
© 2017 Copyright - Haijai.com
เคล็ดลับที่ 6 สร้างรัก จากแม่สู่ลูก
เพราะความรักความผูกพันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเจริญเติบโตของลูก มีวิธีสร้างความรักจากคุณแม่สู่คุณลูกมาฝากกันค่ะ
• มองหน้าสบตาพร้อมรอยยิ้ม คุณแม่ควรอุ้มสัมผัสอย่างอ่อนโยน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือตอนอุ้มให้นมแม่ ด้วยสัมผัสที่อ่อนโยนจากอ้อมแขนของแม่ การมองหน้า สบตา และพูดคุยขณะให้นม จะช่วยส่งเสริมประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วย และยังเป็นการมอบความรักที่แม่มีต่อลูก ซึ่งเป็นการเติมเต็มความต้องการของลูกให้ได้ความรักความอบอุ่นค่ะ
• หันหาเสียง มองตามแม่อยู่ไหน เมื่อเริ่มเข้าสู่วัย 3-4 เดือน คุณแม่ควรอุ้มลูกพิงอกในท่านั่งหรือปล่อยให้ลูกนอนคว่ำ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ลูกฝึกการชันคอได้อย่างดี คุณแม่ควรจะหาของเล่นที่ถือง่าย เช่น กรุ๊งกริ๊ง ตุ๊กตาบีบมีเสียง เล่นกับลูก ถือของเล่นย้ายไปมาซ้ายขวา เพื่อให้เขามองตามเสียง และเอื้อมมือคว้าจับของเล่น ระหว่างเล่นคุณแม่ชวนคุยไปด้วย เช่น ของเล่นอยู่ไหนเอ่ย จับให้ดูหน่อยสิคะ ลูกจะชอบใจมีความสุข ส่งเสียงหัวเราะโต้ตอบกับแม่ด้วยค่ะ
• ส่งเสียงโต้ตอบให้แม่ ในวัย 5-6 เดือน พัฒนาการของลูกน้อยจะเริ่มเปลี่ยน โดยนอนพลิกคว่ำหงายได้เอง นั่งเอามือยันพื้นได้ มองเห็นได้ไกลขึ้น และสามารถส่งเสียงโต้ตอบได้หลายเสี่ยง ซึ่งคุณแม่ควรพูดคุยโต้ตอบกับลูก ด้วยเสียงสูงๆ ต่ำๆ ชัดเจน จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาที่ดีให้ลูกน้อย
• คืบคลานหาแม่ พอลูกน้อยเข้าสู่วัย 7-8 เดือน จะเริ่มนั่งทรงตัวได้มั่นคงขึ้น ลุกนั่งได้เอง เริ่มคืบหลานได้ อยากที่จะคลานไปคว้าของเล่น หรือคืบคลานไปหาคุณแม่ ซึ่งวัยนี้เป็นช่วงสำคัญที่จะส่งเสริมพัฒนาการด้านการทรงตัว ด้วยการจับลูกน้อยนั่งบนเข่า ให้ลูกน้อยพยายามลุกขึ้นนั่งด้วยตัวเอง โดยมีคุณแม่เป็นกำลังใจอยู่ข้างๆ และวัยนี้ลูกน้อยชอบทำเสียงเลียนแบบ เช่น เลียนแบบเสียงสัตว์ ให้คุณแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง พร้อมกับให้ดูรูปภาพสัตว์ และออกเสียงสัตว์ที่คุ้นเคย ลูกจะพยายามเลียนเสียงตาม สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้ลูกค่ะ
• ตั้งใจฟังแม่พูด เข้าใจภาษา ออกเสียงซ้ำๆ วัย 9-12 เดือน คุณแม่จะรู้สึกดีใจและภูมิใจ ที่ลูกน้อยสามารถลุกยืนได้เอง แต่คุณแม่ต้องคอยดูอย่างใกล้ชิด ก็จะทำให้ลูกมั่นใจ กล้าที่จะเดินด้วยตัวเองอีก ทั้งยังหยิบของชิ้นเล็กๆ ด้วยนิ้วมือ และเปิดหาของที่ซ่อนไว้ได้ และเข้าใจภาษามากขึ้น เข้าใจท่าทางที่คุณแม่สื่อออกไป เช่น กวักมือเรียก ยกมือห้าม หรือชูมือจะอุ้ม ลูกน้อยจะรับรู้และเข้าใจท่าทางที่คุณแม่แสดงออกมาได้มากขึ้นด้วยนะคะ
บีแพนเธน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)