Haijai.com


Baby Discipline สร้างวินัย วัยเบบี๋


 
เปิดอ่าน 1531
 

Baby Discipline สร้างวินัย วัยเบบี๋

 

 

อาจจะดูเหมือนว่าชีวิตของเบบี๋แรกเกิดวันๆ ไม่เห็นจะมีอะไร แค่กล่อมให้ลูกนอนหลับ พอตื่นมาก็ให้ดูดนม เล่นกับเขาบ้างตามอัตภาพ ถ้าเขาร้องอีกก็ให้ดูดนมอีก วนไปวนมาอยู่แค่นี้ แต่จริงๆ แล้วการเลี้ยงดูคุณหนูวัยทารกนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากกว่านั้นค่ะ เพราะในช่วงขวบปีแรกนี้ หากคุณปล่อยให้เวลาผ่านไป โดยไม่ได้สอนทักษะที่สำคัญในการดำรงชีวิตอย่างเรื่องของ “วินัย” ให้ลูกแล้ว รับรองได้เลยว่า คุณจะต้องเจอกับคุณหนูมหาภัยเมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะแน่ๆ แล้วจะหาว่าลูกเป็นเด็กดื้อไม่ได้นะ

 

 

Why Discipline? ทำไมต้องสร้างวินัย วัยเบบี๋?

 

การดูแลทารกแรกเกิดที่แสนบริสุทธิ์และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น ช่างเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ค่ะ หนูน้อยอาจจะร้องไห้จ้าอย่างไม่มีสาเหตุ แหวะนมใส่เสื้อตัวโปรดของคุณ หรือปลุกคุณขึ้นมา กลางดึก แต่ทั้งนี้คุณจะโกรธหรือคาดโทษกับลูกก็ใช่ที่  เมื่อเป็นเช่นนี้คุณก็อาจพบตัวเองเหนื่อยกับการตะโกนห้าม วิ่งไล่จับ หรืออุ้มเจ้าตัวดีเข้าสะเอวไว้ตลอดเวลาไม่ว่าคุณจะทำอะไร และก็จะยิ่งพบว่า หากคุณห้ามลูกมากเท่าไร ก็เหมือนว่าเจ้าตัวดีจะยิ่งวุ่นไม่หยุดหย่อน การที่คุณห้ามลูกมากๆ ในทุกสิ่งที่เขาทำ อาจทำให้เจ้าตัวเล็กเข้าใจว่าการเล่นหรือการกระตื้อรือร้นมากเป็นพิเศษของเขานั้นเป็นสิ่งผิด

 

 

จะเป็นการดีมากกว่าหากคุณระลึกอยู่เสมอว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ในวัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นโยนชามข้าวทิ้ง หรือเด็ดดอกไม้ที่คุณปลูก ฯลฯ ล้วนเป็นการทดลอง ทดสอบขอบเขต และความเป็นอิสระของเจ้าตัวเล็ก ซึ่งเป็นพัฒนาการของหนูน้อยในวัยนี้ นอกจากนี้ เด็กๆ ยังเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องจากความผิดพลาดด้วย และในฐานะที่คุณเป็นพ่อแม่ คุณจึงควรที่จะคอยสอนพวกเขา ระเบียบวินัยหมายถึงการ “คาดหวังในสิ่งที่เป็นจริงได้” สำหรับพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยแต่ละคน รวมทั้งยังหมายถึงการยินดีที่จะตั้งกฎเกณฑ์และขอบเขตอยู่เป็นเหตุผลอีกด้วย

 

 

Stop It Before It Starts สร้างวินัย ก่อนนิสัยแย่

 

ต่อไปนี้ คือวิธีการที่จะช่วยสร้างวินัยให้เจ้าตัวน้อย ก่อนที่เด็กดีของคุณจะกลายเป็นเด็กดื้อค่ะ

 

 

หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า

 

