Haijai.com


พี่น้อง(ต้อง)ทะเลาะกัน


 
เปิดอ่าน 2159

Family Fight (3-6) พี่น้อง(ต้อง)ทะเลาะกัน?

 

 

“แม่คร้าบบ พี่เข้ามาอยู่ในห้องหนูอีกแล้ว!!!”

 

“แม่!! น้องไม่ยอมให้หนูเล่นของเล่นด้วย”

 

“ให้พี่เล่นก่อน”

 

“ไม่ หนูเล่นก่อน!”

 

“แย่งเหรอ นี่แหนะๆๆๆ ตีเลย!!!”

 

 

สถานการณ์นี้คุ้นๆ ไหมค่ะ หากว่าบ้านของคุณมีเจ้าตัวเล็ก อย่างน้อย 2 คน อยู่ร่วมชายคากัน แน่นอนว่าเหตุการณ์ใกล้เคียงอย่างที่เรายกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ คงเคยเกิดขึ้นกับคุณบ้างแน่ๆ ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกบ้านค่ะ และหากว่าคุณพ่อคุณแม่รับมืออย่างถูกวิธีก็จะช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวได้ ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกันดีกว่าค่ะว่า ทำไมหนอ พี่น้องต้องทะเลาะกัน?

 

 

Why Do They Fight?

 

คลานตามกันมาแท้ๆ กินข้าวก็หม้อเดียวกัน ทำไมหนอลูกเราทั้ง 2 คน ถึงทะเลาะกันได้ทะเลาะกันดีเป็นกิจวัตร น้องก็กวนพี่ พี่ก็ไม่ยอมน้อง จนทำให้คุณพ่อคุณแม่หงุดหงิดได้ทุกครั้งไป ช้าก่อนค่ะ ก่อนที่คุณจะอารมณ์เสีย และทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ ลองมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เด็กๆ สามารถทะเลาะกันทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่คุณคิดว่าเล็กน้อยที่สุดก็ตาม ทั้งนี้เป็นเพราะ พี่น้องแม้ว่าจะรักกัน แต่ในช่วงวัยหนึ่งก็อาจจะเกิดอารมณ์อิจฉา หรือต้องการแข่งขันกับพี่หรือน้องของตน อยากเป็นที่รักของพ่อแม่ และได้รับความสนใจ นอกไปจากนั้น สาเหตุของการทะเลาะอาจมีหลายประการดังนี้

 

 

 ความต้องการพื้นฐาน : เด็กๆ แต่ละวัยมีความต้องการพื้นฐานที่โดดเด่นต่างๆ กันค่ะ หนูน้อยวัยเตาะแตะโดยธรามชาติจะหวงสิ่งที่เขาเป็นเจ้าของ และต้องการที่จะเก็บสิ่งนั้นไว้กับตัวโดยไม่แบ่งให้ใคร ซึ่งหากน้องหนูวัยทารก เกิดมาหยิบของเล่นของพี่วัยเตาะแตะไป ก็อาจเป็นเหตุให้พี่ตัวน้อยแสดงอามรมณ์และกริยาฉุนเฉียวออกมาได้  ในขณะเดียวกันหนูน้อยวัยอนุบาลก็จะเริ่มเรียนรู้เรื่องความยุติธรรม เด็กๆ วัยนี้ต้องการความเท่าเทียม ดังนั้นหนูน้อยวัยเรียนก็อาจไม่เข้าใจว่า ทำไมคุณแม่จึงปฏิบัติต่อตนกับน้องหนูวัยแบเบาะไม่เหมือนกัน เป็นที่มาของความรู้สึกว่าแม่รักลูกไม่เท่ากัน และอาจทำให้เจ้าตัวดีวัยอนุบาลพาลไม่ชอบน้องเอาง่ายๆ ความแตกต่างเหล่านี้เองค่ะ ที่ทำให้เด็กๆ ปฏิบัติตัวต่อพี่หรือน้องของตนต่างกันไป

 

 

 พื้นอารมณ์ : ถึงแม้ว่าจะเป็นพี่น้องกัน แต่ก็ใช่ว่าจะมีนิสัยเหมือนกันค่ะ ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นอารมณ์ของเด็กแต่ละคนแตกต่างกันนั่นเอง และบุคลิกที่โดดเด่นเฉพาะตัวของลูกแต่ละคนนี่เองที่มีบทบาทสำคัญในการอยู่ร่วมกันของพี่น้อง เช่น หากพี่คนโตเป็นเด็กเลี้ยงง่ายๆ สบายๆ ขณะที่น้องเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ ขี้โมโห ก็อาจทำให้พี่รำคาญน้อง น้องไม่ยอมพี่ จนทะเลาะกันได้บ่อยๆ

