![Haijai.com](https://www.haijai.com/my/logo/20150326_logo.png?t=2017-02-22)
© 2017 Copyright - Haijai.com
ป่วยแต่กายใจแข็งแรง
การเจ็บป่วย (ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเจ็บป่วยที่หนักระดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่เป็นหวัดหรือปวดขานะครับ) ถือว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด (stressor) อย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยต้องมีการปรับตัว (coping) โดยมีพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อลดความเครียดที่เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตขณะนั้นสมดุล
ลักษณะของผู้ที่มีการปรับตัวที่ดี (effective coper)
• มองโลกในแง่ดี
• ไม่หลีกเลี่ยงปัญหา เมื่อมีปัญหาสามารถแก้ไขปัญหาได้
• สามารถวางแผนและหาทางแก้ไขได้หลายทาง มีแผนสำรองไม่ใช่คิดทางแก้ไขไว้ทางเดียว พอไม่ได้ผลก็ไม่สามารถทำอะไรได้
• ยอมรับผลลัพธ์ที่หลากหลายได้ เช่น สามารถเข้าใจได้ว่าการผ่าตัดมีทั้งโอกาสสำเร็จและไม่สำเร็จ หรือโอกาสเกิดผลแทรกซ้อน ไม่ใช่ว่ามีแต่สำเร็จอย่างเดียวเท่านั้น
• เป็นคนยืดหยุ่น
• ใช้เหตุผลมากกว่าใช้อารมณ์
ลักษณะของผู้ที่มีการปรับตัวที่ไม่ดี (effective coper)
• ไม่ยืดหยุ่น เจ้าระเบียบ
• ไม่สามารถทนคำตอบที่หลากหลายหรือความไม่ชัดเจนได้
• เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ เชื่อง่าย และยอมมากจนเกินไป จนไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเอง
• ใจร้อน ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล
การดูแลจิตใจผู้ที่เจ็บป่วย
สิ่งที่ต้องเน้นย้ำ คือ การดูแลผู้ป่วยมิใช่การดูแลเพียงด้านร่างกาย สนใจแต่อาการทางกายอย่างเดียวเท่านั้น ด้านจิตใจและสังคมก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การดูแลที่ดีจึงต้องดูแลในทุกด้านผสมผสานกัน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการดูแลรักษาองค์รวม การดูแลจิตใจผู้ที่เจ็บป่วยจึงควรประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้
ข้อมูลที่เหมาะสมและเพียงพอ
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยากรู้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไรมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง โอกาสหายเป็นเท่าไหร่ ต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนอะไรบ้าง และทำอย่างไรจึงจะหายเร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ป่วยควรจะรู้ แต่ในทางตรงกันข้ามการไม่รู้ มักก่อให้เกิดความเครียด วิตกกังวล คิดมากหรือมองโลกในแง่ร้าย กว่าที่เป็นจริงได้
การที่ผู้ป่วยไม่ทราบข้อมูลอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
1.ญาติไม่ยอากบอก หลายครั้งที่เวลาผู้ป่วยเจ็บป่วยหนัก ญาติมักไปคุยกับแพทย์กันสองคน แล้วไม่อยากบอกให้ผู้ป่วยรู้ หรือบอกก็บอกนิดหน่อย เพราะกลัวผู้ป่วยเครียดหรือใจไม่ดี
2.ตัวผู้ป่วยเองไม่กล้าถาม อาจจะด้วยเกรงใจแพทย์ หรือตอนนั้นยังงงๆ ทำให้ไม่รู้จะถามอะไร
3.แพทย์ไม่บอก แพทย์หลายคนยุ่งหรือมีเวลาตรวจน้อย ทำให้ไม่มีเวลาบอก หรือเห็นผู้ป่วยไม่ถามก็คิดว่าผู้ป่วยไม่สงสัยหรือรู้อยู่แล้วก็เลยไม่บอก ดังนั้น ทั้งผู้ป่วย ญาติ และแพทย จึงควรมีการพูดคุยสอบถามเพื่อประเมินว่าผู้ป่วยรับทราบข้อมูลที่เพียงพอหรือยัง ถ้ายังก็จะได้ให้ข้อมูลกันต่อไป
ประเมินและให้การรักษาอาการอื่นๆ นอกเหนือจากอาการหลักทางกายด้วย
บางครั้งเราอาจจะสนใจเฉพาะอาการหลักของโรคนั้นๆ จนลืมหรือไม่ใส่ใจอาการอื่นๆ ที่ผู้ป่วยอาจจะมีร่วมได้ เช่น ผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุขาหักสองข้าง ต้องผ่าตัดนอนบนเตียง แพทย์หรือญาติอาจจะใส่ใจกับขาที่หักกับแผลผ่าตัด จนไม่ได้สนใจว่าผู้ป่วยนอนไม่หลับเพราะปวดแผล หรือท้องผูกเพราะนอนมากเกินไป อาการอื่นๆ เหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมความทุกข์ให้กับผู้ป่วย ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรหาทางแก้ไข และบอกกับแพทย์ที่ดูแลด้วย
