
© 2017 Copyright - Haijai.com
Non-Violent of Parenting เลี้ยงเด็กยุคใหม่ ต้องใช้สันติวิธี
ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งของบ้านเมือง ทางออกหนึ่งของการแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายออกมาพูดถึง และคุณพ่อคุณแม่หลายครอบครัวน่าจะได้ยินกันมาบ้าง นั่นก็คือเรื่องของ “สันติวิธี” ค่ะ ฟังเพียงแค่ชื่อก็น่าจะพอเดาได้แล้วว่าสันติวิธี ต้องเป็นวิธีที่สันติ วิธีที่ปราศจากความรุนแรง แม้ว่าเหตุการณ์บ้านเมืองจะเหนือการควบคุมของเรา แต่จากเหตุการณ์นี้เราในฐานะพ่อแม่ก็น่าจะได้เรียนรู้อะไรบางสิ่ง อย่างน้อยๆ ก็น่าจะรู้ว่า ความรุนแรงไม่เคยให้ผลดีกับใคร
สันติวิธี = การเลี้ยงลูกเชิงบวก
ในทางการเมืองเราเรียกการไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาว่าสันติวิธี (Non-Violence) ในการเลี้ยงลูก เราเรียกวิธีการนี้ว่าการเลี้ยงลูกเชิงบวก (Positive Parenting) ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อคุณพ่อคุณแม่เข้าใจธรรมชาติของลูก และใช้เหตุผลในการเลี้ยงลูก แทนการใช้อารมณ์ค่ะ ปัจจุบันความรุนแรงยังเป็นสิ่งที่พบได้ในหลายๆ ครอบครัว โดยเฉพาะการตี และการระเบิดอารมณ์ใส่ลูก ว่าลูกด้วยคำพูดแรงๆ โดยไม่ทันคาดคิดว่าผลของการกระทำนั้นจะส่งผลต่อลูกน้อยอย่างไรบ้าง
เด็กๆ วัย 1-3 ปี เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มพบความขัดแย้ง บอกให้ลูกไปนอน ลูกก็จะบอกว่าหิวน้ำ พอให้ดื่มน้ำ ลูกก็ปวดฉิ่งฉ่อง เจ้าตัวเล็กมีข้อต่อรองไม่จบสิ้น บอกว่าอย่า ก็ยังทำ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเด็กๆ กำลังเรียนรู้ขอบเขตอำนาจของตน หากคุณพ่อคุณแม่ใช้อารมณ์ นั่นเท่ากับว่า คุณกำลังเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นว่าการระเบิดอารมณ์เป็นสิ่งที่กระทำได้ และหากคุณตีลูก นั่นก็หมายความว่า การตีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เช่นกัน
4 เหตุผลของคนตีลูก
เหตุผลที่ 1 “การตีเป็นวิธีจัดการพฤติกรรมของลูกให้ดีขึ้น”
จริงๆ แล้วการลงโทษเด็กวัยนี้ด้วยการตี จะเป็นการระงับพฤติกรรมได้เพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้นค่ะ การปรับพฤติกรรมลูกด้วยวิธีอื่นเช่น พูดคุยให้เข้าใจ หรือเวลานอก (time-out) แม้พ่อแม่อาจจะเหนื่อยกว่าที่ต้องอธิบาย แต่ก็จะได้ผลในระยะยาว และไม่ส่งผลเสียเท่ากับการตีลูกด้วย ในทางกลับกันการตีลูกยังอาจทำให้พฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยแย่ลงกว่าเดิมด้วย งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดย Straus, Sugarman, & Giles-Sims พบว่าเด็กๆ จะโดนตีมากขึ้น หากแสดงพฤติกรรมไม่สนใจสังคม เช่น ไม่ขอบคุณเพื่อนบ้าน หรือทำให้พ่อแม่อับอายต่อหน้าเพื่อนๆ และยิ่งเด็กๆ โดนตีมากเท่าไร เขาก็จะเรียนรู้ว่าการตีเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และเติบโตมาพร้อมกับความคิดที่ว่า ไม่เห็นเป็นไรหากเราจะตบตีคนที่อ่อนแอกว่า
เหตุผลที่ 2 “ฉันก็โดนตีตอนเด็กๆ แต่ก็เติบโตมาโอเค”
การโดนตีเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์ และผู้ใหญ่อย่างเราๆ มักจะเลือกจดจำแต่สิ่งดีๆ ในวัยเด็ก แต่กระนั้นหากคุณเคยโดนลงโทษด้วยการตีหนักๆ ความรู้สึกนี้ก็จะฝังลึกอยู่ในจิตใจ แม้ว่าคุณจะไม่ได้นึกถึงมันบ่อยๆ ก็ตาม คุณอาจเคยคิดว่า “ฉันก็สมควรโดนตีแล้วล่ะ” แต่ในใจหนึ่งคุณก็อาจยังสงสัยว่าทำไมต้องโดนตีด้วย พ่อแม่ที่รักเราตีเราได้อย่างไร งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การตีลูกแม้เพียงแค่เสี้ยววินาที จะส่งผลต่อความรู้สึกซึมเศร้าเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เด็กที่ถูกตีเติบโตไปมีพฤติกรรมก้าวร้าว และทำร้ายคู่ชีวิตหรือคนที่อ่อนแอกว่า อย่างไรก็ตาม ถือเป็นโชคดีของพวกเราส่วนใหญ่ ที่แม้จะโดนตี แต่ก็เติบโตมาไม่ใช้ความรุนแรง
