© 2017 Copyright - Haijai.com
ถามหมอ น้องใบบัว อายุ 6 เดือน ถ่ายเหลวเป็นประจำ จึงต้องเปลี่ยนมาทานนมสำหรับเด็กท้องเสียก็หายนะคะ พอหายแล้วก็เหมือนท้องจะผูกไม่ยอมถ่ายเลย (ทานนม 2 อาทิตย์) ก็เลยให้กลับมาทานนมแบบปกติ แต่พอกลับมาทานแบบปกติก็กลับมาถ่ายเหลวอีก ช่วยหาทางแก้ไขให้ทีค่ะ กลัวว่าลูกจะไม่โตเต็มที่ เพราะถ่ายบ่อย
หมอตอบ เนื่องจากประวัติที่ได้มีรายละเอียดค่อนข้างน้อยมาก เราไม่ได้การวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นการถ่ายเหลวแบบไหน เริ่มถ่ายตั้งแต่อายุเท่าไร เป็นนานเท่าไร ลักษณะอุจจาระเป็นอย่างไร มีผลต่อการเจริญเติบโตหรือไม่อย่างไร และ เหตุผลของการเปลี่ยนนม ประวัติเหล่านี้สำคัญมากในการวินิจฉัยสาเหตุของการถ่ายเหลว อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ผมจับได้ก็คือ น้องมีอาการถ่ายเหลวดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนนม เป็นชนิดสำหรับเด็กท้องเสีย ซึ่งเป็นนมที่ปราศจากน้ำตาลแลกโตส และมักเป็นนมถั่วเหลือง นั่นหมายความว่า น้องน่าจะมีปัญหาเรื่องของการดูดซึมน้ำตาลแลกโตส หรือไม่ก็เป็นปัญหาของการแพ้โปรตีนในนมวัว โดยเฉพาะประการสุดท้ายนั้น อาจจะพบอาการอื่นๆร่วมด้วยได้ เช่น เป็นผื่นบ่อย เป็นหวัดบ่อย หอบหืด ท้องเสีย ถ่ายมีเลือดปน หรือแม้แต่กระทั่งท้องผูกก็ยังเป็นได้ ลักษณะอุจจาระที่เป็นฟอง น้ำและเนื่ออุจจาระแยกกันอย่างชัดเจน บริเวณรอบรูก้นของน้องมีลักษณะแดงมากๆ เป็นลักษณะที่สำคัญที่ช่วยให้แพทย์ทราบว่า เด็กไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลแลกโตสในนมได้ ซึ่งเรามักจะพบได้บ่อยต่อจากภาะถ่ายเหลวเฉียบพลัน การตรวจสารบางอย่าง และ ความเป็นกรดของอุจจาระก็จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ การถ่ายเหลวจากสภาวะนี้ เด็กมักจะดูค่อนข้างสบาย วิ่งเล่นได้ เนื่องจากไม่ใช่การติดเชื้อเฉียบพลัน แต่ก็อาจจะเพลียจากภาวะขาดน้ำได้
กรณีของน้องนั้นผมคงไม่สามารถให้การวินิจฉัยจากข้อมูลที่ได้มาได้ กรณีที่แยกโรคในกลุ่มแพ้โปรตีนนมวัวออกไปได้ ก็แนะนำให้กินนมสำหรับเด็กท้องเสียเดิมนั้นนานอย่างน้อย 3 – 5 สัปดาห์เพื่อให้ผนังลำใส้ฟื้นตัว ร่วมกับการกินอาหารเสริมตามปกติ เช่นข้าวบด หรือ โจ๊ก ตามปกติ จนกระทั่งอุจจาระเป็นปกติดีนานต่อเนื่องกัน แล้วค่อยๆเริ่มนมเดิมที่เคยกินแบบเจือจางก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มความเข้มข้นเป็นปกติหากไม่มีอาการใดๆ ในการนี้ผมแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ประจำตัว เพื่อรับทรายถึงการวินิจฉัยโรคก่อน และปฏิบัติตามคำแนะนำภายการดูแลและรับรู้จากแพทย์ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับน้อง ทุกข้อมูลไม่ว่าจะเป็นอาหารที่กินทุกอย่าง ประวัติเจ็บป่วย ประวัติการเจริญเติบโตตั้งแต่แรกคลอด และที่สำคัญคือลักษณะอุจจาระ จะเป็นประโยชน์มากสำหรับกุมารแพทย์ผู้ดูแลน้องที่จะวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม
ถ้าหากน้องมีน้ำหนักและส่วนสูง (ความยาว) ที่ผิดไปจากเกณฑ์ปกติ ผมแนะนำให้รีบปรึกษากุมารแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องลองทำตามที่ผมได้แนะนำไป อย่าลืมว่าทุกเวลาที่ผ่านในช่วงอายุ 4 – 5 ขวบปีแรกนั้นมีความหมายมาก การมีปัญหาทางร่างกาย หรือการเจ็บป่วยบ่อยๆ ที่ต่อเนื่องยาวนาน จะมีผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก ดังนั้นควรช่วยกันทำนุบำรุงศักยภาพของน้องเพื่อพัฒนาให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพต่อไป
หมอสมฤทธิ์
คลินิกสุขภาพเด็ก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)