช่วงนี้ลูกจะเริ่มเรียนรู้เรื่องการนอนและตื่นเป็นเวลามากขึ้นเรื่อยๆ |
3 เดือน – 6 เดือน |
นอนประมาณ 15 ชั่วโมง ต่อวัน จะตื่นมากินนมประมาณทุกๆ 3-4 ชั่วโมง ช่วงนี้การนอนของลูกเริ่มเป็นเวลาแล้วค่ะ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มจับทางได้ กลางคืนจะนอนประมาณ 10 ชั่วโมง กลางวันนอน 5 ชั่วโมง |
6 เดือน – 9 เดือน |
นอนประมาณ 14 ชั่วโมง ต่อวัน ช่วงนี้ลูกจะนอนตอนกลางคืนนานขึ้น เด็กบางคนอาจจะนอนรวดเดียวจนเช้าได้ แต่ถ้าลูกยังตื่นมากินนมตอนกลางคืนอยู่ ช่วงนี้ควรค่อยๆ ฝึกให้ลูกนอนตอนกลางคืนให้นานขึ้น เช่น ลดการทานนมกลางดึกแล้วให้ลูกนอนช่วงกลางวันประมาณ 3-4 ชั่วโมง |
9 เดือน – 1 ปี |
นอนประมาณ 13 ชั่วโมง ต่อวัน เริ่มรู้จักกลางวัน และกลางคืน นอนกลางคืนยาวรวดเดียวได้ ตื่นเป็นเวลา และเริ่มนอนกลางวันน้อยลง |
1 ½ ปี - 2 ปี |
ระยะเวลาการนอนสั้นลง ส่วนใหญ่จะงีบช่วงกลางวันครั้งเดียว ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ช่วงนี้เองที่เจ้าตัวเล็กมักห่วงเล่นจนไม่ได้นอนแล้วงีบในช่วงเย็นๆ จนทำให้นอนไม่หลับในตอนกลางคืน |
บรรยากาศของการเข้านอนก็มีความสำคัญ ห้องที่นอนจะต้องเงียบ ไม่ควรมีสิ่งรบกวนทั้งทางเสียงหรือกลิ่น ส่วนในเรื่องของแสง บางบ้านอาจจะใช้วิธีเปิดไฟสลัวๆ ในเวลากลางคืน แต่ถ้าเป็นกลางวันอาจจะปิดผ้าม่านบางๆ พอให้แสงเข้าได้ เพื่อให้ลูกเรียนรู้เรื่องของกลางวันกลางคืนไปในตัว อุณหภูมิควรอยู่พอเหมาะ หัดให้ลูกแยกแยะการนอนออกจากการเล่น โดยการเก็บของเล่นออกจากเตียงให้หมดหรือควรแยกที่นอนกับที่เล่นออกจากกัน ลูกจะได้ไม่สับสนว่าควรจะนอนหรือเล่นดี ไม่ควรให้ลูกมีกิจกรรมที่ตื่นตัวเกินไปก่อนเข้านอน เช่นดูภาพยนตร์หรือรายการที่มีเนื้อหาตื่นเต้น ตลกหรือน่ากลัวเกินไป จะทำให้ลูกตื่นตัวจนนอนไม่หลับ หรือนอนละเมอตามมาได้ และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ต้องส่งเสริมบรรยากาศการนอนที่ดีให้กับลูกด้วยค่ะ โดยเฉพาะบรรยากาศที่สงบเงียบ หากคุณพ่อคุณแม่ยังเปิดไฟสว่างทำงาน หรือคุยกันเสียงดังอยู่ ก็จะเป็นการรบกวนให้ลูกนอนไม่หลับและตื่นบ่อยได้ค่ะ
Baby Bedtime Do’s & Don’ts
ได้เวลานอนอีกแล้ว คุณแม่หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่าในช่วงขวบปีแรกของทารกนั้น เวลาส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการนอน โดยส่วนใหญ่แล้วเจ้าตัวเล็กก็มักจะถูกแยกให้นอนในห้องต่างหาก ในช่วงเวลาค่ำคืนนั้นการปล่อยเจ้าตัวน้อยเอาไว้ท่ามกลางความมืด นอกจากจะห่างไกลจากพ่อแม่แล้ว การอยู่ห่างไกลจากคนที่รักก็อาจจะทำให้ทารกเกิดความกลัวขึ้นมาได้ และต่อไปนี้คือบางอย่างที่ทำได้และบางอย่างที่ไม่ควรทำ
Do
รู้จักวงจรการนอนของลูกให้ดี
เด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป เด็กบางคนก่อนนอนจะต้องมีเสียงเพลงเบาๆ คลอไปด้วย แต่ในเด็กบางคนก็อาจจะร้องไห้งอแงเมื่อได้ยินเสียงรบกวนเพียงนิดหน่อย และมีกิจกรรมก่อนนอนที่จะเป็นตัวช่วยให้เจ้าตัวน้อยนอนหลับฝันดี ลองเช็กดูว่ากิจกรรมเหล่านี้แบบไหนที่ลูกคุณตอบสนองได้ดีที่สุด