เหตุผลที่ 3 “หากเราไม่ตี ลูกก็จะเสียเด็ก”
เด็กๆ ใน นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ออสเตรีย ฟินแลนด์ และอีก 20 กว่าประเทศ ไม่เคยถูกทำโทษด้วยการตี ไม่ว่าจะที่บ้าน หรือที่โรงเรียน เพราะการตีเด็กเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศเหล่านี้ หรือหากมี ก็เป็นอัตราที่น้อยมาก ที่น่าสังเกตคือ อัตราของเด็กที่ถูกตีน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาเสียอีก Dr. Joan Durrant ผู้เขียนคู่มือการสร้างวินัยเชิงบวก ได้เปิดเผยผลการวิจัยในปี ค.ศ.2000 พบว่า เด็กๆ ในสวีเดน ที่ไม่เคยถูกตี มีชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ Prof.Adrienne Haeuser ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับกฏหมายการศึกษาในยุโรป พบว่าหลังจากกฏหมายห้ามตีเด็กออกมา พ่อแม่ใช้เวลาฝึกระเบียบวินัยลูกด้วยการพูดคุยด้วยเหตุผลมากขึ้น เด็กๆ ที่ไม่ถูกตี สามารถเป็นเด็กที่ดีได้ ด้วยการฝึกระเบียบวินัย ซึ่งพ่อแม่มีหน้าที่สอนลูกอย่างจริงจังต่อเนื่อง หากลูกจะเสียเด็ก ไม่ได้เป็นเพราะว่าคุณไม่ตี แต่เป็นเพราะคุณไม่สอนเรื่องวินัย และไม่ใช้เหตุผลกับลูกต่างหาก
เหตุผลที่ 4 “โบราณว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”
การตี เป็นวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกที่อยู่คู่พ่อแม่ชาวไทยมายาวนานค่ะ หนำซ้ำยังมีสุภาษิตสนับสนุนอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงยุคสมัยนี้ที่มีผลศึกษาวิจัยมากมายที่บอกถึงผลเสียของการทำโทษลูกด้วยการตี สุภาษิตนี้ยังอาจไม่ได้ผิดเสียทีเดียว หากคุณทำความเข้าใจคำโบราณนี้เสียใหม่ ไปพร้อมๆ กับเรา เพราะรักวัวให้ผูก น่าจะหมายความถึงการใส่ใจ หากคุณไม่ต้องการให้วัวเดินหายไปไหนต่อไหน คุณก็ต้องใส่ใจที่ผูกมันไว้ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง รักลูกให้ตี ก็คงไม่ต่างอะไรเช่นกัน หากคุณต้องการให้ลูกเป็นคนดี การตี ก็น่าจะหมายความถึงการใส่ใจดูพฤติกรรมของลูก อะไรที่ไม่เหมาะสม ก็ปรับเสียให้ถูกต้อง ด้วยการสอน การบอก และเป็นตัวอย่างที่ดีนั่นเองค่ะ
สันติวิธี คือ วิธีจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง และเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดผลเสียน้อยที่สุดทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ทำโทษได้ ไม่ต้องตี
• ให้ทางเลือก หากเจ้าตัวเล็กละเลงข้าวเต็มโต๊ะอาหาร ห้ามแล้วไม่หยุด ลองเสนอทางเลือกว่า จะหยุดละเลงข้าว หรือจะเลิกกินแล้วลุกออกจากโต๊ะ เด็กๆ วัยนี้ชอบรู้สึกว่าเขาควบคุมสถานการณ์เองได้ ดังนั้นการเสนอทางเลือกจะทำให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้
• สอนผลลัพธ์ หากลูกทำน้ำหกเลอะพรมผืนใหม่ แล้วคุณตีลูก เด็กๆ จะเรียนรู้ว่าเขาผิด และครั้งต่อไปหากเขาพลาดอีก เขาจะต้องไม่บอกแม่เพราะเดี๋ยวจะโดนตี แต่หากคุณสอนลูกว่า “ลูกจะต้องระวังมากกว่านี้ และหากทำน้ำหกลูกคิดว่าต้องทำอย่างไร” ฝึกให้เจ้าตัวน้อยได้คิด เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่หากเกิดขึ้นแล้วเขาก็ต้องรับผิดชอบ
• ให้โอกาส หากลูกทำผิดกฏเกณฑ์หรือข้อตกลง เช่น แอบกินขนมหวาน แทนที่จะตี ลองให้โอกาสลูกอีกครั้ง สอนลูกว่าการรักษาคำพูดสำคัญอย่างไร หากลูกทำอีก คุณอาจใช้วิธีการลงโทษอื่นเช่น งดขนมที่ลูกชอบ หรืองดการไปเที่ยวสุดสัปดาห์
(Some images used under license from Shutterstock.com.)