เมื่อเจ้าตัวน้อยเข้าสู่วัยคลาน คุณน่าจะรู้ว่าคุณต้องหาอุปกรณ์ปิดรูปลั๊กไฟมาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าตัวดีนำนิ้วน้อยๆ แหย่เข้าไปในปลั๊กไฟ รวมทั้งเก็บข้าวของที่อาจตกแตกให้พ้นมือเจ้าตัวน้อย เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรใส่ใจและให้ความสำคัญเพื่อความปลอดภัยของลูก ขณะเดียวกันก็เพื่อป้องกันไม่ให้คุณต้องคอยห้ามลูกอยู่ตลอดเวลา ทำให้เจ้าตัวเล็กได้เรียนรู้โลกกว้างอย่างเสรี เมื่อเป็นเช่นนี้คุณจึงน่าจะจัดห้องหนึ่งภายในบ้านให้เป็นห้องที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าตัวเล็ก เพราะสิ่งเหล่านี้น่าจะทำได้ง่ายกว่าการพร่ำบอกลูกว่า “อย่า หรือ ห้าม” ซ้ำไปมาหลายๆ ครั้งต่อวัน

 

 

เบี่ยงเบนความสนใจ

 

เพราะว่าเด็กๆ มักมีความสนใจสั้น ฉะนั้น หากลูกร้องไห้เพราะต้องการจะเล่นกรรไกรสีแดง (แต่แหลมคม) คุณอาจจะเบี่ยงเบนลูกด้วยการให้เขาเล่นสิ่งอื่นที่ไม่เป็นอันตรายแทน หรืออุ้มเขาออกจากสถานการณ์นั้นๆ ชี้นกชมไม้ ไม่นานเด็กๆ ก็จะลืมเรื่องที่เขางอแงได้เอง วิธีจะทำให้คุณไม่ต้องตามใจลูกในสิ่งที่ไม่ควร ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องขัดใจเจ้าตัวเล็กด้วยค่ะ

 

 

นอนหลับให้พอ

 

เด็กๆ ที่นอนไม่พอ จะยิ่งมีอาการงอแงอาละวาด และยากที่จะรับมือยิ่งขึ้น โดยทั่วไปแล้ว ความเหนื่อยล้า เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของพฤติกรรมไม่น่ารัก หนูน้อยในวัยนี้จำเป็นต้องนอนหลับต่อเนื่องประมาณ 10-12 ชั่วโมงในเวลากลางคืน และประมาณ 1-3 ชั่วโมงในเวลากลางวัน หากลูกของคุณนอนน้อยกว่านี้ และงอแงเป็นประจำ การนอนน่าจะเป็นตัวการสำคัญเลยค่ะ วันไหนที่รู้สึกว่าลูกนอนไม่พอ คุณอาจเลื่อนเวลาเข้านอนให้เร็วขึ้นได้

 

 

ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่สนใจ

 

หนูน้อยส่วนใหญ่มักจะทำทุกสิ่งเพื่อเรียกร้องความสนใจของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เมื่อรู้อย่างนี้หากลูกของคุณเริ่มทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เช่น กรีดร้องทุกครั้งที่คุณพูดโทรศัพท์ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรผิดปกติ เมื่อคุณเข้าไปดูลูก วิธีการที่จะหยุดพฤติกรรมดังกล่าวก็เพียงแค่เลิกสนใจเขาค่ะ การให้ความสนใจ หรือแม้กระทั่งแสดงอาการโกรธ จะยิ่งทำลูกเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นได้รับการตอบสนอง และเขาก็จะทำต่อไป เมื่อคุณทำไม่สนใจ ซึ่งนั่นหมายถึงการไม่หันไปมอง และไม่สบตาของลูกด้วย จะทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกว่าพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น จะไม่ได้รับการตอบสนอง ในที่สุดเขาก็จะเลิกงอแงไปเองค่ะ

 

 

คุณสามารถใช้วิธีการ Time – Out กับเบบี๋วัยขวบปีแรกได้ค่ะ อายุที่เหมาะสมคือ 9 เดือนขึ้นไป เด็กวัยนี้ยังไม่ได้ระวังว่าสิ่งที่เขากระทำอาจทำให้ใครเจ็บปวด เขาอาจเผลอกัดมือเมื่อคุณเล่นด้วย หากเป็นเช่นนี้ บอกลูกว่า “ห้ามกัดนะคะ มันทำให้แม่เจ็บ” แล้วจับลูกนั่งนิ่งบนตักสัก 1 นาที หนูน้อยจะเชื่อมโยงสิ่งที่เขาทำกับผลที่ได้รับ เมื่อครบ 1 นาที พูดย้ำอีกครั้งว่า “ห้ามกัดนะคะ” แล้วกอดลูกเหมือนเดิม

 

 

วัยเบบี๋ โดนตีได้ไหม?

