
© 2017 Copyright - Haijai.com
Baby Blues อาการเศร้าๆ ของคุณแม่หลังคลอด
ผู้หญิงทุกคนพอรู้ตัวว่าจะได้เป็นแม่ ก็คงรู้สึกเหมือนๆ กัน ว่าสุดแสนจะดีใจกับหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่นี้ ยอมทนทุกอย่างในการตั้งครรภ์ อะไรที่เขาว่าดีกับลูกน้อยเธอก็จะหามาเพื่อบำรุงทารกในครรภ์เพื่อให้ลูกนั้นออกมาสมบูรณ์ที่สุด แต่จะมีใครรู้บางว่าถ้าคลอดลูกออกมาแล้วจะต้องรับมือกับอะไรบ้าง และอาการอย่างหนึ่งที่คุณแม่หลังคลอดหลายคนนั้นต้องเผชิญกันคือ อาการซึมเศร้าหลังคลอด(Baby Blues) อาจจะเป็นเรื่องที่คุณแม่บางท่านรับมือได้ แต่ก็คงมีคุณแม่อีกหลายท่านที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้แต่ไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไร เราจะมีวิธีรับมือกับภาวะ Baby Blue แบบไหนดี ลองมาเรียนรู้ที่จะรู้จักกับเจ้าอาการที่ว่านี้ไปพร้อมๆ กันคะ
เศร้าจัง หลังคลอด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด พบได้ไม่บ่อยนักโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หลังคลอด โดยผู้เป็นแม่จะรู้สึกซึมเศร้า เหนื่อยอ่อน หมดหวัง ท้อแท้ โดยหาสาเหตุไม่ได้ แต่ก็เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่มีระดับฮอร์โมนเพศตกทันทีหลังคลอดคล้ายกับอาการซึมเศร้าก่อนมีรอบระดูในสตรีทั่วๆ ไป และก็เกิดจากภาระหน้าที่ต้องดูแลทารก ทำให้ไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ การอ่อนเพลียจากการเลี้ยงดูลูกก็ยิ่งทำให้ซึมเศร้าลงไปอีกหากคุณพ่อ หรือคนรอบข้างของคุณแม่พบว่าภรรยาของคุณกำลังตกอยู่ในอาการซึมเศร้านี้ ก็ควรที่จะหาทางแก้ไข หรือให้กำลังใจมากๆ พูดคุยด้วยมากๆ เพื่อไม่ให้คุณแม่นั้นเครียดมากเกินไป
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ถ้าคุณแม่รู้สึกเศร้าและอาการก็หายไปได้เองภายในไม่กี่วัน เรียกว่า อารมณ์เศร้าหลังคลอด(Postpartum Blues) ส่วนคุณแม่ที่มีอาการรุนแรงมากกว่าความเศร้า เช่น ท้อแท้ วิตกกังวล หรืออยากฆ่าตัวตายร่วมด้วย เรียกว่า โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) อย่างหลังจะต้องระวังให้มากและต้องได้รับการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด เพราะอาจจะลุกลามเป็นความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจได้
อารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum Blues) อารมณ์เริ่มแรกจะเป็นลักษณะของความสุข แต่มักจะแปรปรวนโดยมีภาวะนอนไม่หลับ ซึมเศร้าวิตกกังวล ฉุนเฉียวง่าย ไม่มีความสนใจ เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง อาการเหล่านี้จะอยู่เป็นช่วงเวลา เป็นครั้งหนึ่งอาจจะหลายชั่วโมง และจะดีขึ้นอย่างสมบูรณ์ แล้วเกิดขึ้นใหม่ได้ในวันรุ่งขึ้น อาการเหล่านี้มักเป็นน้อยๆ และอยู่ได้นาน 2-3 ชั่วโมง จนถึง 2-3 วัน
โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) อาการจะเป็นอยู่น้อยๆ หรือมากก็ได้ อาการนี้จะเป็นอยู่ได้เป็นวันๆ หรือทุกวัน อย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการซึมเศร้าหลังคลอดจะเริ่มภายใน 4 สัปดาห์หลังจากที่คลอดลูกแล้ว
ทำอย่างไร ให้คลายซึมเศร้า
หากคุณแม่รู้สึกว่ามีอาการซึมเศร้าหลังคลอด ให้ปรึกษาสูติแพทย์ หรือกุมารแพทย์ถึงอาการเหล่านี้ เพราะคุณหมอจะช่วยคุณแม่ได้ดีมากคะ และเราก็มีคำแนะนำเบื้องต้นที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้บ้าง
