
© 2017 Copyright - Haijai.com
การตั้งครรภ์นอกมดลูก
การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือท้องนอกมดลูกคืออะไร?
การตั้งครรภ์ปกติ
เมื่อมีการตกไข่ ไข่ที่ตกจากรังไข่ จะเดินทางผ่านส่วนที่มีลักษณะคล้ายปากแตรของท่อนำไข่ มารอรับการปฏิสนธิกับตัวอสุจิบริเวณท่อนำไข่ เมื่อมีการปฏิสนธิเรียบร้อยแล้ว ตัวอ่อนจะเดินทางตามท่อนำไข่มาฝังตัวในโพรงมดลูก ซึ่งปกติเป็นอวัยวะเหมาะสม สำหรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ที่สามารถขยายตัวเพื่อรองรับการตั้งครรภ์ได้ถึง 50 เท่าของขนาดปกติ
การตั้งครรภ์นอกมดลูก
การที่ตัวอ่อนไม่ได้ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก กล่าวคือไม่มีการเดินทางของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว หรือ เดินทางไปฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกตินอกโพรงมดลูก พอมีการเจริญเติบโตขยายขนาดของตัวอ่อน อวัยวะนั้นๆ ไม่สามารถขยายตัวรองรับขนาดของตัวอ่อนที่ใหญ่ขึ้นได้ ก็เกิดการปริแตก เช่น ที่ปีกมดลูก หรือท่อนำไข่
โอกาสการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกมีมากน้อยเท่าไร?
โอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกประมาณร้อยละ 1-2 ส่วนใหญ่เกิดที่ตำแหน่งของท่อนำไข่ (ร้อยละ 98) ซึ่งเรียกว่า การตั้งครรภ์ที่ปีกมดลูก (Tubal pregnancy) นอกจากนี้ตำแหน่งของการตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจเกิดที่อื่นๆ เช่น ปากมดลูกในช่องท้อง หรือ รังไข่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พบได้น้อยที่สุด การตั้งครรภ์นอกมดลูกทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ามีภาวะตกเลือดในช่องท้องมากจนเกิดภาวะช็อค และผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัย หรือได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที สมัยก่อนการตั้งครรภ์นอกมดลูกมีอัตราการเสียชีวิติของหญิงตั้งครรภ์สูงมาก แต่ปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้สำหรับการตรวจวินิจฉัยดีขึ้น ทำให้อัตราการตายของหญิงตั้งครรภ์ลดลงอย่างมาก มีรายงานการเสียชีวิตจากการท้องนอกมดลูกประมาณ 5 ต่อ 10,000 คนในปัจจุบัน
อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นอย่างไร?
อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก แรกๆมักไม่มีอาการผิดปกติ อาจมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะบ่อย คัดตึงเต้านม เหมือนการตั้งครรภ์ปกติ อาการมักเกิดหลังจากสัปดาห์ที่ 7 อาการที่มักพบในผู้ป่วยคือ อาการปวดท้อง ลักษณะปวดบีบเป็นพักๆคล้ายโรคกระเพาะ หรือปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ ถ้าอาการปวดเพิ่มขึ้นอาจมีปวดร้าวไปหลัง หรือหัวไหล่ได้ (อาการปวดร้าวไปหัวไหล่ อาจบ่งบอกถึงภาวะเลือดออกในช่องท้อง ซึ่งไปทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระบังลม) อาการเลือดออกทางช่องคลอด แต่ส่วนใหญ่ปริมาณไม่มากเหมือนเลือดออกจากการแท้งบุตร หรือประจำเดือน ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการหน้ามืด ใจสั่น คล้ายจะเป็นลม ซึ่งมักพบในระยะที่มีการแตกของท่อนำไข่แล้ว และมีการตกเลือดในช่องท้อง
สาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกมีอะไรบ้าง?
1.ประวัติเคยเป็นโรคปีกมดลูกอักเสบมาก่อน (Pelvic inflammatory disease: PID) ซึ่งการติดเชื้อทำให้เกิด การทำลายสภาพปกติของท่อนำไข่ ซึ่งเป็นที่เดินทางของไข่ ซึ่งปกติภายในท่อนำไข่จะมี เซลล์ ที่คล้ายนิ้วมือเล็ก ๆ (Cilia) คอยโบกให้ตัวอ่อนเคลื่อนตัวเข้าไปสู่โพรงมดลูก เมื่อเซลล์เหล่านี้เสียหายก็ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
2.ภาวะมีบุตรยาก และการกระตุ้นการตกไข่ด้วยฮอร์โมนในปริมาณสูงๆ มีโอกาสเกิดท้องนอกมดลูกได้สูงกว่าคนปกติถึง 4 เท่า นอกจากนี้ในกลุ่มผู้มีบุตรยากมักมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ซึ่งมักทำให้เกิดพังผืดบริเวณท่อนำไข่ ทำให้ท่อนำไข่ผิดรูป และตีบตันได้
3.การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิด (Intrauterine device: IUD) โอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกประมาณร้อยละ 3-4 โดยห่วงอนามัยชนิดที่มีทองแดงมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกน้อยกว่าห่วงชนิดอื่นๆ เพราะกลไกของห่วงอนามัยสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ภายในโพรงมดลูกเท่านั้น
4.การเคยได้รับสารกลุ่ม diethylstilbestrol(DES) เป็นฮอร์โมนเพศหญิง หรือ เอสโตรเจน (Estrogen)ในระดับสูงๆ ทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงกว่าคนปกติ 3-5 เท่า ปัจจุบันยานี้เลิกใช้ไปแล้ว แต่พบว่าการที่ผู้หญิงบางคน ได้รับยาคุมกำเนิดชนิดหลังร่วมเพศ ซึ่งมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงๆ ก็มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้สูงขึ้นเช่นกัน
5.การผ่าตัดบริเวณท่อนำไข่ การขูดมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดพังผืดหลังผ่าตัด รบกวนการเดินทางของไข่
6.การสูบบุหรี่ ทำให้เกิดท้องนอกมดลูกมากกว่าคนปกติ 1.6-3.5 เท่า
7.การทำหมัน ทำให้เกิดการท้องนอกมดลูกหลังทำหมันได้ประมาณร้อยละ 6 และมักเป็นในช่วงหลังจาก 2 ปีหลังการทำหมันไปแล้ว
8.ประวัติเคยตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน ก็มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำในท้องถัดไป ได้ร้อยละ 10-25
9.อายุ ในกลุ่มที่อายุมาก (35-44 ปี) มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงกว่ากลุ่มอายุน้อย (15-24 ปี) ถึง 4 เท่า เชื่อว่าอาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของกล้ามเนื้อท่อนำไข่ ( myoelectrical ) ทำให้การเคลื่อนไหวบีบตัวของท่อนำไข่ทำงานน้อยลง
แม้บางส่วนของการตั้งครรภ์นอกมดลูกสามารถบอกปัจจัยเสี่ยงได้ แต่ก็มีถึง 1 ใน 3 ที่เราไม่ทราบสาเหตุ
นพ. นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข
(Some images used under license from Shutterstock.com.)