
© 2017 Copyright - Haijai.com
การเข้าใจวิธีการคิด และความรู้สึกของเด็ก
เรามาว่ากันด้วยเรื่องของก้อนอิฐก้อนที่ 3 ค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องของการเข้าใจวิธีคิด และเข้าใจความรู้สึกของเด็ก คุณจะได้เรียนรู้วิธีที่จะไปให้ถึงเป้าหมายของการเลี้ยงดูลูก โดยการให้ความอบอุ่นและแนวทางที่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการของลูก
ความเข้าใจเจ้าตัวน้อยนั้น แบ่งได้เป็นตามช่วงวัยดังนี้
• วัยแรกเกิดถึง 6 เดือน เป็นชีวิตใหม่ที่เพิ่งลืมตามาดูโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่พ่อแม่จะต้องให้ความอบอุ่น แก่ลูกในวัยนี้ให้มากเป็นพิเศษ ลูกจะต้องการการโอบกอดมากที่สุด การโอบกอดลูกเป็นสิ่งสำคัญต่อความสัมพันธ์ของท่านกับลูกมาก หากลูกรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่กับท่าน เขาก็จะไม่กลัวที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เมื่อเวลานั้นมาถึง
• วัย 6 ถึง 12 เดือน ในวัยนี้ลูกจะร้องน้อยลง และยิ้มมากขึ้น ถือเป็นงานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของพ่อแม่ในระยะนี้ ก็คือการพยายามทำให้ลูกไว้วางใจในตัวพ่อแม่ให้ได้ เพราะลูกจำเป็นต้องรู้ว่าท่านจะอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา สิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้ก็คือเด็กทารกจะเริ่มพูด ในตอนแรกเขาอาจส่งเสียงอ้อแอ้ การโต้ตอบกับเสียงและคำพูดแรกๆ ของลูกเป็นการกระตุ้นการสร้างรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับลูกที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การสื่อสาร นั่นเอง
• วัย 1 ถึง 2 ปี วัยนี้เป็นเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง! ในระยะนี้ ลูกของท่านจะเริ่มหัดเดิน และจะมีการ “เรียนรู้ภาษาแบบติดจรวจ” ในช่วงระยะนี้จึงเป็นโอกาสที่จะเพิ่มคำศัพท์ต่างๆ ให้ลูกและทำให้เขารักที่จะเรียนรู้ภาษาสิ่งสำคัญที่พ่อแม่จะต้องทำในตอนนี้คือ พูดคุยกับลูก อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ฟังเวลาลูกพูด ตอบคำถามต่างๆ ของลูก งานของท่านก็คือการส่งเสริมความรู้สึกเป็นอิสระของลูกที่กำลังเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ
• วัย 2 ถึง 3 ปี ในระยะนี้ท่านอาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมบางอย่างของลูกที่อาจทำให้ท่านกังวลใจ แต่ที่จริงแล้วมันเป็นเพียงสัญญาณของความเข้าใจต่อโลกรอบตัวของลูกเท่านั้น ที่มักแสดงออกมาในรูปของความกลัวต่างๆ งานที่สำคัญที่สุดของพ่อแม่ในระยะนี้ก็คือการเคารพความรู้สึกของลูก
เมื่อเข้าใจถึงวิธีคิดและความรู้สึกของเด็กในวัยต่างๆ แล้ว พ่อแม่ก็จะมีความพร้อมมากขึ้นที่จะโต้ตอบกับ
สถานการณ์ที่ท้าทายในลักษณะที่เป็นเชิงบวกและสร้างสรรค์ ความรู้ดังกล่าวนี้เป็นรากฐานให้พ่อแม่แก้ปัญหาได้ดีขึ้นแทนที่จะมีเพียงปฏิกิริยาโต้ตอบกับปัญหาเฉพาะหน้า ท่านก็จะสามารถคิดได้ว่าพฤติกรรมของลูกมีความหมายอย่างไร เมื่อเราเข้าใจว่าเขากำลังทำในสิ่งที่เขาจำเป็นต้องทำเพื่อที่จะเติบโตเข้าสู่วัยต่อไป เราก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะตอบสนองลูกด้วยข้อมูล และความช่วยเหลือที่ลูกต้องการได้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)