
© 2017 Copyright - Haijai.com
Eye Emergency เมื่อตาดีๆ มีแผล
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ ดังนั้นการเตรียมพร้อม และรู้จักวิธีป้องกัน รับมือ จึงเป็นสิ่งสำคัญค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอุบัติเหตุเกิดกับอวัยวะที่บอบบางอย่าง “ดวงตา” ของลูกด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้เลยทีเดียว
สถานการณ์สมมติ
ในสนามเด็กเล่น ที่เด็กๆ กำลังวิ่งวุ่น สนุกสนานกันอย่างเต็มที่ น้องเนเน่กำลังยืนเข้าคิวรอเล่นไม้ลื่นอยู่ดีๆ จู่ๆ ลูกเทนนิสสีเขียวสด ก็พุ่งมาจากที่ไหนสักแห่งด้วยความแรงสูง กระแทกที่เบ้าตาของเนเน่เข้าเต็มเปา ความรู้สึกแรกที่น้องเนเน่รู้สึกคือมึนงง ตามมาด้วยความปวดตุ๊บๆ ที่เบ้าตา เสียงเด็กๆ โดยรอบส่งเสียงหือฮา ขณะที่น้องเนเน่ส่งเสียงร้องลั่นด้วยความเจ็บปวด
เมื่อตาช้ำ ทำอย่างไร
เมื่อลูกได้รับการกระแทกอย่างแรงบริเวณดวงตา คุณควรตรวจสอบดูว่าดวงตาของลูกถูกทำลายหรือไม่ เด็กโตสามารถจะบอกได้หากเขามองเห็นไม่ชัด คุณควรทำการทดสอบด้วยการปิดตาข้างหนึ่งของลูก แล้วทดสอบการมองเห็นของตาแต่ละข้าง สำหรับลูกน้อยวัยต่ำกว่า 5 ปี แม้ว่าอาการของลูกจะดูไม่รุนแรง แต่ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบคะ
• ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือนำก้อนน้ำแข็งมาห่อด้วยผ้าสะอาด ประคบบริเวณที่ช้ำทุกๆ ชั่วโมงครั้งละประมาณ 20 นาที เพื่อลดอาการช้ำ ทำอย่างต่อเนื่องประมาณ 4 ครั้ง
• หลังจากผ่านไป 48 ชั่วโมง ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ 10 นาที วันละ 3 ครั้ง เพื่อบรรเทาอาการเลือดคั่งในบริเวณที่บาดเจ็บ
พาลูกไปพบแพทย์ทันทีเมื่อ
• คุณคิดว่าลูกได้รับบาดเจ็บร้ายแรง
• มองเห็นภาพไม่ชัด หรือมองไม่เห็นเลย ด้วยตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง
• มองเห็นภาพซ้อน หรือเหลือกตาขึ้นด้านบนไม่ได้
• ลูกนัยน์ตาสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน หรือมีรูปทรงผิดไปจากปกติ
• มีเลือดหรือของเหลวสีเทาๆ บริเวณตาขาว
• วัตถุกระแทกดวงตาด้วยความเร็วสูง
• ของแหลมคมทิ่มดวงตา
• เปลือกตาเปิดขึ้น หรือเป็นแผลแตก
• มีน้ำตาเอ่อหรือน้ำตาไหลไม่หยุดตลอดเวลา
• ลืมตาไม่ได้
• ลูกอายุต่ำกว่า 1 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา
พบแพทย์ภายใน 24 ชม. ถ้า
• คุณคิดว่าอาการลูกไม่ดีขึ้น
• มีรอยช้ำรอบดวงตา เลือดออกบริเวณตาขาว หรือลูกอายุต่ำกว่า 5 ปี
6 ข้อ ถนอมสายตาของเจ้าตัวน้อย
1. อย่าปล่อยให้ลูกใช้สายตานานเกินไป คุณอาจชวนลูกคุย หรือไปเดินเล่นระหว่างที่เขาทำกิจกรรมต่างๆ ด้วย
2. จัดแสงสว่างบริเวณที่ลูกอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้มีแสงเพียงพอ
3. หากมีฝุ่นผงเข้าตา สอนให้ลูกล้างตาด้วยน้ำสะอาด แทนการขยี้ตา
4. เตือนให้ลูกหลีกเลี่ยงการจ้องมองแสงจ้า เช่น แสงอาทิตย์
5. อย่าให้ลูกใช้แว่นตา หรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่นเพราะอาจติดโรคได้
6. กินอาหารที่บำรุงสายตาเช่น ไข่ นม น้ำมันตับปลา ผัก และผลไม้สีเหลือง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)