© 2017 Copyright - Haijai.com
วินัยและจริยธรรมสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็กจริงหรือ Baby Rules
“การฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต จะทำให้เด็กๆ ซึบซับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังได้เร็ว”
สร้างวินัย เมื่อไรดี?
พญ.สุดา เย็นบำรุง กล่าวในงานสัมมนา The Power of 5 B for Happy Baby ตอน Baby Rules วินัย จริยธรรมสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็กจริงหรือ ว่า “การฝึกวินัยให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต จะทำให้เด็กๆ ซึบซับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังได้เร็ว แต่ถึงแม้ว่าจะผ่าน 3 ปีแรกไปแล้ว ก็ไม่ถือว่าสายเกินไปในการฝึกวินัยให้ลูก แต่ทั้งนี้การฝึกตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกคือ 6 เดือนแรกของชีวิตนั้น จะทำได้ง่ายกว่า”
กิน นอน ขับถ่าย เริ่มสร้างวินัย วัยเด็กเล็ก
• วินัยสำหรับเด็กวัยเด็กเล็ก เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก เนื่องจากร่างกายของลูกกจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทำให้เวลาในการนอนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากที่เคยตื่นทุกๆ 3 ชั่วโมง เมื่อ 3 เดือนผ่านไป คุณจะสังเกตเห็นว่าลูกนอนหลับได้นานขึ้น ดังนั้น เรื่องของการให้นม ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมักจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและเปลี่ยนไปจากเดิมไม่มาก
• ใช้การสังเกตเป็นหลัก ในช่วงเดือนแรกๆของทารก คุณพ่อคุณแม่อาจต้องสังเกตพฤติกรรมของลูก และปรับตารางกิจวัตรให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน เช่น ลูกอาจจะหลับทันทีหลังให้นม นั่นก็แสดงว่าคุณสามารถจัดเวลานอนของลูก ให้อยู่หลังการให้นมได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับลูกน้อยทุกครั้งก่อนเข้านอน เพื่อช่วยให้ลูกน้อยสบายตัวมากขึ้น เพราะผ้าอ้อมที่มีคุณสมบัติการซึมซับดีเยี่ยม จะช่วยให้ก้นลูกแห้งสนิท หลับได้ยาวนานขึ้น และลูกจะเริ่มคุ้นเคยและปรับตัวเข้ากับเวลานอนได้มากขึ้น เป็นต้น
• ความสม่ำเสมอ เมื่อช่วง 3 เดือนแรกผ่านไป อะไรๆ จะเข้าที่มากขึ้น คุณจึงควรจะทำกิจวัตรกับลูกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำตามอารมณ์หรือความสะดวกของตัวเป็นหลัก เพียงเท่านี้ คุณก็น่าจะผ่านขวบปีแรกของลูกไปได้อย่างง่ายดายค่ะ
รางวัล สร้างเด็กดี
เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มเข้าสู่วัยเตาะแตะ การฝึกวินัยจะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น เรื่องที่คุณจะต้องฝึกลูกนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียง การกินอาหาร การนอนหลับ และการขับถ่าย แล้ว แต่ยังรวมไปถึง การเก็บของเล่น การไม่โยนสิ่งของลงพื้น ไม่ปีนโซฟา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ การให้รางวัลจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ลูกน้อย พยายามที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบให้ได้มากที่สุดค่ะ
พญ.สุดา ได้ให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่จะใช้วิธีการให้รางวัลแก่ลูกน้อยว่า ต้องไม่เป็นการให้ที่พร่ำเพรื่อ จนลูกไม่เห็นคุณค่าของการให้รางวัลนั้น การให้รางวัลไม่ได้หมายถึง สิ่งของเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงรอยยิ้ม คำชม และการให้กำลังใจแก่ลูกน้อย ทั้งนี้ รางวัลควรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ส่งเสริมการเรียนรู้ ควรหลีกเลี่ยง ลูกอม ขนมหวาน ฯลฯ
“ดาวเด็กดี” เครื่องมือแห่งความสำเร็จ
วิธีการหนึ่งที่จะทำให้การให้รางวัลแก่ลูกน้อยนั้นดูมีคุณค่า และไม่พร่ำเพรื่อจนเกินไปก็คือ การทำตารางดาวเด็กดี ให้กับลูก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้กระดาษแผ่นใหญ่ เขียนเป้าหมายสิ่งที่อยากให้ลูกทำลงไป เช่น กินข้าวหมดจาน เก็บของเล่น พูดจาไพเราะ ติดไว้ในบริเวณที่เห็นได้ชัดในบ้าน พร้อมกับบอกลูกว่าหากเขาทำสิ่งเหล่านี้ได้คุณก็จะให้ดาว โดยต้องประเมินเป็นวัน ไม่ใช่ให้ดาวทุกครั้งที่ลูกทำได้ และหากลูกได้ดาวครบ 5 ดวง จะมีของรางวัล เช่น หนังสือนิทาน หรือของเล่นเสริมพัฒนาการให้
เมื่อวินัยไม่ได้ผล ต้องลงโทษ?