 

คุณลองทุกวิถีทางแล้ว เจ้าตัวดีวัย 8 เดือน ก็ยังร้องกรี๊ดๆ เมื่อไม่ได้เล่นคัตเตอร์สีสวย หนูน้อยอาละวาดดิ้นไปบนพื้น น่าตีเสียจริงๆ แต่คุณจะตีลูกได้ไหม? นักวิชาการส่วนใหญ่บอกว่า “ไม่” การตีอาจได้ผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว เด็กๆ มักมั่นใจในตัวคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อคุณตีเขา ก็จะทำให้ลูกเกิดสับสนได้ ว่าทำไมพ่อแม่จึงทำให้เขาเจ็บ งานวิจัยถึง 88 ชิ้นในเรื่องนี้ ระบุว่ายิ่งเด็กโดนตีมากเท่าไร เขาก็จะยิ่งเติบโตมาก้าวร้าว และรังเกียจการเข้าสังคมมากขึ้นเท่านั้น

 

 

3 Steps Discipline

 

การฝึกสิ่งต่างๆ ให้เจ้าตัวน้อยนั้น หากเริ่มตั้งแต่เขายังเด็กเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้คุณฝึกลูกได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้นค่ะ เรื่องของวินัยก็เช่นเดียวกัน การสร้างวินัยในเด็กเล็กๆ นั้น มักจะได้ผลดีเสมอหากคุณใช้ 3 ขั้นตอนต่อไปนี้ อย่างสม่ำเสมอ และจริงจัง

 

 

1.ตั้งกฎ เรื่องง่ายๆ เลยที่ทำได้ในวัยเบบี๋ ก็คือ เรื่องของวินัยการกิน และการนอนค่ะ คุณควรเริ่มฝึกให้ลูกกินและนอนให้เป็นเวลา อาจจะยากในช่วงเดือนแรกๆ แต่หากคุณใจแข็งสักนิด อดทนสักหน่อย เช่นจู่ๆ ลูกก็ร้อง ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาให้นม และคุณก็มั่นใจว่าลูกดูดนมจนอิ่มในมื้อที่ผ่านมา ก็อาจจะรอให้ใกล้เวลาอีกสักนิด แล้วค่อยให้นมลูก หรือ เมื่อลูกโต ฝึกให้เขานั่งโต๊ะกินอาหาร ไม่ปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น แล้วตามป้อน เป็นต้น

 

 

2.บอกผลลัพธ์ เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มจะสื่อสารรู้เรื่อง และมีทีท่าจะแสดงพฤติกรรมไม่น่ารัก คุณอาจกล่าวเตือนด้วยการบอกผลลัพธ์ เช่น “อย่าปีนโซฟานะคะ เพราะลูกจะตกลงมาแล้วก็จะเจ็บ” “ลูกต้องนั่งลงกินข้าวดีๆ ก่อนจะไปเล่น ไม่อย่างนั้นแม่จะเอาจานข้าวไปเก็บ” หากว่าลูกยังไม่หยุด ลองข้อต่อไปค่ะ

 

 

3.ปฏิบัติการ หลังจากพูดเตือนหลายครั้งแล้วยังไม่ได้ผล คุณควรทำสิ่งที่คุณได้พูดเตือนไว้ก่อนหน้า เช่น หากลูกยังปีนป่ายโซฟา คุณก็ควรเดินเข้าไปอุ้มลูกลงมา หากเจ้าตัวดียังดื้อดึง คุณอาจต้องอุ้มลูกไปไว้อีกห้อง หรือเบี่ยงเบนความสนใจ

 

 

หากคุณทำได้ดังนี้ เป็นประจำและสม่ำเสมอ เชื่อเถอะค่ะว่า วินัยวัยเด็กจะสร้างได้จริงๆ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)