
© 2017 Copyright - Haijai.com
เมื่อเจ้าตัวดีจะมีสังคม Social Complex (6-9)
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตั้งแต่วินาทีแรก ที่เจ้าตัวน้อยลืมตาขึ้นมาดูโลกหนูน้อยต้องการการดูแลจากคุณพ่อคุณแม่เพื่อความอยู่รอด เมื่อโตขึ้นเด็กๆ ต่างพึ่งพิงบุคคลต่างๆ ในวาระและโอกาสที่ต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่คงพอจะสังเกตได้ว่า เจ้าตัวน้อยจะรู้ว่าควรร้องขอของเล่นกับใคร ขอไปเที่ยวกับใคร ทั้งนี้เป็นเพราะคุณหนูๆ เรียนรู้ว่าจะพึ่งพิงใครได้ในเรื่องใดนั่นเอง
การเข้าโรงเรียน ถือเป็นบทเรียนแห่งการอยู่ร่วมกันในสังคมบทแรกๆ ของเจ้าตัวน้อยค่ะ เด็กๆ จะได้เรียนรู้การรอคอย การทำตัวให้เป็นที่รัก และเรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่าง โดยเฉพาะเมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มเข้าสู่วัย 6-9 ปี ที่เพื่อนอาจกลายเป็นบุคคลสำคัญในชีวิต มีอิทธิพลต่อหลายสิ่งที่ลูกจะทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสื้อผ้า การกินขนม หรือกระทั่งการที่คุณไปส่งเขาที่โรงเรียน!!
สถานการณ์สมมติ:“หนูไม่ใส่เสื้อสีแดง เพราะเพื่อนทุกคนที่โรงเรียนบอกว่ามันเห่ย!”
นี่อาจเป็นสัญญาณแรกที่ทำให้คุณรู้ว่า เพื่อนเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของลูกค่ะ แต่ก่อนที่คุณจะร่ายยาวและยกตัวอย่างว่า “ถ้าเพื่อนบอกว่าแก้ผ้าไปโรงเรียนแล้วเท่ลูกจะทำไหม” คุณอาจต้องนึกถึงสิ่งที่สำคัญจริงๆ ในเหตุการณ์นี้เสียก่อนค่ะ นั่นก็คือ ขณะนี้เจ้าตัวเล็กกำลังเรียนรู้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ดังนั้นคุณจึงควร ช่วยลูกหาสมดุลระหว่างการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง จะว่าไปแล้วเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนักสำหรับคุณค่ะ ปล่อยให้ลูกได้เลือกสิ่งที่เขาต้องการ และคอยดูแลอยู่ห่างๆ ตราบเท่าที่เจ้าตัวน้อยไม่ได้เสียสละตุ๊กตาตัวโปรดให้กับเพื่อนเพื่อจะได้เข้ากลุ่ม หรือไม่ได้ทำไปเพื่อแสวงหาความรู้สึกมั่นคง คุณก็สบายใจได้ค่ะ คุณอาจอธิบายให้เจ้าตัวน้อยฟังว่า เพื่อนที่ดีจะรักและยอมรับเราในแบบที่เราเป็น และหากลูกโดนแกล้งหรือโดนล้อที่โรงเรียนคุณก็พร้อมเสมอที่จะรับฟังและช่วยเหลือเขา
สถานการณ์สมมติ: “เมื่อวานหนูโกรธกับแนนนี่ แต่วันนี้เราดีกันแล้ว”
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าตัวดียังควงแขน โทรหาขอให้คุณไปส่งบ้านเพื่อนรักแนนนี่อยู่เลย พอมาสัปดาห์นี้ แค่คุณเอ่ยถามถึงอดีตเพื่อนรักของลูก เจ้าตัวดีก็ทำหน้าเหยเก ไม่อยากจะได้ยินชื่อ พร้อมกับตอบห้วนๆ ว่า “โกรธกันแล้ว” สัปดาห์ต่อมา หนูน้อยกลับมาจากโรงเรียนหน้าตายิ้มแย้ม วิ่งร่าเข้ามาหาคุณ “แม่ขา พรุ่งนี้หนูไปเล่นบ้านแนนนี่นะคะ” อ้าว! เพิ่งโกรธกันจะเป็นจะตาย วันนี้คืนดีกันเสียอย่างนั้น แรกๆ คุณอาจจะงงค่ะ แต่เชื่อเถอะว่า ไม่นานเหตุการณ์นี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณคุ้นชิน การที่เจ้าตัวเล็กโกรธและคืนดีกับเพื่อนรัก จนเป็นกิจวัตรนั้น มีข้อดีตรงที่ลูกจะได้เรียนรู้เรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคล การให้อภัย และการคืนดี สิ่งที่คุณควรทำคือคอยรับฟัง เมื่อเจ้าตัวเล็กระบายปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เด็กๆ มักจะลืมเรื่องราวที่ทะเลาะเบาะแว้ง และคืนดีกันเร็วกว่าเราๆ ที่เป็นผู้ใหญ่ หากลูกต้องการคำปรึกษาก็ควรให้คำปรึกษาอย่างเป็นกลาง ทั้งนี้หากคุณเห็นว่าปัญหาจะบานปลายไปใหญ่โต ก็อาจเสนอตัวเข้าช่วยด้วยการนัดแนะให้เด็กๆ ได้พบหน้าหรือพูดคุยกัน
สถานการณ์สมมติ: ลูกน้อยของคุณเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับดาวเด่นประจำโรงเรียน