 

 

 ความต้องการพิเศษ : บางครั้งคุณหนูๆ ที่มีความต้องการพิเศษ อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ อาจต้องการการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่มากกว่าเด็กทั่วไป ทำให้พี่หรือน้องที่เป็นเด็กปกติ ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่จึงไม่สนใจลูกๆ อย่างเท่าเทียม นำมาซึ่งพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจได้ในที่สุด

 

 

 พฤติกรรมเลียนแบบ: วิธีการที่พ่อแม่ใช้ในการแก้ปัญหา เมื่อเกิดข้อขัดแย้ง จะกลายเป็นตัวอย่างให้ลูกๆ เรียนรู้และเลียนแบบได้ค่ะ หากว่าคุณทะเลาะกันเป็นประจำต่อหน้าลูก ก็มีแนวโน้มมากว่าเด็กๆ จะใช้วิธีการทะเลาะ โต้เถียง เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้ง บางทีพฤติกรรมพี่น้องทะเลาะกันของลูก อาจมาจากการที่พ่อแม่ตะโกนใส่กัน กระแทกประตู และใช้อารมณ์แก้ปัญหาก็เป็นได้ค่ะ

 

 

What to Do When They Fight

 

เมื่อคุณเห็นว่าวี่แววความขัดแย้งใกล้จะปะทุขึ้น สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ และผู้ใหญ่ทุกคนภายในครอบครัว ควรระลึกอยู่เสมอคือ “อย่าเข้าไปร่วมวง” นอกเสียจากว่าเด็กๆ เริ่มจะทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน และการเข้าไปของคุณควรเข้าไปในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยและห้ามไม่ให้เหตุการณ์เลยเถิดเท่านั้น หากว่าคุณเข้าไปห้ามปรามหรือแก้ปัญหาให้ลูกในทันที เด็กๆ จะได้ไม่เรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกคนใดคนหนึ่งคิดว่า คุณมักจะปกป้องลูกอีกคนมากกว่าเสมอ ซึ่งจะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นตามมา กรณีที่คุณเข้าไปคลายความขัดแย้งให้ลูก พยายามแก้ปัญหา “กับ” พวกเขา แต่ไม่ใช่แก้ปัญหา “เพื่อ” พวกเขา

 

 

ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับ เพื่อให้คุณทำตัวได้ถูกต้องมากขึ้นเมื่อพยามคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างพี่น้องค่ะ

 

 แยกเจ้าตัวดีออกจากกัน จนกว่าทั้งคู่จะสงบอารมณ์ได้ ในบางกรณีอาจจะแค่ให้ลูกทั้งสองนิ่ง หยุดพูด หยุดการกระทำทุกอย่าง ก่อนที่คุณจะเข้าไปแก้ความขัดแย้ง แต่หากคุณต้องการให้นี่เป็นประสบการณ์ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ ก็ควรรอจนกว่าอารมณ์ของทุกฝ่ายสงบลงก่อน จึงค่อยสอนบทเรียนให้ลูก

 

 

 อย่ากดดัน หรือพยายามหาตัวคนผิด ในเมื่อลูก 2 คนทะเลาะกัน สิ่งที่เกิดขึ้นเด็กทั้งคู่ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันด้วย

 

 

 พยายามสร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ อย่างที่เรียกว่า win-win situation เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้บางอย่าง เช่น เมื่อลูก 2 คน ต้องการเล่นของเล่นชิ้นเดียวกัน คุณอาจจะเปลี่ยนเป็น ให้เด็กได้เล่นเกมที่เล่นพร้อมๆ กันได้ทั้ง 2 คน แทน เป็นต้น

 

 

ปรับนิสัยพี่น้อง ต้องไม่ทะเลาะกัน

 

ต่อไปนี้เป็นสิ่งง่ายๆ ที่คุณทำได้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องค่ะ

 

 ตั้งกฎ โดยเฉพาะในเรื่องของพฤติกรรม บอกกับลูกว่าเด็กๆ ไม่ควรพูดคำหยาบ ตะโกนใส่หน้า หรือทำปึงปังใส่กัน และอธิบายให้ลูกฟังว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากลูกละเมิดกฎด้วยการแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้รู้ว่าเขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา

