© 2017 Copyright - Haijai.com
ดิน กับงานสร้างลูกให้เป็น ‘อริยะ’
ตอนลูกเริ่มหัดเดิน จำได้ว่าสิ่งแรกที่มาพร้อมๆ กันคือ รองเท้าคู่น้อยๆ ช่างเป็นอะไรที่จิ๋วๆน่ารักเหลือเกิน ซึ่งนอกจากจะต้องนิ่มสุดๆ กระชับเท้าแล้ว ยิ่งมีเสียง ปิ๊ดๆ หรือมีไฟแลบ แปล๊บๆ ด้วยแล้ว ช่างน่ารักจริงๆ และเสียงที่ลูกจะได้ยินทุกวันเวลาจะออกไปเดินเล่นนอกบ้านคือ ใส่รองเท้าก่อนจ้ะ เท้าน้อยๆของลูกคนเมืองจึงมักไม่ค่อยสัมผัสพื้นดินพื้นทราย เด็กเล็กๆบางคนไม่ยอมเอาเท้าแหย่ดิน ทรายหรือสนามหญ้าเลย เพราะแขยงเท้า แล้วทัศนคติเรื่อง “ดิน สกปรก” ก็ถูกบันทึกไว้ในสมองน้อยๆของลูก
ลูกสาวของดิฉันก็เช่นกันค่ะ ตั้งแต่เกิดมาเธอก็มีนิสัยรักสวยรักงามติดตัวมาแล้ว ตอนเธออายุประมาณ ๓ ขวบครึ่ง จำได้ว่าเธอใส่กระโปรงตัวสวยสีขาว(ก็วันพระใหญ่นี่คะ) ไปตักบาตรวันวิสาขบูชากันที่เสถียรธรรมสถาน วัฒนธรรมอย่างหนึ่งก่อนตักบาตรคือ คุณยายจ๋าจะชวนเด็กๆไปนั่งหน้าคณะแม่ชี และภาวนากับบทเพลงดั่งดอกไม้บาน ลูกสาวดิฉันก็ลุกไปจากแม่ด้วยความมั่นใจ แต่เอ๊ะ! ทำไมเธอไม่เห็นทำอะไรกับใครเขาเลย ที่ไหนได้ แม่ชีท่านหนึ่งมาเล่าอย่างขำๆว่า พอคุณยายจ๋าบอกให้เด็กๆเปลี่ยนจากท่านั่งยองๆเป็นนั่งก้นติดพื้น เธอก็มองที่พื้นหญ้าที่แฉะนิดหน่อยแล้วทำหน้าตาประมาณว่า “จะนั่งลงไปได้ยังไง สกปรกจะตาย” เธอก็เลยนั่งยองๆอย่างนั้นจนจบเพลง มือก็เลยยกทำท่าดอกไม้บานไม่ได้ ไม่งั้นก้นจะเสียหลักค่ะ . ดิฉันก็เลยได้สติว่า เวลาไปเที่ยวในธรรมชาติอย่าให้ลูกแต่งตัวสวย เพราะมันเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ดีว่าอนุบาลที่เธอเรียนอยู่มีวัฒนธรรมว่าเด็กๆจะถอดรองเท้า จากหน้าโรงเรียนเลยทีเดียว เดินเท้าเปล่ากันทั้งวัน เดี๋ยวนี้เธอก็เลยชินแล้ว
เล่ามาตั้งยาวนี่ เพราะคิดว่าเด็กๆในเมืองส่วนใหญ่ก็คงคล้ายๆกัน เรามักจะสอนลูกเรื่อง“สะอาด-สกปรก” อยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อลูกยังเล็กเราก็ระมัดระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกันมาก แต่เมื่อลูกโตเข้าสู่วัยประถมแล้ว กลายเป็นว่าลูกก็ยังติดยึดอยู่แค่เรื่อง “สะอาด-สกปรก” จนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป สังเกตจากทุกครั้งที่มีการพาเด็กๆ “เดินเล่นอย่างมีสติ” ในค่ายโรงเรียนพ่อแม่ อริยะสร้างได้ เราจะให้เด็กถอดรองเท้าเพื่อให้เท้าสัมผัสพื้นดิน ตอนแรกที่ให้ถอดรองเท้า ทั้งเด็กทั้งพ่อแม่ดูจะไม่ค่อยยินยอมพร้อมใจเท่าไร แต่ตลอดเส้นทางเดินจงกรมที่สองเท้าน้อยๆ ได้ผ่านดินหยาบๆ หญ้านิ่มๆ ทรายชื้นๆ ก้อนหินตะปุ่มตะป่ำ ลำธารใสเย็น ดูเด็กๆจะติดใจราวกับพบโลกใหม่ที่เขาเพิ่งรู้จัก
ในค่ายโรงเรียนพ่อแม่ อริยะสร้างได้ ที่ผ่านมาเรามีการทำกิจกรรมเรื่องดิน คุณยายจ๋าได้ให้แนวคิดในการสร้างกิจกรรมไว้ว่า
• ถ้าเราทำให้เด็กเรียนรู้ว่าดินสกปรก นั่นคือการสอนเรื่อง‘อัตตาตัวตน’ เพราะดินทำให้ ‘ฉัน’ สกปรก เราทำให้เด็กเกิดค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่งลงไป จึงทำให้เกิดเรื่องชอบ-ชังตามมา ถ้าได้ในสิ่งที่ชอบก็สุข ได้ในสิ่งที่ชังก็ทุกข์ แต่พุทธศาสนามองทุกสิ่งอย่างมีเหตุปัจจัย ไม่ได้ตายตัว แม้แต่สะอาดและสกปรก ก็ไม่เป็นอย่างนั้นตลอดไป
