Haijai.com


เป้าหมายมีเอาไว้ทำลาย พัฒนาการลูก


 
เปิดอ่าน 1527

เป้าหมายมีเอาไว้ทำลาย พ่อแม่ลูก

 

 

เด็กเล็กคิดเช่นนี้จริงๆ “เป้าหมายมีเอาไว้ทำลาย” โดยมิจำเป็นต้องใช้เครื่องดื่มชูกำลังแต่อย่างใด ขอเพียงไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปห้ามนั่นนี่มากมายเกินไปก็เพียงพอ

 

 

ตอนที่เด็กเล็กเริ่มคลานขึ้นบันไดในบ้านเป็นครั้งแรกๆ ของชีวิต เขาไม่ได้มองชั้นสองเป็นเป้าหมาย อย่างหนึ่ง เพราะคอของเขาอาจจะยังไม่แข็งพอจะทำท่าแหงนได้มากหรือเอี้ยวคอได้ 180 องศาเพื่อมองชั้นสอง อีกอย่างหนึ่ง เพราะเขาไม่คิดไกลเพียงนั้นตั้งแต่แรก เด็กเล็กคลานจากพื้นบ้านขึ้นสู่บันไดขั้นที่หนึ่งสำเร็จ สายตาของเขาจับจ้องที่บันไดขั้นที่สองหรือสามเป็นอย่างมาก นั่นคือเป้าหมายที่เขาต้องทำลาย คือจุดหมายที่เขาจะพิชิต ว่าแล้วเขาก็เริ่มคลานขึ้นไปยังขั้นต่อไป

 

 

พ่อแม่มีทางเลือก 2-3 ทาง หนึ่งคือห้าม สองคือนั่งมองจากระยะไกล สามคือไปปีนบันไดกับเขา หนึ่งนั้นเท่ากับขัดขวางพัฒนาการอย่างตรงไปตรงมา สองคือให้ทดลองทำ ตกลงมาเจ็บจะได้จำซึ่งก็คงจะเหี้ยมเกินไปสำหรับเด็กเล็กซึ่งเป็นวัยที่ยังต้องการการปกป้อง สามคือปล่อยเขาทดสอบความสามารถของตนเองโดยมีเราคอยระแวดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ พ่อแม่ที่ชาญฉลาดย่อมเลือกประการหลัง ซึ่งแปลว่าท่านต้องเสียเวลาเรื่องส่วนตัวมาอยู่ใกล้ๆ ลูกอีกแล้ว

 

 

เด็กเล็กคลานขึ้นบันไดสำเร็จจึงจะมั่นใจ ภูมิใจที่ตนเองทำได้ แล้วคลานขึ้นขั้นถัดไป และขั้นถัดไป เขาไปถึงขั้นที่ห้า หก เจ็ด และต่อๆ ไปเพิ่มมากขึ้นทุกวันตามความใจกล้าของพ่แม่ที่จะปล่อยให้เขาคลานสูงเพียงไรในวันแรกๆ อย่างไรก็ตามเขาคลานขึ้นไปด้วยการดูเป้าหมายทีละขั้นเสมอและเขยิบขึ้นไป เขยิบขึ้นไป เด็กเล็กและเด็กโตในการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ก็พัฒนาการไปทำนองนี้ นั่นคือใช้เป้าหมายระยะสั้นและความสำเร็จเล็กน้อยในแต่ละวันเป็นแรงผลักให้ไปสู่ขั้นต่อไปหรือเป้าต่อไป จนกระทั่งเข้าใกล้วัยรุ่นพวกเขาจึงเริ่มมองหาเป้าหมายระยะยาว

 

 

ดังนั้นหากโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานเพื่อให้เด็กเล็กทำสำเร็จในทุกๆ วัน เด็กทั้งโรงเรียนมีแต่ความภาคภูมิใจ เด็กทั้งประเทศรักตนเอง อนาคตของประเทศจะสดใสมากกว่าที่เป็นอยู่ ในทางตรงข้ามซึ่งก็คือความเป็นจริงทุกวันนี้ของประเทศไทย เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ทำอะไรไม่สำเร็จในทุกๆ วัน การบ้านไม่เสร็จทำข้อสอบไม่ได้ สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด ชีวิตพบความล้มเหลวในทุกๆ วัน ทุกๆ เดือน ทุกๆ ปี เด็กไทยส่วนใหญ่เติบโตทางร่างกายด้วยจิตใจที่หดหู่ ทั้งนี้ยังไม่นับว่านักเรียนที่ภูมิใจว่าตนเองทำสำเร็จก็จะรู้เพียงเท่าที่ครูสอน มักไม่มีอะไรมากกว่านั้น

