© 2017 Copyright - Haijai.com
การรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูกทำได้อย่างไรบ้าง?
การรักษาแบ่งเป็นวิธีหลักๆได้ 2 วิธีคือ การรักษาด้วยยา และการรักษาโดยการผ่าตัด
1.การรักษาด้วยยา ยาที่ใช้คือ methotrexate เพื่อหยุดการเจริญของตัวอ่อน และทำให้เกิดการแท้ง แล้วเกิดการสลายของตัวอ่อน หรือขับออกมาเหมือนเวลาเกิดประจำเดือน แต่การใช้ยาต้องเลือกกลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะสม เช่น ไม่มีโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพที่ไม่มีความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด และถุงการตั้งครรภ์ต้องไม่แตก หรือไม่เห็นน้ำในช่องท้องจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ และก้อนมีขนาดไม่เกิน 3.5 เซนติเมตร ระดับฮอร์โมน Beta - hCG ในเลือดไม่เกิน 15,000 mIU/ml และต้องไม่เห็นการเต้นของหัวใจทารก นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีอาการปวดท้อง ไม่มีการแตกของถุงการตั้งครรภ์ และระบบไหลเวียนเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถรักษาแบบเฝ้าระวัง ดูอาการ (Expectant management) โดยติดตามระดับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องอธิบายกับผู้ป่วยเข้าใจ ถึงโอกาสการแตกของก้อน และการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้นได้
2.การรักษาโดยการผ่าตัด การพิจารณาว่าจะทำผ่าตัดแบบไหนขึ้นอยู่กับสภาพผู้ป่วย ความต้องการมีบุตรในอนาคตตำแหน่งที่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก พยาธิสภาพที่มีในอุ้งเชิงกรานความพร้อมของเครื่องมือในสถานที่นั้น และประสบการณ์ของผู้ทำผ่าตัดด้วย โดยวิธีการผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งแบบส่องกล้อง (Laparoscopic surgery) หรือการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Laparotomy surgery) และรูปแบบการผ่าตัด สามารถทำได้ทั้งการตัดเอาเฉพาะถุงการตั้งครรภ์ผิดปกติออก (salpingostomy) หรือ การตัดเอาส่วนท่อนำไข่ที่มีถุงการตั้งครรภ์ผิดปกติออกด้วยพร้อมกัน (salpingectomy) ซึ่งการรักษาแต่ละวิธีแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจ โดยคำนึงถึงความรุนแรงของตัวโรค และ ความต้องการในการมีบุตรในอนาคต เช่นในรายที่ยังต้องการมีบุตร การใช้ยารักษามีโอกาสมีบุตรในอนาคตได้สูงกว่าการผ่าตัด แม้กระทั่งการผ่าตัดเอง การผ่าตัดเฉพาะถุงการตั้งครรภ์ผิดปกติออก ( salpingostomy) โอกาสมีบุตรในอนาคตก็สูงกว่า การผ่าตัดเอาส่วนท่อนำไข่ออกไปด้วย (salpingectomy) แต่ในรายที่มีการเสียเลือดมากจากการตกเลือดในช่องท้อง จนระบบไหลเวียนเลือดมีการเปลี่ยนแปลง หรือรอยแตกมีขนาดใหญ่ แพทย์อาจพิจารณารักษาแบบไม่อนุรักษ์การเจริญพันธุ์ (Nonconservative treatment) คืออาจพิจารณาตัดท่อนำไข่ข้างที่มีการตั้งครรภ์นอกมดลูกออกไปเลย (Salphingectomy) มากกว่าการรักษาแบบอนุรักษ์การเจริญพันธุ์ (Conservative treatment) ที่อาจทำให้เสียเลือดมากกว่าและใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า
การตั้งครรภ์นอกมดลูกที่เคยมีรายงานการรอดชีวิตของเด็กได้ ในปี ค.ศ. 1999 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และในปี ค.ศ. 2008 อีก 2 รายในประเทศอังกฤษ และ ออสเตเรีย เกิดจากการตั้งครรภ์ในช่องท้อง (Abdominal pregnancy) ซึ่งรกสามารถเกาะยึดกับเส้นเลือดของอวัยวะภายในช่องท้อง นำเลือดไปเลี้ยงทารกได้ และมีพื้นที่พอให้ทารกเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้การเกิดภาวะการตั้งครรภ์พร้อมกันทั้งในโพรงมดลูก และนอกมดลูกก็มีรายงาน เนื่องจากมีการตกไข่พร้อมกัน และไข่ใบหนี่งเดินทางมาฝังตัวได้ปกติ ขณะที่อีกใบหนึ่งอยู่ในตำแหน่งนอกโพรงมดลูก ซึ่งเรียกว่า Combined pregnancy หรือ Heterotopic pregnancy ซึ่งพบได้บ่อยขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากเทคโนโลยี่ช่วยการมีบุตรยากเจริญขึ้น การกระตุ้นไข่ตกพร้อมๆ กันหลายฟองทำได้ง่ายขึ้น จึงอาจพบภาวะดังกล่าวสูงขึ้นด้วย ดังนั้น การฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ให้เร็วที่สุดเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ และไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอัลตร้าซาวด์ ตั้งแต่ไตรมาสแรก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งเพื่อการวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้อย่างรวดเร็ว ก่อนเกิดการแตก ซึ่งอาจมีอันตรายต่อชีวิตของหญิงตั้งครรภ์
นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)