หลังจากการพูดคุยทำความตกลงกับลูกในเรื่องของวินัยภายในบ้าน จนเกิดเป็นความเข้าใจอันดีระหว่างคุณกับลูกแล้ว แต่ลูกน้อยเกิด อยากลองของ ทดสอบความอดทนของคุณ สิ่งที่คุณทำได้คือการลงโทษ ด้วยการวางเฉย และไม่สนใจค่ะ ทั้งนี้เป็นเพราะ เด็กๆ ต้องการให้คุณยอมรับในตัวเขา ดังนั้นเมื่อเขาทำสิ่งใด (สิ่งที่คุณไม่ชอบ) ถ้าคุณแม่ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ เฉยชา และไม่สนใจ ในไม่ช้าพฤติกรรมที่เขาแสดงนั้นก็จะหยุดไปโดยปริยาย จนกระทั่งลูกทำตัวดีขึ้นแล้ว คุณจึงเข้าไปพูดคุยและอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าสิ่งที่ลูกทำนั้น ผิดจากสิ่งที่เคยตกลงกันไว้ เป็นต้น
กรณีที่ลูกน้อยทำผิดโดยไม่เจตนา เช่น ตกใจ ตื่นเต้น จนทำให้ลูกน้อยทำอะไรผิดพลาด การใช้เทคนิคนี้อาจทำให้ลูกรู้สึกผิด ขาดความมั่นใจในตนเอง ขณะเดียวกันเมื่อลูกน้อยก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น ทำข้าวของเสียหาย การวางเฉยคงไม่เป็นผลดี คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปห้ามปรามทันทีค่ะ
เทคนิคสร้างวินัย วัยซน
เรื่องระเบียบวินัย และพัฒนาการของลูกน้อยนั้น ต้องพัฒนาอย่างควบคู่กันไปค่ะ เช่น เมื่อกล้ามเนื้อมือของลูกน้อย แข็งแรงพอจะกินข้าวเองได้ คุณก็ควรฝึกให้ลูกกินข้าวด้วยตัวเอง แต่หากว่าลูกยังหยิบจับสิ่งของไม่ได้เลย แต่คุณคาดหวังให้ลูกกินข้าวเอง ความต้องการของคุณก็อาจไม่เป็นผล ซ้ำยังสร้างความกดดันให้กับลูกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องเข้าใจพัฒนาการของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัยควบคู่ไปกับการฝึกวินัยด้วย รวมทั้งควรป้องกันไม่ให้เกิดพัฒนาการหยุดชะงัก จากความเปียกชื้นหรือผ้าอ้อมที่ขัดจังหวะการเคลื่อนไหวของลูกน้อย ดังนั้น การเลือกผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่มีคุณสมบัติซึมซับเยี่ยมจะช่วยให้การฝึกวินัยประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก
หากคุณพ่อคุณแม่กำลังฝึกให้ลูกน้อยนั่งกระโถน ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่มาในรูปแบบกางเกง ที่มีขอบเอวยางยืด จะทำให้ลูกน้อยสามารถถอดผ้าอ้อมออกเองได้ง่ายเมื่อรู้สึกต้องการขับถ่าย ซึ่งนอกจากจะฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองแล้ว ยังป้องกันหากเกิดการผิดพลาดเมื่อลูกกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ทำให้ไม่เกิดการเลอะเทอะเปรอะเปื้อนด้วย
พญ.สุดา เย็นบำรุง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)