© 2017 Copyright - Haijai.com
ถามแม่ สวัสดีคะดิฉันมีเรื่องที่อยากจะปรึกษาคะ คือดิฉันได้จดทะเบียนหย่ากับสามีไปแล้ว และลูกชายก็อยู่กับดิฉันมาตลอด ดิฉันให้ความรัก ความอบอุ่นกับลูก ดิฉันกับลูกมีความสุขมาก ลูกไม่ได้ดูเป็นเด็กมีปัญหาหรือขาดอะไร จนมาเดือนที่แล้วหลังจากที่สามีไปแต่งงานใหม่ก็ 3 ปีแล้ว ลูกอยู่กับดิฉันมาตั้งแต่เกิด (สามีหย่ากับดิฉันตอนลูกอายุ 1 ขวบ) อดีตสามีบอกว่าจะมารับลูกไปอยู่ด้วยกับเขา แต่ดิฉันไม่ยอม เพราะที่ผ่านมาอดีตสามีไม่เคยส่งเสีย หรือรับผิดชอบค่าเลี้ยงดูลูกเลย พอรู้ว่าดิฉันไม่ยอมจึงทำให้เขาโกรธมาก และบอกว่าจะฟ้องเอาลูกมาเลี้ยง ดิฉันจึงอยากทราบว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่อดีตสามีจะได้ลูกไปเลี้ยง เพราะดูลูกก็ไม่รู้สึกคุ้นเคยกับพ่อของเขา และพอจะมีทางออกให้ดิฉันมั้ยคะ เพราะดิฉันกลัวว่าลูกต้องกลับไปอยู่กับอดีตสามีจริงๆ
แม่ตอบ ในกรณีนี้นะคะ เข้าใจว่าถึงแม้คุณแม่จะจดทะเบียนหย่าจากสามีแล้ว แต่คงไม่ได้มีการตกลงกันเกี่ยวกับอำนาจในการปกครอง หรือหน้าที่ในการออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ซึ่งในทางกฎหมายย่อมถือว่าได้ ทั้งคุณแม่และคุณพ่อ (อดีตสามี) ยังคงมีอำนาจปกครองบุตรและหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรอยู่ด้วยกันทั้งคู่ ค่ะ
ดังนั้นการที่อดีตสามีของคุณจะขอรับลูกไปอยู่ด้วยและการที่บอกว่าจะฟ้องเอาลูกมาเลี้ยงก็อาจจะทำได้ค่ะ แต่หากคุณแม่ไม่ต้องการจะให้ลูกไปอยู่กับอดีตสามีหรือพูดอีกอย่างว่าต้องการจะมีอำนาจปกครองดูแลลูกแต่เพียงคนเดียว คุณแม่ก็จะต้องฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้เฉพาะคุณแม่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งในการพิจารณากำหนดอำนาจปกครองบุตรนั้น โดยปกติศาลก็จะดูจากความสามารถในการดูแลบุตร การให้การศึกษาอบรม โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของลูกเป็นสำคัญ แต่จะไม่นำความประพฤติปฏิบัติในอดีตที่ทำให้เกิดเหตุฟ้องหย่ามาประกอบ เว้นแต่ความประพฤติปฏิบัตินั้นจะกระทบต่อความผาสุกและประโยชน์โดยตรง (ซึ่งคุณแม่ก็อ้างได้จากข้อเท็จจริงในการที่คุณแม่เป็นผู้เลี้ยงดูลูกตลอดเวลาที่ผ่านมาแต่ผู้เดียว)
ส่วนหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นเป็นคนละเรื่องกันกับอำนาจในการปกครอง ซึ่งคุณแม่อาจจะขอให้ศาลสั่งให้อดีตสามีช่วยค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ด้วย (ถ้าต้องการจะเรียกนะคะ) และยังอาจเรียกย้อนหลังไปถึงวันหย่าเลยก็ได้ แต่ต้องฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ออกค่าเลี้ยงดูแล ซึ่งจำนวนในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ศาลจะดูจากพฤติการณ์ รายได้หรือฐานะของอีกฝ่ายหนึ่งหรือความจำเป็นของเด็กด้วย
อย่างไรก็ตามแม้ศาลจะสั่งให้อำนาจปกครองบุตรอยู่ที่คุณแม่เพียงผู้เดียวแล้วก็ตาม แต่อดีตสามีคุณซึ่งเป็นคุณพ่อของเด็กก็ยังมีสิทธิที่จะติดต่อกับลูก หรือพาลูกไปเที่ยวหรือพาไหนมาไหนได้ตามสมควรนะคะ คุณแม่จะไปห้ามเด็ดขาดไม่ให้คุณพ่อมาพบคุณลูกเลยไม่ได้ สิทธิการติดต่อระหว่างบุตรกับบิดามารดาเป็นสิทธิขั้นมูลฐานของบิดามารดาและของเด็กค่ะ เพราะความเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้ค่ะ
ผช.ดร.ปรีณา ศรีวนิชย์
ผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)