© 2017 Copyright - Haijai.com
Boy & Girl Differences (1-3) เด็กหญิงชายต่างกันอย่างไรหนอ
เมื่อเจ้าตัวเล็กย่างเข้าสู่วัยเตาะแตะที่ความแตกต่างระหว่างเพศเริ่มเห็นได้ชัด คุณเคยสงสัยไหมค่ะว่าทำไมเด็กชายชื่นชอบจะเล่นหุ่นยนต์ต่อสู้หรือรถบังคับ ขณะที่ลูกสาวชื่นชอบสิ่งสวยงาม และมีตุ๊กตาหน้าหวานเป็นเพื่อน ทั้งที่บางครั้งคุณอาจจะยังไม่เคยบอกลูกด้วยซ้ำว่าเป็นผู้ชายต้องเล่นรถ เป็นผู้หญิงต้องเล่นตุ๊กตา อะไรที่ทำให้เด็กหญิงเป็นผู้หญิง และอะไรที่ทำให้เด็กชายเป็นผู้ชาย นอกจากร่างกายที่แตกต่างกันแล้ว มีอะไรบ้างที่หล่อหลอมความเป็นชาย-หญิง ให้กับเจ้าตัวน้อยของเรา มาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันดีกว่า
Born to be Boy or Girl
งานวิจัยจาก UCLA ประเทศสหรัฐฯ เมื่อประมาณปี ค.ศ.2003 ที่ทำการศึกษาสมองของทารกในครรภ์มารดา พบว่าสมองของทารกในครรภ์นั้นมีจำนวนและชนิดของยีนส์ที่ต่างกัน ระหว่างทารกเพศหญิงและเพศชาย ก่อนที่ฮอร์โมนจะเข้ามามีบทบาทในความต่างของร่างกายเสียอีก จากที่ก่อนนี้นักวิชาการเชื่อว่า ฮอร์โมนต่างหากที่มีส่วนในการจัดระบบสมองของชายหญิง แต่จากงานวิจัยนี้ก็ดูเหมือนว่าสมองของผู้หญิงและผู้ชาย อาจแตกต่างกันมาตั้งแต่แรกอยู่ในครรภ์มารดาเลยก็เป็นได้
เหตุผลข้างต้นนี้ อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักในการหล่อหลอมความเป็นหญิงหรือชายค่ะ นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่หลังจากที่ทารกคลอดออกมาแล้ว งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมินิโทบา (University of Minitoba) พบว่าเด็กชายจะแอ๊คทีฟกว่าเด็กหญิง แต่ทั้งนี้เมื่อเจ้าตัวน้อยค่อยๆ โตขึ้น การเลี้ยงลูก สภาพแวดล้อม และสังคม ก็เป็นตัวการหลักที่ช่วยเสริมความเป็นหญิงหรือชายให้กับเด็กแต่ละคน
Brain Factor
การทำงานของสมองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความต่างค่ะ สมองของเพศชายมีแนวโน้มว่าจะมีขนาดใหญ่กว่าสมองของเพศหญิง แต่ทั้งนี้สมองของเด็กหญิงดูจะมีความเชื่อมโยงระหว่างสมองทั้งสองซีกได้ดีกว่า และแต่ละเพศก็ดูเหมือนว่าจะใช้งานสมองในส่วนที่ต่างกันออกไปด้วย และนี่เองคือคำตอบที่ว่าทำไมเด็กหญิงและเด็กชายจึงเรียนรู้ต่างกัน
โดยทั่วไปเด็กผู้หญิงมักเรียนรู้เรื่อง การพูด คำศัพท์ ประสาทสัมผัส และมีการตระหนักรู้ได้เร็วกว่าเด็กชาย อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเริ่มต้นเรียนรู้ช้ากว่า แต่ในที่สุดเด็กชายก็จะตามทันเด็กหญิง และพัฒนาแซงหน้าเด็กผู้หญิงในเรื่องของรูปทรง ตรรกะ เช่น การต่อจิ๊กซอว์ ตัวต่อให้เข้าที่เข้าทาง
Gender Roles by Parent
พ่อแม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมพฤติกรรมของความเป็นเด็กชายเด็กหญิงให้กับลูก โดยที่คุณเองก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำคะ เช่น การเลือกซื้อของสีฟ้าให้ลูกชาย สีชมพูให้ลูกสาว รวมทั้งปฏิบัติตัวต่อลูกชายและลูกสาวแตกต่างกันด้วย เรากอดและทะนุถนอมลูกสาวมากกว่า ขณะเดียวกันก็เล่นมวยปล้ำกับลูกชายวัย 2 ขวบ เป็นต้น ดังนั้นความเป็นหญิงชายเกิดนั้นเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือมาจากการเลี้ยงดูมากกว่ากัน กันแน่?
