© 2017 Copyright - Haijai.com
First Year Feeding Guide คู่มืออาหารวัยขวบปีแรก
เรื่องให้อาหารทารกนั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากค่ะ หลังจากผ่าน 6 เดือนแรกที่หนูน้อยกินแต่นมแม่เพียงอย่างเดียวไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มให้ลูกได้ลองอาหารชนิดอื่นๆ กันบ้าง ตอนนี้ล่ะค่ะที่อาจทำให้พ่อแม่มือใหม่หลายคู่เกิดความสับสน เพราะจะว่าไปทฤษฎีการเริ่มอาหารเสริมของลูกนั้นมีอยู่หลากหลาย บ้างก็ว่าต้องเริ่มด้วยกล้วยขูดก่อน บ้างก็ว่าควรให้ลูกกินข้าวบดกับผักก่อน อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละครอบครัวนะคะ ฉบับนี้เรามีแนวทางการให้อาหารเสริมอย่างง่ายๆ มาฝาก บ้านไหนจะนำไปใช้ตามนี้ หรือประยุกต์นิดหน่อย ก็ได้ทั้งนั้นค่ะ
หม่ำๆ คำแรกวัย 6 เดือน
พัฒนาการหลายๆ อย่างของลูกในวัยนี้จะทำให้คุณเห็นว่าลูกน้อยพร้อมสำหรับอาหารเสริมแล้ว เช่น เจ้าตัวน้อยจะเลิกใช้ลิ้นดุนน้ำนมที่เขาได้รับออกมาจากปาก เริ่มนั่งโดยมีคนช่วยจับหรือมีที่พิงได้ เริ่มหันศีรษะไปซ้ายขวา ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เห็นสัญญาณนี้ล่ะก็ อย่ารอช้าค่ะ เมื่อหนูน้อยอายุครบ 6 เดือน ธาตุเหล็กที่สะสมในร่างกายของลูกจะค่อยๆ หมดไป และร่างกายน้อยๆ ก็จะเริ่มต้องการพลังงานมากเกินกว่าที่น้ำนมเพียงอย่างเดียวจะให้ได้
คุณอาจเริ่มด้วยข้าวบดละเอียด ผสมน้ำหรือน้ำนมแม่ ลองป้อนให้เจ้าตัวน้อยด้วยคำเล็กๆ ก่อน อย่าคาดหวังว่าลูกจะกินจนหมดนะคะ ในครั้งแรกหนูน้อยอาจกินได้เพียง 2-3 คำ แต่ต่อๆ ไปลูกจะเริ่มกินได้มากขึ้นค่ะ ในช่วงวัยนี้ข้าวบดหรือกล้วยขูด ควรจะยังเป็นเพียงแค่อาหารเสริม โดยมีน้ำนมเป็นอาหารหลักอยู่ค่ะ
6 – 8 เดือน เริ่มกันผักแล้วจ้า
หลังจากเริ่มให้ลูกลองกินข้าวบดหรือกล้วยขูดไปได้สักระยะ คุณอาจเพิ่มผักในอาหารของลูก เพื่อให้หนูน้อยได้ลิ้มรสความหวานจากธรรมชาติ ซึ่งโดยทั่วไปผักสีเหลืองและสีส้ม จะมีความหวานมากกว่าผักสีเขียว ในขั้นตอนนี้บางตำราก็บอกว่า ไม่ควรให้ลูกได้ลิ้มรสกล้วยขูดก่อนที่หนูน้อยจะได้ลิ้มรสผัก เพราะจะทำให้เด็กๆ กินผักได้ยากขึ้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าคุณจะเลือกแบบใด การเริ่มให้หนูน้อยกินผักก็น่าจะเริ่มด้วยข้าวบดผสมแครอท แล้วค่อยๆ ปรับเป็นข้าวบดผสมผักโขม หากเจ้าตัวเล็กบ้วนออกมาในคำแรก คุณอาจจะหยุดพักแล้วลองใหม่ แต่อย่าหยุดความพยายามค่ะ หลังจากป้อนข้าวบดกับผักมาสักระยะแล้ว ค่อยๆ เพิ่มปริมาณผักจากเล็กน้อยให้กลายเป็น 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้งในที่สุด
ลูกน้อยวัยนี้สามารถเริ่มดื่มน้ำผลไม้ได้บ้างแล้ว แต่ไม่ควรแทนที่ผลไม้สดๆ ด้วยน้ำผลไม้ค่ะ ปริมาณน้ำผลไม้สำหรับหนูน้อยวัยนี้คือ ไม่ควรเกิน 4 ออนซ์ต่อวัน และควรเจือจางด้วยน้ำเปล่าครึ่งหนึ่งเสมอ งานวิจัยล่าสุดจากสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน แนะนำว่าน้ำองุ่นขาวจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอาการท้องร่วงและตะคริวได้
วัยอยากเคี้ยว 7 – 10 เดือน
กว่าหนูน้อยจะมาถึงช่วงนี้ เชื่อว่าเจ้าตัวน้อยคงมีความสุขกับการกินอาหารที่หลากหลายมากขึ้นแล้วนะคะ คุณอาจพบว่าลูกน้อยวัย 7 เดือนเริ่มหยิบอาหารจากจานของคุณมากิน ซึ่งนี่เองที่เป็นสัญญาณว่าลูกกำลังพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ขั้นต่อไปของพัฒนาการด้านการกิน คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกที่บ่งบอกว่าหนูน้อยเริ่มอยากแทะน่องไก่ หรือกินขนมปังปิ้งในชามของคุณแม่ และหากคุณยื่นอาหารเดิมๆ ให้ลูกน้อยก็อาจปิดปากสนิทแล้วเมินหน้าหนี