• อย่าเก็บความรู้สึกของคุณไว้ ให้พูดคุยกับสามี เพื่อนสนิท ญาติ หรือคุณแม่คนอื่นๆ บ้าง เกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังเผชิญอยู่
• อย่าพยายามทำสิ่งต่างๆ มากเกินไปในแต่ละวัน หากในวันหนึ่งๆ คุณทำสิ่งต่างๆ สำเร็จเพียงแค่สิ่งเดียว หรือกระทั่งทำอะไรไม่สำเร็จเลย ก็อย่าโกรธหรือโทษตัวเอง เพราะนี่เป็นเพียงก้าวแรกในการเรียนรู้ที่จะเป็นคุณแม่ ขอให้คุณค่อยๆ เรียนรู้ไปในแต่ละวันดีกว่าค่ะ
• ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง อย่าตั้งความหวังว่าคุณจะต้องเป็น Super Mom จงซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และรู้จักตัวเองมากพอว่าคุณทำอะไรได้บ้าง และคุณมีขีดจำกัดแค่ไหน เมื่อรู้สึกว่าสิ่งต่างๆ เริ่มมากเกินกว่าคุณจะรับมือได้ อย่ากลัวหรือรู้สึกผิดที่จะให้คนรอบข้างยื่นมือเข้าช่วย
• หาเวลาพักผ่อนให้กับตัวเอง เช่น เมื่อลูกหลับ ก็อาจหลับไปพร้อมๆ ลูก หรือทำในสิ่งที่คุณอยากทำ เช่น ดูโทรทัศน์ โทรศัพท์หาเพื่อนๆ ฯลฯ พยายามให้เวลากับตัวเองบ้างในแต่ละวัน แม้จะน้อยนิดเพียง 5 นาทีก็ตาม
• อย่ารู้สึกผิดที่คุณซึมเศร้า คุณอาจเขียนไดอารี่ บรรยาอารมณ์ และสิ่งที่คุณรู้สึกลงไป วิธีนี้จะช่วยทำให้คุณมองเห็นภาพรวมของความรู้สึกคุณได้ชัดเจนขึ้น และพบทางออกว่าจะรับมือกับความเครียดอย่างไร รวมทั้งคุณยังจะได้กลับมาอ่านทบทวน เพื่อเรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง และเป็นคุณแม่ที่ดีขึ้นได้อีกด้วย
สิ่งสำคัญคือ คุณแม่ควรที่จะทำความเข้าใจกับคนรอบข้างโดยเฉพาะคุณพ่อ ว่าเมื่อคุณคลอดลูกแล้ว จะมีอาการอย่างไรตามมาบ้าง ควรที่จะบอกอาการที่จะเกิดขึ้นให้คุณพ่อได้ทราบล่วงหน้าถึงอารมณ์ที่อาจแปรปรวนหลังคลอด เพราะถ้าทราบแล้วจะได้ช่วยกันตั้งรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น หากทั้งคุณแม่และคุณพ่อเข้าใจซึ่งกันและกันแล้วรับลองว่าปัญหาที่เกิดจะต้องมีทางแก้ไข และทางออกที่ดีแน่นอน แถมความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็จะเป็นไปในทางที่ดีคะ
สัญญาณบ่งบอกความรู้สึกซึมเศร้าหลังคลอด
• ตื่นตระหนกหรือหวั่นกลัว
• รู้สึกกังวลอยู่ตลอดเวลาเรื่องสุขภาพ และความปลอดภัยของตัวคุณเอง และคนรอบข้าง
• รู้สึกว่าคุณเป็นแม่หรือเป็นคนที่ไม่ดี
• รู้สึกหมดหวังตลอดเวลา
• ร้องไห้บ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุที่แท้จริง
• อยากนอนอยู่ตลอดเวลาแต่ไม่เคยรู้สึกว่าได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
• หลับยาก
• รู้สึกเหมือนกับว่าคุณต้องทำเป็น “ไม่กลัว” ต่อหน้าคนอื่นๆ
• ไม่สามารถพูดถึงการคลอดลูกได้หรือพูดเรื่องนี้ไม่หยุดเพราะรู้สึกควบคุมไม่ได้
• รู้สึกว่าชีวิตไม่มีค่าตั้งแต่คลอดลูก
• รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
• คิดว่าคุณไม่ผูกพันกับลูกหรือไม่มีความรู้สึกใดๆ กับลูก
• รู้สึกว่าตัวเองไม่สบาย เช่น เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด ปวดศีรษะ วิงเวียน เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ และแน่นท้อง
• ไม่รับรู้เรื่องเวลา และไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างสองสามนาทีกับสองสามชั่วโมง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)