สร้างกำลังใจและความกล้าที่จะปรับตัวต่อการเจ็บป่วย
• ช่วยให้ผู้ป่วยยังรู้สึกว่าตัวเองยังมีความสามารถและความภาคภูมิใจในตัวเอง โดยอะไรที่ผู้ป่วยยังสามารถทำเองได้ก็ควรให้ผู้ป่วยได้ทำเองบ้าง ไม่ใช่เข้าไปช่วยหมดทุกอย่างจนไม่ได้ทำอะไรเลย รวมถึงผู้ป่วยควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาแลเรื่องทั่วๆ ไป
• สร้างความหวังให้แก่ผู้ป่วย ในกรณีนี้ความหวังนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ความหวังลวงๆ ที่ไม่เป็นจริง เช่น หากโรคของผู้ป่วยรักษาไม่หายขาด ก็ไม่ควรไปบอกว่ารักษาได้ การสร้างความหวังได้แก่การพูดให้กำลังใจผู้ป่วย รวมถึงการพูดคุยถึงเรื่องความหวังในอนาคต เช่น ถ้าหายแล้วจะทำอะไร ถ้าดีขึ้นแล้วไปเที่ยวกัน หรือทุกคนในที่ทำงานรอให้กลับไปอยู่ เป็นต้น
• ค้นหา พูดคุย และกล้าเผชิญกับความเปราะบางโดยไม่หลีกเลี่ยง นอกจากความหวังแล้ว อีกสิ่งที่จำเป็นคือการค้นหา “ความเปราะบาง” ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความวิตกกังวลว่าโรคจะไม่หาย การขาดรายได้ ที่ทำงานจะให้ออก ความกลัว เช่น กลัวที่จะต้องผ่าตัด กลัวการทำแผล หรือความรู้สึกผิด เช่น รู้สึกผิดที่เป็นภาระ ทำให้ครอบครัวต้องลำบาก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้การพูดคุยระหว่างผู้ป่วยกับคนสนิทจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นและนำไปสู่การแก้ไขได้
การสนับสนุนทางสังคม
การได้แรงสนับสนุนทางด้านสังคม อันได้แก่ ครอบครัว ญาติ และเพื่อน มาเยี่ยม พูดคุย ให้กำลังใจ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ อารมณ์ดีขึ้น และป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ แต่มีข้อควรระวังสำหรับญาติหรือเพื่อนที่ไม่สนิท คือ ไม่ควรที่จะถามซ้ำๆ เกี่ยวกับเรื่องอาการผู้ป่วยหรือการรักษา (เช่น เป็นโรคอะไร? รักษายังไง? ผลตรวจวันนี้เป็นไงบ้าง? อาการเป็นยังไงบ้าง? ปวดมากไหม? เมื่อไหรจะหาย? ฯลฯ) หรือถามเกี่ยวกับความเปราะบาง (ตามด้านบน) ของผู้ป่วย เพราะการต้องตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำๆ วันละหลายรอบเป็นเรื่องที่น่าเบื่อและอาจทำให้รู้สึกหดหู่ จึงควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์และคนสนิท ส่วนคนอื่นๆ ที่ไปเยี่ยม การพูดคุยเรื่องทั่วไปหรือเรื่องที่สร้างความหวังกับผู้ป่วยน่าจะดีกว่า
ศาสนา
หลายคนเมื่อเจ็บป่วยจะเข้าหาศาสนามากขึ้น การศึกษาพบว่าหากการสนใจในศาสนาทำให้จิตใจสงบจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามหากรับศาสนาแล้วจิตใจไม่สงบ เช่น คิดว่าเราเป็นคนบาปเลยถูกลงโทษ หรือรู้สึกว่าถูกพระเจ้าทอดทิ้ง จะให้ผลตรงกันข้าม ดังนั้น หากผู้ป่วยมีความสนใจในเรื่องศาสนาช่วยให้เกิดความสงบ แพทย์และญาติควรสนับสนุน แต่หากผู้ป่วยไม่สนใจในเรื่องนี้ไม่ควรไปยัดเยียดให้สนใจ
สังเกตุอาการของโรคซึมเศร้า
นอกจากนี้การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นยังเป็นปัจจัยกระตุ้นอันหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวชได้ โดยภาวะที่พบบ่อย ได้แก่ โรคซึมเศร้า ดังนั้นหากพบว่าผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้าติดต่อกันนานหลายสัปดาห์ ร้องไห้บ่อยๆ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นภาระต่อคนอื่น หรือมีความคิดอยากตาย ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับการช่วยเหลือต่อไป
ความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเป็น แต่ในชีวิตจริงหลายครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น หากเคราะห์ร้ายเจ็บป่วยขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ทำได้คือการรักษาฟื้นฟูเพื่อให้หายดีที่สุด ซึ่งการดูแลรักษาที่ดีจำเป็นต้องทำอย่างองค์รวม คือไม่ใช่รักษาเฉพาะด้านร่งกายเท่านั้น แต่จิตใจก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องดูแลควบคู่กันไป เพื่อให้พวกเขาผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้อย่างดีที่สุดทั้งกายและใจ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)