Haijai.com


พาลูกไปเที่ยว


 
เปิดอ่าน 1154
 

พาลูกไปเที่ยว

 

 

ใกล้ช่วงเทศกาลแล้ว บรรยากาศวันหยุดยาวๆ  คงชวนให้คุณพ่อคุณแม่อยากปล่อยวางความสับสนแตกแยกของผู้คนในสังคม  แล้วพาเจ้าหนูไปท่องเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศกันบ้าง การท่องเที่ยวให้คุณค่าการเรียนรู้กับเด็กๆ มากมายค่ะ

 

 

แม้ว่าการท่องเที่ยวอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างสำหรับทารกขวบปีแรกๆ เพราะหนูน้อยยังป้อแป้  ต้องการการดูแลใกล้ชิด  กินบ่อย  ถ่ายบ่อย  และบอบบางต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว  พ่อแม่จึงอาจรู้สึกว่าการเดินทางขลุกขลักมากกว่าสนุกสนาน  หากไม่ใช่ขาลุยตัวจริง  หลายคนจึงมักเลือกใช้เวลาสาละวนดูแลเจ้าตัวเล็กที่บ้าน  หรือพาไปพักผ่อนหย่อนใจช่วงสั้นๆ ในระยะทางใกล้ๆ มากกว่า

 

 

แต่เมื่อหนูน้อยของเราเริ่มสื่อสารได้  เดินคล่อง  วิ่งทนและสนุกกับสิ่งแปลกใหม่รอบตัว นั่นก็หมายถึงสัญญาณความพร้อมของเจ้าหนูที่จะเปิดประตูการเรียนรู้ด้วยการท่องเที่ยวแล้วค่ะ

 

 

เจ้าหนูวัยเตาะแตะมักเห็นการท่องเที่ยวเป็นโอกาสยิ่งใหญ่ของความสนุกสนาน  และด้วยแรงดึงดูดจากความสนุกสนานนี้เอง ที่เจ้าหนูจะสนอกสนใจต่อการแต่งเติมมิติของประสบการณ์ความรู้ จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากจินตนาการของนิทาน  หรือหนังสือที่พ่อแม่เคยถ่ายทอดให้รับรู้

 

 

หนูน้อยเคยรับรู้เรื่องราวจากมิติของการฟังหรือการมองรูปภาพเท่านั้นจากที่พ่อแม่อ่านหนังสือเรื่องทะเลให้ฟัง  แต่การท่องเที่ยวช่วยให้เกิดการรับรู้ของประสาทสัมผัสครบแทบทุกมิติพร้อมกัน

 

 

หนูๆ จะได้สัมผัสกับพื้นทรายนุ่มเท้า  รับรู้ได้ถึงแสงแดดอบอุ่น  ได้ยินเสียงหัวเราะแทรกแซมด้วยเสียงซ่าซัดของเกลียวคลื่น  สูดกลิ่นอายและมองเห็นความเบิกบานในบรรยากาศทะเลอย่างครบถ้วน

 

 

ความอ่อนโยนจากธรรมชาติค่อยๆ ถักทอในจิตใจของหนูน้อย  พร้อมกับความเฉลียวฉลาดจากจินตนาการที่เปิดกว้างก็พัฒนาต่อเนื่องไปอย่างงดงาม เป็นความลงตัวของการเติบโตทั้งทางสติปัญญาและอารมณ์ที่ประมาณค่ามิได้ ในช่วงที่เจ้าหนูเข้าสู่วัยก่อนอนุบาล  การท่องเที่ยวจะเริ่มกลายเป็นเหมือนห้องทดลองขนาดใหญ่

 

 

หนูน้อยจะเริ่มเรียนรู้ความเป็นเหตุเป็นผลจากปรากฏการณ์มากมายขณะท่องเที่ยว การไหลลงจากที่สูงสู่ที่ต่ำของน้ำตก การกระทบหรือการเคลื่อนไหวจากน้ำทำให้เกิดเป็นเสียงเซ็งแซ่ หรือแม้แต่ละอองไอของน้ำที่ต้องแสงแดดจนมองเห็นเป็นเกล็ดสีรุ้งงดงาม ต้นไม้ ดอกไม้รอบตัวที่มีลักษณะเหมือนหรือแตกต่าง  ด้วยวัตถุประสงค์แยบยลที่ธรรมชาติจัดวางไว้ให้

 

 

ยิ่งถ้ามีคุณพ่อคุณแม่ช่างเล่าช่างคุยแล้วละก็ นักวิทยาศาสตร์หรือกวียิ่งใหญ่ในอนาคต  ก็มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่เจ้าตัวเล็กช่างเจื้อยแจ้วเจรจาข้างกายคุณพ่อคุณแม่นี่เอง

 

 