 

 

ประเด็นคือพ่อแม่ รวมทั้งการศึกษาของชาติมีหน้าที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาทำลายเป้าหมายได้เรื่อยๆ ทำให้เขารักตนเองและภาคภูมิใจในตนเองที่จะไปให้ถึงชั้นสองและก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นใจมั่นคง เด็กส่วนใหญ่พัฒนาตนเองได้ เป็นผู้ใหญ่ที่มักทำลายพัฒนาการของลูกและของเด็ก

 

 

เด็กพิเศษคือเด็กที่มีพัฒนาการเฉพาะตัวหรือพัฒนาการแบบพิเศษ เด็กกลุ่มนี้อาจจะปีนบันไดไปสามขั้นแล้วก็หยุดเฉยๆ รอนานมากก็ปีนต่อไป แต่เขาจะปีนทีเดียวไปอีกห้าขั้นแล้วหยุดอีก เด็กพิเศษบางคนปีนไปถึงขั้นที่สามกลับถอยหลังลงมาหนึ่งขั้น ก่อนที่จะปีนขึ้นไปอีกห้าขั้นแล้วถอยลงมาอีกสองขั้นแล้วปีนกลับขึ้นไปอีก คราวนี้หยุดพักใหญ่ก่อนจะปีนรวดเดียวถึงชั้นสอง

 

 

เด็กทั่วไปก็ดี เด็กที่มีพัฒนาการเฉพาะตัวก็ดี พวกเขาสามารถไปถึงชั้นสองได้ในเวลาไม่ต่างกันมากหากเราไม่ใจร้อนเข้าไปขัดขวางเสียก่อน การคลานขึ้นบันไดเป็นเพียงกรณีเปรียบเทียบถึงการศึกษาที่เด็กๆ เผชิญอยู่ เด็กบางคนสามารถเรียนและสอบได้ปีละชั้นตามมาตรฐานและข้อกำหนด แต่เด็กหลายคนไม่สามารถเรียนบางวิชาและสอบบางวิชาได้ในปีที่กำหนด อย่างไรก็ตามมิได้หมายความว่าเขาจะทำวิชานั้นหรือสอบวิชานั้นไม่ได้ตลอดชีวิต เขาเรียนหนังสือเหมือนเด็กที่ปีนบันไดขึ้นสามขั้นลงสองขั้นแล้ว ขึ้นไปใหม่ซึ่งก็จะถึงจุดหมายปลายทางเช่นกัน

 

 

เด็กเล็กและเด็กโตในการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่จะใช้เป้าหมายระยะสั้น และความสำเร็จเล็กน้อยในแต่ละวันเป็นแรงผลักให้ไปสู่ขั้นต่ไปหรือเป้าต่อไป จนกระทั่งเข้าใกล้วัยรุ่นพวกเขาจึงเริ่มมองหาเป้าหมายระยะยาว”

 

 

ผู้ใหญ่มีทางเลือก 2-3 ทาง หนึ่งคือห้ามขึ้นชั้น ให้สอบตกซ้ำชั้น สองคือนั่งดูอยู่ไกลๆ ล่อยให้เด็กถูกตีตราว่าเรียนหนังสือไม่ได้ สติปัญญาบกพร่อง บกพร่องการเรียนรู้ ฯลฯ สามคือไปคลานขึ้นบันไดร่วมกันกับเขา ขึ้นด้วยกันลงด้วยกัน หรือไม่ว่าอะไรหากเขาจะปีนลงบางครั้ง แต่เราพร้อมจะให้กำลังใจและยื่นมือไปดึงขึ้นมาเสมอ สองอย่างแรกทำลายพัฒนาการเด็ก อย่างที่สามช่วยเด็กทำลายเป้าหมายทีละขั้นๆ

 

 

เราอยากให้ลูกของเราพบการศึกษาแบบไหน

 

 

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

จิตแพทย์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)