• อ่านหนังสือนิทานเล่มโปรดให้ลูกฟัง หรือเปิดดนตรีเบาๆ คลอไปในระหว่างกล่อมนอน
• วางตุ๊กตาตัวโปรดไว้ข้างๆ ช่วยให้ลูกนอนหลับได้เร็วขึ้น
• ลูบหลังเบาๆ ก่อนเข้านอน
ถือเวลาเดิมเป็นมาตรฐาน
เมื่อคุณได้เวลาการนอนหลับที่แน่นอนของลูกแล้ว ให้ยึดตามนั้นเป็นเวลาที่คุณจะให้ลูกนอนเป็นประจำ ซึ่งสำหรับทารกโดยเฉพาะทารกแรกคลอดจะมีช่วงการนอนง่ายๆ คือ เริ่มตั้งแต่การหลับลึก (Non-REM) การหลับแบบกลอกตาไปมา (REM) การเคลิ้ม การตื่นแบบสงบ การตื่นแบบเคลื่อนไหว และการร้องไห้ในที่สุด ซึ่งวงจรการนอนของทารกจะสมบูรณ์เต็มที่เมื่อทารกมีอายุ 6 เดือนขึ้นไป
ให้ลูกผ่อนคลายก่อนนอน
เจ้าตัวเล็กในวัยสองเดือนสามารถที่จะกล่อมตัวเองให้นอนหลับได้ถ้าตื่นขึ้นมากลางคัน แต่เพื่อช่วยให้ลูกนอนหลับได้ยาวนานขึ้น เมื่อคุณรู้เวลานอนของลูกในแต่ละช่วงแล้ว ก่อนถึงเวลานอนนั้นให้ผ่อนคลาย หลีกเลี่ยงการเล่นหรือทำอะไรที่เป็นกิจกรรมหนักๆ จัดที่นอนและตรวจความเรียบร้อยของสิ่งของที่อาจตกหล่นอยู่ เลือกของเล่นชิ้นโปรดวางไว้ในที่นอนให้ลูก ของเล่นควรจะเป็นตุ๊กตาหรือสิ่งของนุ่มๆ ไม่ทำให้เกิดเสียงดังที่จะรบกวนการนอนหลับของลูก
Don’t
อย่าพาลูกเข้านอนขณะที่ยังให้นมอยู่
การนอนพร้อมกับให้นมหรือดูดนมจากขวดนม โดยที่การดูดนมนั้นสามารถกล่อมให้เจ้าตัวเล็กนอนหลับได้ง่าย นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพฟันของลูกแล้ว ยังอาจจะเป็นอันตรายและทำให้เกิดการติดเชื้อที่หูได้หากนมไหลหกเข้าในหู และที่สำคัญถ้าลูกเข้านอนพร้อมกับการดูดขวดนมเมื่อเขาเกิดตื่นขึ้นมาอาจจะงอแงได้ เมื่อตื่นขึ้นมากลางดึกและพบว่าขวดนมไม่ได้อยู่ที่ปากพร้อมให้ดูด
เร่งให้ลูกทานอาหารแข็ง
คุณแม่บางท่านมักจะคิดว่าการที่ทารกตื่นบ่อยๆ นั้นอาจเป็นเพราะการทานอาหารเหลวที่ไม่อิ่มท้องทำให้หิวจนต้องตื่น แต่รู้หรือไม่ว่านมแม่หรือนมผสมนั่นเองที่ถือว่าเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเจ้าตัวเล็กแล้ว สำหรับทารกที่อายุไม่เกิน 6 เดือน การให้อาหารแข็งไม่ได้ช่วยให้ลูกนอนหลับได้มากกว่าเดิม ฉะนั้นถ้าลูกยังมีอายุไม่ถึง 6 เดือนไม่ควรให้อาหารเสริมใดๆ นอกจากจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์
ละเลยที่จะพาลูกเข้านอนด้วยตัวคุณเอง
เวลานอนของลูกนั้นควรเป็นเวลาพิเศษอีกช่วงหนึ่งที่คุณแม่และลูกน้อยควรจะได้ใช้เวลาร่วมกัน อย่าปล่อยให้สิ่งอื่นมาแบ่งเวลาช่วงนี้ไป หรือแม้แต่ให้ใครมาทำแทน กล่อมและปลอบลูกก่อนเข้านอน อ่านหนังสือหรือให้ลูกรู้ว่าคุณอยู่ข้างๆ ก่อนส่งเขาเข้านอน นอกจากคุณจะได้เชื่อมสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกแล้ว คุณยังจะได้เรียนรู้พัฒนาการการนอนของลูกอีกด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)