เมื่อเจ้าตัวเล็กของเราเติบโตจนเข้าสู่รั้วโรงเรียน  การท่องเที่ยวอาจเป็นประเด็นที่มีข้อจำกัดมากขึ้นในเรื่องของเวลา  เพราะจะต้องมีความลงตัวจากเวลางานของคุณพ่อคุณแม่  และไม่ควรกระทบกระเทือนต่อตารางเรียนของเจ้าตัวเล็กด้วย เพราะทั้งวัยอนุบาลและวัยเรียนนั้น  ต้องเข้าใจเรื่องของกฎเกณฑ์สังคมและวินัยเพิ่มขึ้น

 

 

ซึ่งหากรู้จักใช้เรื่องนี้ในมุมบวก  กลับยิ่งเป็นผลดีต่อเจ้าตัวเล็กในเรื่องของการฝีกความคิด เพราะนี่เป็นโอกาสของการวางแผนการท่องเที่ยวร่วมกับคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง

 

 

เด็กๆ ยังสามารถรับรู้เพิ่มเติมได้อีกว่า นอกเหนือจากเรื่องของเวลาแล้ว การวางแผนยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งเรื่องของสถานที่  ระยะทาง  ฤดูกาล ค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ  แผนการดีๆ แบบนี้ จะช่วยให้ช่วงเวลาสั้นๆ ของการท่องเที่ยวนั้น  ตอบสนองทั้งการเรียนรู้และความสุขของสมาชิกครอบครัวทุกคนได้มากที่สุด

 

 

การวางแผนร่วมกับคุณพ่อคุณแม่  ยังมีเกร็ดเล็กน้อยที่เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการอีกหลายด้าน เช่น การช่วยให้เจ้าตัวเล็กรู้จักคาดการณ์ล่วงหน้า  และเพิ่มทักษะการบริหารจัดการในการเชื่อมโยงหรือเรียงร้อยจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยเกี่ยวข้อง  นอกจากนี้ยังมีผลให้เด็กๆ รู้จักแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกครอบครัว  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา  และมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ด้วย

 

 

เมื่อลูกเติบโตมากขึ้น มีความพร้อมจากวุฒิภาวะทางวัยสูงขึ้นจนพร้อมต่อการดูแลตัวเอง พ่อแม่ควรสนับสนุนให้เจ้าตัวเล็กเรียนรู้การจัดกระเป๋าเดินทางของตัวเองด้วย  เพราะงานน่ารักๆ นี้สามารถนำไปสู่การจูงใจให้เด็กๆ พยายามจัดกระเป๋านักเรียนของตนเองได้อย่างต่อเนื่องและภูมิใจ

 

 

ถึงแม้การจัดกระเป๋าเดินทางในครั้งแรกๆ  อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่  ต้องหงุดหงิดบ้าง หรืออมยิ้มบ้างกับ  “ของจำเป็น”  ที่เจ้าตัวเล็กอยากพาไปเที่ยวด้วย จนเกิดเป็นเรื่องเล่าหรือความทรงจำสวยงามของครอบครัวตราบนานเท่านาน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรปล่อยให้เหตุการณ์ความประทับใจนี้ มีที่อยู่แค่ในความทรงจำเท่านั้นนะคะ เราสามารถเริ่มฝึกเจ้าตัวเล็กของเราให้เก็บถนอมภาพสดใสเหล่านี้ไว้ด้วยกล้องถ่ายรูปหรือวิดีโอด้วยค่ะ

 

 

เทคโนโลยีที่ใช้ง่ายและราคาไม่แพงเหล่านี้สามารถทำให้เจ้าตัวเล็กภาคภูมิใจหนักหนากับการเป็นช่างภาพประจำครอบครัวและฝึกความรับผิดชอบในการดูแล “อุปกรณ์ช่างภาพ” ของตนเองภายใต้การกำกับดูแลด้วยรอยยิ้มและความชื่นใจของพ่อแม่

 

 

ในช่วงวัยนี้  เด็กๆ อาจสนุกยิ่งขึ้น  หากพ่อแม่สามารถรวบรวมสมัครพรรคพวกหรือญาติมิตรไปเที่ยวด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น  ขณะที่ผู้ใหญ่บันเทิงกับการสังสรรค์พูดคุย เด็กๆ ก็สามารถเป็นเพื่อนเล่นกันเองพร้อมกับเรียนรู้การปรับตัวกับกลุ่มเพื่อนในสถานการณ์แตกต่าง 

 

 

การพักผ่อนหย่อนใจรูปแบบนี้  จึงช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกัน และยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้เข้าถึงรายละเอียดของทักษะทางสังคมของลูกอย่างแท้จริง

 

 

ก็การท่องเที่ยวมีคุณค่ามากมายถึงเพียงนี้ ต่อให้ต้องลงทุนลงแรงและใช้เวลาบ้าง คุณพ่อคุณแม่ก็คงไม่ลังเลที่จะทุ่มเทจัดสรรให้เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของลูก และครอบครัวที่เรารัก ใช่ไหมคะ

 

 

พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์

(Some images used under license from Shutterstock.com.)