หากวันหนึ่งลูกกลับมาจากโรงเรียน พร้อมเล่าเรื่องของดาวเด่นประจำโรงเรียนไม่หยุดหย่อน ว่าเธอได้แสดงในงานโรงเรียนทุกๆ งาน ได้ถือพานวันไหว้ครู ได้อยู่ในลิตส์นักเรียนดีเด่น และในกลุ่มของเธอมีแต่คนสวยๆ นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่เจ้าตัวน้อยของคุณจะได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งกลุ่มทางสังคม รวมทั้งด้านมืดของการเข้าสังคม อย่างเรื่องของการนินทา และการไม่ได้รับการยอมรับด้วย แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะนี่คือโอกาสที่คุณจะได้สอนลูกว่าสิ่งต่างๆ ที่ตัวเราทำนั้น มีอิทธิพลต่อคนอื่นอย่างไรบ้าง เพื่อให้หนูน้อยจะได้ทำแต่ในสิ่งที่จะส่งผลดีต่อเพื่อนๆ นอกจากนี้การพาลูกไปทำกิจกรรมในวันหยุด ไม่ว่าจะเรียนดนตรี ศิลปะ เพื่อให้ลูกได้มีเพื่อนนอกโรงเรียนด้วย ก็จะทำให้คุณมั่นใจได้ว่า หากหนูน้อยรู้สึกไม่ดีกับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เขาก็ยังมีกลุ่มเพื่อนอื่นๆ คอยให้กำลังใจอยู่
สถานการณ์สมมติ: “แม่คร้าบ หนูไม่เล่นกับเจนนี่แล้ว เพราะว่าเจนนี่เป็นผู้หญิง!”
นี่เป็นวัยที่ความขัดแย้งระหว่างเพศเริ่มต้นขึ้นค่ะ เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ เรียนรู้ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ต่างกันอย่างไร และบทบาทแต่ละเพศควรเป็นเช่นไร อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้มิตรภาพที่ยาวนานของเจ้าตัวเล็กและเพื่อนต่างเพศตัวน้อยๆ ต้องจบลง ด้วยเหตุผลเพียงแค่ฉันเป็นผู้หญิงและเธอเป็นผู้ชาย หากเป็นไปได้คุณอาจนัดวันเพื่อให้เด็กๆ ได้มาเล่นด้วยกันที่บ้าน และหากว่าลูกของคุณโดนปฏิเสธโดยเพื่อนต่างเพศ ที่เคยเล่นด้วยกันมา คุณควรอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า สิ่งนี้ไม่ได้เป็นความผิดของลูก และอีกไม่นานเจ้าตัวน้อยก็จะได้เพื่อนกลับมาเหมือนเดิม
หากนัดให้เพื่อนๆ ของลูกมาเล่นที่บ้าน แล้วเกิดสถานการณ์ตึงเครียด เช่น เด็กๆ มีความเห็นไม่ลงรอยกัน คุณอาจลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้ ด้วยการชวนเด็กๆ พักดื่มน้ำผลไม้เย็นๆ เพิ่มพลังและความสดชื่น รวมทั้งเบี่ยงเบนความสนใจไปในตัว
Let’s Play Together – เมื่อเด็กๆ มาอยู่รวมกันจำนวนมาก โดยที่คุณไม่ได้จัดสรรกิจกรรมที่เหมาะสมไว้ให้ วันดีๆ ก็อาจกลายเป็นฝันร้ายได้โดยไม่ทันตั้งตัวค่ะ กิจกรรมเหล่านี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเจ้าตัวเล็กและเพื่อนๆ ค่ะ
กระโดดเชือก หรือจะเป็นกระโดดหนังยางก็สนุกไม่แพ้กัน
งานประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นเปเปอร์มาเช่ พับกระดาษ เมื่อเสร็จแล้วอาจให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนผลงานกัน
เกมเศรษฐี หรือจะเป็นบันไดงู เกมต่อคำศัพท์อย่าง Scrabble ก็สนุกได้ไม่แพ้กัน
รัก/สาม/เศร้า เราสามคน
เจ้าตัวน้อยของคุณอาจเข้าคู่ได้ดีกับเพื่อนรักเพียงหนึ่งคน แต่เมื่อมีเพื่อนคนใหม่ ซึ่งเป็นคนที่สามเข้ามา ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนของเด็กๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ สามคนนั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากกว่า สำหรับเจ้าตัวน้อยบางคนอาจยังไม่โตพอที่จะยอมรับว่าเพื่อนอีกคนจะสนิทกับอีกคนมากกว่า หากคุณพบว่าลูกมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิท ที่หันไปสนิทกับเพื่อนใหม่ ขอให้เข้าใจว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กวัยนี้ค่ะ ขอให้คุณยอมรับฟังปัญหาของลูก ให้คำแนะนำและกำลังใจ ซึ่งจะทำให้เจ้าตัวน้อยผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ไม่ยาก
(Some images used under license from Shutterstock.com.)