Haijai.com


การตรวจวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูกทำอย่างไร?


 
เปิดอ่าน 11773

การตรวจวินิฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูกทำอย่างไร?

 

 

คนไข้ที่มาตรววจด้วยเรื่องประจำเดือนขาด มีอาการปวดท้องน้อย ร่วมกับเลือดออกทางช่องคลอด ถือว่าเป็นอาการ 3 ข้อหลัก (Clinical Triad) ให้คิดถึง การตั้งครรภ์นอกมดลูกไว้ทุกราย ส่วนการตรวจวินิจฉัยมีหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมในการตรวจในผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับวิธีการตรวจต่างๆ มีดังนี้

 

 

1.การตรวจร่างกายโดยแพทย์ เช่น การตรวจหน้าท้องพบจุดกดเจ็บ หรือ การตรวจภายในอาจพบก้อนที่บริเวณปีกมดลูก

 

 

2.การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตร้าซาวด์ การเห็นถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก ร่วมกับการตรวจพบการทำงานของหัวใจเด็ก บ่งบอกถึงภาวะการตั้งครรภ์ที่ปกติ การตรวจอัลตร้าซาวด์ เป็นสิ่งที่ช่วยในการวินิจฉัย การตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ เนื่องจากถ้าฮอร์โมนการตั้งครรภ์  (beta-hCG)  ถึงระดับ 1,500-1,800 mIU/ml การตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอดจะเห็นถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกได้ ในขณะที่การตรวจทางหน้าท้องอาจต้องรอให้ระดับฮอร์โมนถึงระดับประมาณ 4,000-5,000 mIU/ml ดังนั้นในช่วงที่ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ขึ้นสูงพอที่สามารถตรวจพบถุงการตั้งครรภ์ แต่ตรวจไม่พบถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก ให้คิดถึงภาวะการตั้งครรภ์นอกมดลูกทุกราย แต่ถ้าเห็นถุงการตั้งครรภ์ขนาดเล็กในโพรงมดลูก แต่ไม่แน่ใจว่าใช่ถุงการตั้งครรภ์ในระยะอ่อนๆหรือไม่ ควรตรวจติดตามด้วยอัลตร้าซาวด์ในอีก 1-2 สัปดาห์ถัดไป

 

 

3.การเจาะตรวจเลือดที่ออกจากช่องท้อง ทางช่องคลอด (Culdocentesis)ในรายที่มีการแตกของท่อนำไข่ หรือเริ่มมีการแท้งออกทางปากแตรของท่อนำไข่ (Tubal abortion) จะมีเลือดออกในช่องท้องและมักไหลไปรวมกันอยู่ที่ช่องด้านหลังของมดลูก (Cul de sac : CDS) ซึ่งสามารถตรวจพบจากอัลตร้าซาวด์ การใช้เข็มเจาะดูดบริเวณด้านหลังของมดลูกในช่องคลอด จะได้เลือดที่ไม่แข็งตัว (Unclot blood) เพื่อช่วยในการวินิจฉัย แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมทำกัน เนื่องจากอัลตร้าซาวด์ที่มีคุณภาพดี ทำให้สามารถเห็นน้ำหรือเลือดที่ออกในช่องท้องได้ชัด โดยไม่จำเป็นต้องไปทำการเจาะดูด

 

 

4.การติดตามระดับฮอร์โมน beta-hCG ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในกระแสเลือดจากการตั้งครรภ์ การตรวจระดับของ beta-hCG ซึ่งในการตั้งครรภ์ปกติจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 66 เปอร์เซ็นต์ใน 48 ชั่วโมง การที่ระดับ beta-hCG ไม่เพิ่มขึ้นได้ตามระดับที่ควรจะเป็น บ่งถึงว่ามีการเจริญผิดปกติของการเติบโตของทารก ให้คิดถึงภาวะท้องนอกมดลูก โดยอาจตรวจร่วมกับฮอร์โมน โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ถ้าต่ำกว่าปกติ อาจช่วยในการวินิฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

 

 

5.การส่องกล้องเพื่อการวินิจฉัย (Laparoscopic diagnosis) อาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง การตั้งครรภ์นอกมดลูก ต้องวินิฉัยแยกกับภาวะอื่นๆ เช่น การอักเสบของไส้ติ่ง ปีกมดลูกอักเสบ การแตกของถุงน้ำรังไข่ ภาวะแท้งบุตร หรือแท้งคุกคาม การบิดขั้วของรังไข่ ซึ่งอาจมาด้วยอาการที่คล้ายคลึงกัน

 

 

นพ.นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข

(Some images used under license from Shutterstock.com.)