• ถ้าเราสอนให้รู้จักธรรมชาติของดิน มีความรู้เรื่องดิน รู้จักใช้ประโยชน์จากดิน นั่นคือการสร้าง ‘อัจฉริยะ’
• ถ้าจะสร้างไปถึง ‘อริยะ’ ต้องทำให้ ‘ใจ’ ของเด็ก ‘เห็น’ ดินที่เป็นรูปธรรม แล้วเห็นนามธรรมของดินที่ให้คุณค่าต่อการเข้าใจชีวิต เช่น
• เห็นความไหว ในความไหว ใจจึงนิ่ง เห็นการเปลี่ยนแปลง(เคลื่อนไหว)ของดิน เมื่อมีน้ำ ลม ไฟมาเป็นเหตุปัจจัยร่วม ดินก็เปลี่ยนแปลง และหากเราเข้าใจและยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เด็กก็สามารถ “เห็นการเคลื่อนไหว ใจจะนิ่ง” แต่ถ้าเด็กรู้สึกไม่ได้ดังใจ “เห็นการเคลื่อนไหว ไม่อยากให้ไหว ใจจะทุกข์”
• เห็นทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์ ทุกปัญหาจึงเป็นปัญญาได้ ดินที่สกปรก ไฟที่ร้อน ถ้าเราไม่รู้จักใช้ ก็อาจทำให้เจ็บป่วย แต่ถ้าเรามีปัญญา ใช้ให้เป็น ทุกอย่างก็มีประโยชน์
• อยู่อย่างถ่อมตัว เราแค่ผู้อาศัย เมื่อเราเห็นคุณค่าของดิน น้ำ ลม ไฟ เราจะมองเห็นคุณค่าของสรรพสิ่งในโลก และตระหนักถึงความเกื้อกูลกัน เมื่อเราเห็นความเกื้อกูลอันมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เราจะเกิดความ ‘ถ่อมตัว’ ว่ามนุษย์เป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆในจักรวาล ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก เป็นเพียงผู้มาอาศัยอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ เวลาที่เราเห็นว่าเราเป็นเพียงผู้อาศัย มาแล้วไป เกิดแล้วดับ ทุกสิ่งไม่ว่าวัตถุหรืออารมณ์เป็นเพียงสภาวะของธรรมชาติ เด็กจะดวงตาเห็นธรรรมว่าโลกนี้ไม่มีฉัน กายก็ไม่ใช่ของเรา จิตก็ไม่ใช่ของเรา การถ่อมตัวจึงนำไปสู่อิสรภาพด้วยการไม่ยึดติดอยู่กับร่างกายนี้
การทำให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้อย่าง ‘อริยะ’ อาจไม่ง่าย โดยเฉพาะในเวลาสั้นๆ เพียง ๖ ชั่วโมงของค่ายโรงเรียนพ่อแม่ แต่หากผู้ใหญ่ที่มีความชำนาญในด้านต่างๆ มีจินตนาการใหญ่ร่วมกันว่าเราสามารถต่อยอดการสอนเด็กให้เป็นอัจฉริยะ ไปสู่การเป็นอริยะได้โดยใช้ศาสตร์ทุกแขนงเป็นเครื่องมือ การอาสาทำเรื่องนี้ด้วยจิตที่คิดจะให้ จะทำให้เราค้นหาวิธีที่จะสอนเพราะ ไม่มีเด็กที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีแต่การสอนที่ไม่พัฒนาเท่านั้น
สุดท้ายต้องทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง จากความสำเร็จในการทำงานอย่างเป็นสุขไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ และเห็นคุณค่าจากการให้ คือสำเร็จเพราะได้ทำให้คนอื่นมีความสุข ไม่ใช่สำเร็จเพราะเอาได้มาก ให้เด็กรู้สึกถึง ‘สภาวะจิต’ ที่คิดจะให้นั้นเบา จิตที่คิดจะเอานั้นหนัก
ฉากสุดท้ายของค่ายโรงเรียนพ่อแม่วันนั้น จึงจบลงด้วยคำถามที่พ่อแม่ต้องไปคุยต่อกับลูกว่า “สิ่งประดิษฐ์ต่างๆที่ลูกทำในวันนี้ จะไปอยู่ที่ไหนจึงจะทำให้เกิดความสุขได้มากที่สุดนานที่สุด”
โดย แม่แอ้ม
(Some images used under license from Shutterstock.com.)