หากจะหาคำตอบที่ชัดเจนแบบฟันธง คงไม่มีค่ะ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่นั้น เป็นตัวการสำคัญในการหล่อหลอมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับลูกได้ ดังนั้นคุณก็ควรระวังที่จะไม่ห้ามปราม หรือวิพากษ์วิจารณ์จนเกินเหตุ หากลูกชายจะเล่นตุ๊กตา หรือลูกสาวจะชอบปีนป่าย เพราะหากตัดเรื่อง “สิ่งที่ควรจะเป็น” ตามเพศแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็เป็นการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างหนึ่งของเจ้าตัวเล็กด้วยค่ะ
Toddler See, Toddler Do
เด็กๆ เรียนรู้จากการเฝ้าดู และทำตามผู้ใหญ่ค่ะ วิธีการนี้จะทำให้เจ้าตัวน้อยค่อยๆ เข้าใจว่า ผู้ชาย และ ผู้หญิงต่างกันอย่างไร คุณคงจะไม่ตกใจหากเห็นลูกสาวทาลิปสติกของคุณแม่ และลูกชายพยายามจะผูกเนคไท แบบคุณพ่อ แต่ในทางกลับกัน หากคุณพบลูกชายใส่ส้นสูงเดินไปมา และลูกสาวทำท่าการโกนหนวดของพ่อ คุณอาจรู้สึกแปลกๆ แต่ “อย่ากังวลใจไปเลยค่ะ” เพราะว่านี่เป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งของเด็กในวัยนี้ คุณต้องไม่ลืมว่าสำหรับหนูน้อย ทุกสิ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา และเด็กๆ ก็คิดเพียงแค่จะเลียนแบบการกระทำของ “ผู้ใหญ่” โดยที่ไม่ได้คิดถึงความเป็นหญิงหรือชาย โดยแม้แต่น้อย คุณควรปล่อยให้ลูกเล่นของเล่นอะไรก็ได้ที่เขาต้องการ ตราบเท่าที่สิ่งนั้นไม่เป็นอันตราย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ที่สุดเพื่อการพัฒนาที่ดี ของเจ้าตัวน้อยนั่นเอง
เด็กๆ จะยังไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างเพศจนกว่าจะอายุย่างเข้าวัย 3 ปี ซึ่งหนูน้อยจะบอกเพศของตัวเองได้ และจัดตัวเองให้เข้ากลุ่มที่ถูกต้องตามเพศได้
Stop Stereotype
เลิกกำหนดกฏเกณฑ์ค่ะว่า เด็กชายควรเล่นอะไร และเด็กหญิงควรเล่นอะไร เพราะจริงๆ แล้วเรื่องการเรียนรู้ และการเล่นของลูกไม่มีถูกผิดค่ะ
1.อย่ากดดัน เช่นเดียวกันกับพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของลูกชายจากการเล่นตุ๊กตา หรือเอาของเล่นอื่นมาล่อลูกสาวที่ชอบเล่นหุ่นยนตร์ อย่าทำกับลูกเหมือนสิ่งที่เขาเล่นนั้นเป็นสิ่งผิด ที่น่าละอาย เพราะสิ่งนี้จะกีดขวางการเรียนรู้ของลูกค่ะ
2.จัดกิจกรรมหลากหลาย เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งทีเดียวค่ะ ที่จะให้เจ้าตัวเล็กได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำในสิ่งที่เพศตรงข้ามก็ทำได้ เช่น คุณแม่เปลี่ยนหลอดไฟ คุณพ่อทำกับข้าว เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า หญิงหรือชายก็สามารถทำทุกอย่างได้เท่าเทียมกัน
3.ดูโทรทัศน์ จริงอยู่ค่ะว่าเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรดูโทรทัศน์ แต่ทั้งนี้ หากมีผู้ปกครองชี้แนะ และใช้เวลาอยู่หน้าจอไม่นานเกินไป คุณก็อาจชี้ให้ลูกเห็นว่าผู้หญิงเก่งๆ ก็สามารถทำงานได้เท่าเทียมผู้ชาย อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์ และผู้ชายก็อาจเป็นเจ้าของร้านเบเกอรี่ได้เหมือนกัน
The Gender Toy
เชื่อหรือไม่ค่ะว่า หนูน้อยวัยเตาะแตะดูเหมือนจะเข้าใจได้ว่าของเล่นชิ้นไหน “ควรจะ” เป็นของเล่นสำหรับเด็กชาย และสำหรับเด็กหญิง จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งไวโอมิ่ง สหรัฐฯ พบว่า หนูน้อยวัยเตาะแตะสามารถเลือกของเล่นที่เหมาะกับเพศของตนได้ และมักจะสำรวจและเล่นของเล่นเหล่านั้น เพื่อพัฒนาการ และค้นหาอัตตาลักษณ์ทางเพศของตน
(Some images used under license from Shutterstock.com.)