อาหารที่เหมาะสมสำหรับคุณหนูวัยอยากเคี้ยว น่าจะลองเริ่มจากขนมปังปิ้งฉีกเป็นชิ้นพอให้ลูกหยิบเข้าปากเองได้ รวมทั้งผลไม้นิ่มๆ ผักต้มให้พอนิ่ม แต่ควรระวังที่จะไม่ให้ลูกกินถั่ว ลูกเกด องุ่น ไส้กรอก เพราะสิ่งเหล่านี้อาจติดคอลูกได้ค่ะ
วัย 10-12 เดือน กินเองได้ ไม่มีเลอะ
เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 10 คุณจะพบว่าเจ้าตัวเล็กมีความกระตือรือร้นที่จะกินอาหารเองมากขึ้น และเพื่อป้องกันการเลอะเทอะ คุณอาจเลือกอาหารที่จะไม่ต้องทำความสะอาดมาก เช่น ข้าวไข่เจียวใส่ผัก หรือถ้าเป็นแกงจืดก็ราดน้ำแกงพอประมาณลงในข้าวของลูกเลย เพื่อไม่ให้หกเลอะเทอะ
เมื่อหนูน้อยอายุครบ 1 ปี ควรให้ลูกเริ่มดื่มนมจากแก้ว เด็กๆ สามารถกินอาหารได้หลากหลายเกือบเท่าผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดเมนูอาหารให้มีความครบถ้วนด้านโภชนาการ เพื่อให้หนูน้อยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เมื่อลูกสามารถจัดการกับการกินอาหารของตัวเองได้แล้ว ต่อไปคุณก็จะสามารถสอนเรื่องการเลือกแต่อาหารที่มีประโยชน์ ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก กินอาหารพร้อมหน้า กินอย่างถูกสุขลักษณะ และใช้เวลาเตรียมอาหารร่วมกันอย่างมีความสุข เพื่อสร้างเวลาอาหารให้เป็นเวลาแห่งความสุขของทุกคนในครอบครัว
ทุกครั้งที่คุณให้ลูกลองอาหารใหม่ๆ รออย่างน้อย 3 วัน ก่อนที่จะเริ่มอาหารชนิดอื่น เพื่อดูว่าลูกน้อยแพ้อาหารชนิดที่ได้ลองหรือไม่ หากลูกแพ้อาหารจะมีอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ท้องเสีย ผื่นขึ้น อาเจียนบ่อยๆ หรืองอแง เป็นต้น
Spoon Solutions
ขณะป้อนข้าวให้ลูกคุณคงเคยเจอปัญหาที่ว่าลูกน้อยเอื้อมมือมาคว้าช้อนที่คุณถืออยู่ จนทำให้ข้าวหกเรี่ยราด และป้อนข้าวให้ลูกยากกว่าเดิม วิธีแก้ปัญหาคือ นำช้อนพลาสติกเล็กๆ มาให้ลูกถือไว้อีกอัน แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน แต่ก็เชื่อว่าจะช่วยลดความก่อกวนของลูกได้มากทีเดียวคะ
Mealtime No-No ข้อห้าม ยามป้อน
แม้ว่าลูกน้อยจะยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง และกินข้าวด้วยตัวเองไม่ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกวินัยเรื่องการกินได้แล้วในวัยนี้ เพียงแค่อย่าทำในสิ่งต้องห้ามต่อไปนี้ ก็น่าจะทำให้ปัญหาการกินหมดไป และฝึกวินัยได้ง่ายขึ้น
Don’t ให้ลูกเล่นไปกินไป เพราะหนูน้อยอาจเชื่อมโยงการกินกับการเล่น ทำให้เมื่อถึงเวลากินจริงๆ หากไม่มีใครพาออกไปเดิน หรือไม่มีของเล่นให้เด็กๆ ก็จะไม่ยอมกิน กลายเป็นเด็กกินยากได้
Don’t ดูทีวีขณะกินข้าว การดูโทรทัศน์ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ นอกจากจะเป็นสิ่งที่กุมารแพทย์ส่วนใหญ่ไม่แนะนำแล้ว ก็ยังจะทำให้เด็กๆ เพลิดเพลินจนไม่รู้ว่าตัวเองอิ่มหรือไม่ ทำให้กินอาหารเยอะเกินความต้องการของร่างกายได้
Don’t ป้อนข้าวยืดเยื้อ คุณควรจำกัดเวลาป้อนข้าวลูกอยู่ประมาณ 30-45 นาที ต่อมื้อ หากลูกกินไม่หมด หรือกินน้อย ก็ไม่ควรฝืน เมื่อถึงเวลาก็ควรหยุดป้อน ไม่ควรป้อนข้าวลูกนานเป็นชั่วโมง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)