Haijai.com


อารมณ์ของแม่ขณะตั้งครรภ์จะมีผลต่อลูกที่คลอดออกมาหรือไม่


 
เปิดอ่าน 2243
 

Q : อารมณ์ของแม่ขณะตั้งครรภ์จะมีผลต่อลูกที่คลอดออกมาหรือไม่ค่ะ เพราะขณะที่ตั้งครรภ์ท้องแรกเครียดกับงานมากๆ และทำงานจนถึงวันคลอดเลย ทำให้ลูกเกิดมางอแง ไม่สบายบ่อย เลี้ยงยาก ตอนนี้วางแผนจะมีลูกคนที่สองควรเตรียมพร้อมอย่างไร ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

 

 

A : มารดาที่ตั้งครรภ์มักจะมีภาวะเครียดไม่มากก็น้อย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความรู้สึกที่มีต่อรูปร่างของตัวเอง กังวลเกี่ยวกับทารกที่กำลังจะเกิดมา กังวลถึงอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นยังไงบ้าง กังวลถึงความสัมพันธ์ต่างๆ กับสามี เพื่อน หรือญาติพี่น้อง นอกจากนี้อาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์ก็ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง และนอนไม่หลับ

 

 

มารดาที่มีภาวะเครียดแต่เพียงเล็กน้อยและสามารถปรับตัวได้ดี ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อการตั้งครรภ์ อาจทำให้มีการดูแลตนเองดีขึ้น แต่ถ้ามีภาวะเครียดในระดับที่สูงมากอาจเกิดผลเสียทั้งต่อตัวมารดาเองและต่อทารกในครรภ์ ถ้าเกิดภาวะเครียดในระยะสั้น จะเกิดอาการเหนื่อย นอนไม่หลับ ตื่นเต้น เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก ปวดศีรษะ และปวดหลัง  แต่ถ้าเกิดภาวะเครียดเป็นเวลานานจะทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง ความดันโลหิตสูง และเกิดโรคหัวใจตามมา สำหรับผลของภาวะเครียดต่อทารกในครรภ์นั้น เนื่องจากภาวะเครียดของมารดา จะทำให้สารเคมีและฮอร์โมนที่เกิดจากความเครียดหลั่งออกมามากขึ้น เช่น อีปิเนฟริน (epineprine) และนอร์อีปิเนฟริน (norepineprine) ซึ่งทำให้เส้นเลือดที่ไปยังมดลูกและรกเกิดการหดตัว ทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ไปยังทารกในครรภ์ลดน้อยลง ผลตามมาทำให้เกิดการแท้ง ทารกเติบโตช้าในครรภ์ ทารกติดเชื้อในครรภ์สูงขึ้น นอกจากนี้ความเครียดโดยเฉพาะในไตรมาสแรกจะทำให้สมองของมารดาและรกสร้างคอร์ติโคสเตียรอยด์ รีลิสซิ่งฮอร์โมน (corticosteroid releasing hormone) เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้จะไปควบคุมและกำหนดระยะเวลาการตั้งครรภ์ และการพัฒนาและเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ผลตามมาทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด และทารกเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งมีผลทำให้เกิดปัญหาทางระบบหายใจ พัฒนาการช้า ปัญหาการมองเห็น และตายหลังคลอดได้ มีรายงานว่าทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะเครียด ในระหว่างตั้งครรภ์โดยเฉพาะในไตรมาสแรกจะมีอารมณ์ซึมเศร้า และไวต่อการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก สำหรับผลที่เกิดกับทารกในระยะยาวจะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลถึงปัญหาทางจิตใจ และการปรับตัวทางสังคมตามมา

 

 

วิธีการลดหรือคลายความเครียด

 

มารดาที่มีสุขภาพแข็งแรง จะเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้เกิดภาวะเครียด วิธีการลดหรือคลายความเครียดมีดังนี้

 

1.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ และครบ 3 มื้อ

 

2.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง

 

3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

4.ลดการทำงานลง

 

5.การพูดคุยหรือระบายความในใจหรือความเครียดกับสามี เพื่อนฝูงที่สนิทสนม หรือกับคุณพ่อคุณแม่

 

6.ทำกิจวัตรประจำวันหรือสิ่งที่คุณชอบ อย่างน้อยวันละ 20-30 นาที

 

7.ออกไปเที่ยว ทำกิจกรรมนอกบ้านหรือพักผ่อน

 

8.นั่งสมาธิ

 

9.ฝึกโยคะสำหรับสตรีตั้งครรภ์

 

10.ฝึกจินตนาการ แต่เรื่องที่ดีหรือทำให้เรามีความสุข เช่น จินตนาการถึงการไปเที่ยวทะเล ภูเขา หรือน้ำตกที่เราชอบ

 

11.หาความรู้ถึงอาการที่พบบ่อยระหว่างการตั้งครรภ์และวิธีการแก้ไข

 

12.หลีกเลี่ยงการพึ่งสารเสพติด เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล หรือยาระงับประสาท

 

13.หาโอกาสเข้าคอร์สอบรมการตั้งครรภ์คุณภาพ เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอดและการดูแลบุตรหลังคลอด

(Some images used under license from Shutterstock.com.)