 

 

 อย่าปล่อยให้เด็กๆ ทำให้คุณคิดว่าคุณต้องแสดงความยุติธรรมตลอดเวลา เพราะในบางกรณี หนูน้อยอีกคนก็อาจจำเป็นต้องรับผิดชอบต่อการกระทำมากกว่าหนูน้อยอีกคนหนึ่ง

 

 

 ให้ความสนใจกับลูกอย่างเท่าเทียมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังการทะเลาะเบาะแว้ง หากลูกคนโตอยากออกไปเดินเล่น ก็ควรพาเขาไป แต่เมื่อกลับมาแล้ว หากลูกคนเล็กต้องการให้คุณเล่านิทานให้ฟัง คุณก็ต้องทำด้วย

 

 

 แน่ใจว่าลูกแต่ละคนมีพื้นที่ส่วนตัว และมีเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเองที่เขาจะได้เล่นอย่างที่เขาต้องการโดยไม่ต้องมีพี่หรือน้อง ติดสอยห้อยตามไปด้วย

 

 

 แสดงให้ลูกเห็น และอธิบายให้ลูกเข้าใจว่า สำหรับคุณ ความรักเป็นสิ่งที่ต้องมีขอบเขต

 

 

 ทำให้ลูกรู้ว่า พวกเขามีความสำคัญ และจะได้รับการดูแลให้ปลอดภัย รวมทั้งความต้องการทั้งหลายที่อยู่บนเหตุและผลของลูกจะได้รับการตอบสนอง

 

 

 ทำกิจกรรมร่วมกันทั้งครอบครัว เพราะจะช่วยลดความตึงเครียดระหว่างพี่น้องที่ทะเลาะกัน เพราะในกิจกรรมเหล่านี้ทุกคนจะได้รับความสนใจอย่างเท่าเทียม

 

 

 หากลูกทะเลาะกันซ้ำๆ ในเรื่องเดิมๆ เช่น แย่งกันใช้คอมพิวเตอร์ ติดตารางเพื่อบ่งบอกเวลาการใช้งานสิ่งนั้นๆ สำหรับเด็กแต่ละคนเอาไว้ แต่ถ้ายังทะเลาะกันอีก เด็กทั้งคู่ก็จะไม่ได้ในสิ่งนั้นอีก

 

 

 หากว่าลูกๆ ยังทะเลาะกันอยู่บ่อยๆ คุณควรนัดวันพูดคุยกันภายในครอบครัว เพื่อย้ำถึงกฏที่ใช้ในครอบครัว และทบทวนความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สามารถทำได้ในวันที่ผ่านๆ มา คุณอาจลองใช้วิธีให้รางวัล เมื่อลูกสามารถเล่นหรือร่วมกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะ เช่น ถ้าลูกไม่ทะเลาะกันเลยใน 1 วัน จะได้เลือกขนมที่ชอบ ไม่ทะเลาะกัน 1 สัปดาห์จะพาไปเที่ยว เป็นต้น

 

 

 อย่าลืมว่า เด็กๆ แต่ละคนต้องการเวลาห่างจากพี่น้องและครอบครัวบ้าง คุณอาจจัดให้ลูกๆ ได้ไปเล่นบ้านเพื่อนสนิท หรือให้ลูกแต่ละคนได้ไปเที่ยวลำพังกับคุณบ้าง

 

 

>> ขณะที่เจ้าตัวน้อยเรียนรู้ที่จะระงับอารมณ์ เขาก็ยังได้เรียนรู้ทักษะสำคัญที่จะใช้ในการดำเนินชีวิต อย่างเรื่องของการยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น การประนีประนอม การต่อรอง และการควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวของตัวเอง

 

 

พ่อแม่ไม่อยู่ หนูๆ ไม่ทะเลาะกัน

 

อย่าลืมค่ะว่า การที่เจ้าตัวน้อยทะเลาะกันบางครั้ง ก็เพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณก็น่าจะหาเวลาให้ตัวเอง ได้ไปทำอะไรที่เป็นส่วนตัวโดยปราศจากลูกๆ บ้าง เชื่อเถอะค่ะว่า เมื่อคุณไม่อยู่ เด็กๆ ก็จะอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี

(Some images used under license from Shutterstock.com.)