
© 2017 Copyright - Haijai.com
เรียนและเล่นอย่างไร เสริมพัฒนาการลูกน้อย Baby Explorer
“การเล่น เป็นการงานสำหรับเด็ก”
ความสำคัญของการเล่น
การเล่น เป็นการงานสำหรับเด็กที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเด็กๆ จะได้รับประโยชน์มหาศาลทั้งทางร่างกายและจิตใจ หากได้เล่นอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับวัย ซึ่งพญ.เกศินี โอวาสิทธิ์ ระบุว่าการเล่นจะช่วยส่งเสริมเด็กได้ ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
• กล้ามเนื้อมัดใหญ่ : ในเด็กทารกพ่อแม่จะสังเกตเห็นว่า คุณหนูๆ จะเคลื่อนไหวได้เพียงขยับแขนขา ต่อมา กล้ามเนื้อจึงค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนสามารถชันคอได้ ตามาด้วยแผ่นหลัง จนทำให้นั่งได้ เมื่อพ่อแม่เล่นมากขึ้น เด็กๆ จะเริ่มคิด สมองทำงานเป็นระบบ เพื่อจะไปให้ถึงของเล่น หนูน้อยค่อยๆ ขยับตัวกลายเป็นการคลาน และเกาะยืน จนเดินได้ในที่สุด
• กล้ามเนื้อมัดเล็ก : ในเด็กแรกเกิดจะใช้กล้ามเนื้อมือในการกำทั้งมือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีการเล่นกับลูกมากขึ้น มีการส่งของเล่นให้ลูก เด็กๆ ก็จะค่อยๆ พัฒนาจนสามารถใช้ 3 นิ้วหยิบของได้เมื่ออายุ 7-8 เดือน และเมื่ออายุ 9-11 เดือน จะสามารถใช้ 2 นิ้วหยิบของได้ จนพัฒนาความสามารถมาเป็นการจับดินสอเขียนหนังสือได้ในที่สุด
• ด้านภาษา : ทารกวัย 2-3 เดือนยังส่งเสียงไม่เป็นภาษา แต่หากว่าคุณพ่อคุณแม่เล่นกับลูก เมื่อลูกส่งเสียงก็ตอบกลับไป จะทำให้ลูกรู้สึกว่าเขามีความสำคัญ สมองได้รับการกระตุ้นในเรื่องการรับรู้ รับฟัง และได้ยิน ทำให้เจ้าตัวเล็กพยายามใช้กล้ามเนื้อในการเปล่งเสียง ทั้งจากลิ้น และกล่องเสียง ทำให้การเปล่งเสียงทำงานได้ดีขึ้น
รูปแบบของการเล่น
รูปแบบของการเล่นที่จะเสริมพัฒนาการได้ดีที่สุด คือการเล่นที่มีคนเล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่า “คนเล่น สำคัญกว่าของเล่น” เพราะคนจะสามารถเชื่อโยง ปฏิสัมพันธ์ และตอบสนองอารมณ์ของเด็กได้ทันที โดยเฉพาะหากคนๆ นั้นเป็นคุณพ่อคุณแม่ เด็กๆ ก็จะได้รู้สึกได้ถึงความรัก ความอบอุ่น การเล่นเป็นการผูกหัวใจพ่อแม่ลูกไว้ด้วยกัน แต่ทั้งนี้ ทั้งคุณพ่อคุณแม่และลูก ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่พร้อมที่จะเล่นด้วย หากเห็นว่าลูกกำลังพัก หรือกำลังเหนื่อยก็ไม่ควรบังคับให้ลูกมาเล่นค่ะ หากทำได้อย่างนี้การเล่นจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างเต็มที่แน่นอน
การเล่นสร้างสมองอัจฉริยะ
การเล่นเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับเด็ก จะว่าไปแล้วการเรียนรู้ของลูกรักในช่วงขวบปีแรกนั้น ล้วนมาจากการเล่น ไม่ว่าจะเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ หรือเล่นของเล่น ซึ่งหากจะกล่าวว่าการเล่นช่วยพัฒนาสมองให้ลูกเป็นอัจฉริยะก็ไม่ผิดนัก หากคุณสังเกตพัฒนาการลูกวัยแรกเกิด – 3 ปี ที่แม้ยังไม่เข้าโรงเรียน แต่เด็กๆ กลับเรียนรู้และมีพัฒนาการด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพราะเล่นเป็นอาหารสมองของลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าจะหาอะไรมาให้ลูก เพื่อพัฒนาความเป็นอัจฉริยะ ซึ่งจริงๆ แล้วการเล่นเป็นการหล่อเลี้ยงหัวใจลูก ขณะเดียวกันหากเล่นอย่างพอเหมาะ และสมกับพัฒนาการในแต่ละวัยของลูก การเล่นก็จะช่วยพัฒนาสมองของลูกสู่การเป็นอัจฉริยะได้เป็นอย่างดี
เลือกของเล่นให้เหมาะกับลูก
• เลือกให้เหมาะกับวัยของลูก เพื่อให้ของเล่นได้ช่วยเสริมพัฒนาการตามวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
• ราคา ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงมากเสมอไป สิ่งรอบตัว อย่างต้นไม้ ใบหญ้า ก็เป็นของเล่นสำหรับลูกได้ ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า “คนเล่น สำคัญกว่าของเล่น” เพราะคนจะสามารถเชื่อโยง ปฏิสัมพันธ์ และตอบสนองอารมณ์ของเด็กได้ทันที โดยเฉพาะจากคุณพ่อคุณแม่
• ความปลอดภัย ของเล่นสีสันฉูดฉาด หรือของเล่นที่มีแบตเตอรี่เล็กๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเป็นอันตรายต่อลูกได้
สำหรับวัยเตาะแตะที่การเคลื่อนไหวเป็นเรื่องสำคัญ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ออกแบบมาเพื่อหนูน้อยวัยหัดเดินโดยเฉพาะ มีโคนขาเว้าสูง ทำให้ลูกเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ จะทำให้ลูกน้อยเรียนรู้โลกกว้างได้อย่างมั่นใจ และไม่เหนี่ยวรั้งให้พัฒนาการของลูกหยุดชะงักอีกด้วย
ศ.เกีรยติคุณ พญ.ชนิกา ตู้จินดา
(Some images used under license from Shutterstock.com.)