
© 2017 Copyright - Haijai.com
การแก้ปัญหาวิธีคิดและความรู้สึกของเด็ก
หลักจากที่คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบถึงการเข้าใจถึงวิธีคิด และความรู้สึกของลูกๆ จากพัฒนาการที่มีตามมาหลังจากที่พวกเขานั้นค่อยๆ เติบโตขึ้น พอถึงตรงนี้คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำความเข้าใจ และวางรากฐานของลูกๆ โดยการเสริมสร้างวินัยเชิงบวกคือเรื่องของการแก้ปัญหา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็จะมีมาพร้อมตัวลูกตั้งแต่วัยแรกเกิดกันเลยทีเดียว ฉะนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตดูลูกดีๆ แล้ว ก็จะเข้าใจในปัญหาต่างๆ เหล่านั้น แล้วก็จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาคะ
ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ซ่อนมากับพัฒนาการของลูก
วัยแรกเกิดถึง 6 เดือน
เป็นเรื่องที่จะท้าทายความรู้สึกและความอดทนในการที่จะจัดปัญหาของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เพราะลูกในวัยนี้เป็นวัยที่เขาไม่สามารถบอกอะไรเราได้ นอกจากเสียงร้อง และเสียงร้องนั้นอาจจะบอกพ่อแม่ว่า เขาปวดท้อง หิว ง่วง ไม่สบาย ฯลฯ ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้พ่อแม่ควรที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของลูกให้ได้ หากพ่อแม่เรียนรู้ได้ก็จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่เกิดกับลูกในวัยนี้ได้ และให้จำไว้ว่าเด็กในวัยนี้จะไม่ร้องไห้เพื่อยั่วโมโหท่านอย่างเด็ดขาด ลูกร้องก็เพราะเขาไม่เข้าใจว่าท่านมีความรู้สึกเหมือนกัน เขาร้องเพราะเขาจำเป็นต้องร้องเท่านั้น
วัย 6 ถึง 12 เดือน
ลูกวัยนี้จะยังอยู่ในช่วงของทารก ซึ่งพฤติกรรมของลูกวัยนี้คือจะตื่นขึ้นมาร้องตอนดึกบ่อยๆ และตรงนี้แหละที่คุณพ่อคุณแม่จะเหนื่อยล้าเพราะต้องถูกขัดจังหวะการนอนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตรงนี้พ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติของทารกว่าเขาต้องเป็นแบบนี้ และเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกเพื่อนำมาสู่การค้นหาปัญหาที่ทำให้ลูกร้องไห้ตอนดึกๆ หากพบคำตอบแล้วก็จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาได้คะ รู้ไหมคะว่าลูกๆ ของเรานั้นไม่ได้ส่งเสียงดังเพื่อทำให้พ่อแม่นั้นขายหน้าหรือทำให้ท่านโมโห แต่เขาเพียงตื่นเต้นกับเสียงที่ค้นพบใหม่ เขาชอบที่จะทดลองและค้นหาเสียงใหม่ๆ ที่เขาสามารถทำได้ เสียงของเขา แม้จะดัง ก็เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าเขากำลังเติบโตและพัฒนา
วัย 1 ถึง 2 ปี
ในระยะนี้ เด็กๆ จะเริ่มเดินและชอบสำรวจสิ่งต่างๆ สิ่งท้าทายสำหรับพ่อแม่ในระยะนี้ ก็คือการปกป้องให้ลูกปลอดภัยจากสิ่งที่เขากำลังค้นหาหรือสำจรวจอยู่ เพราะเขาจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นจะมีอะไรอันตรายซ่อนอยู่ด้วยหรือเปล่า เขาอาจจะทำแก้วแตก วิ่งชนโน่นชนนี่ หยิบของหน้าตาแปลกๆ เข้าปาก ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ควรระลึกนึกถึงไว้เสมอว่าลูกท่านไม่ได้หยิบของ เอาของใส่ปาก และทำของหล่นเพียงเพื่อทำให้ท่านโมโห เขาไม่เข้าใจว่าของสิ่งไหนจะทำให้เขาเจ็บตัว และของสิ่งไหนมีค่าสำหรับท่าน เพราะนี่คือพัฒนาการของเด็กวัยหัดเดินที่เขามักหยิบของขึ้นมาเพื่อชิมรส และนี่คือสิ่งที่เขากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของเขาอยู่
วัย 2 ถึง 3 ปี
เด็กในวัยนี้มักจะพัฒนาความรู้สึกกลัวขึ้นมา สำหรับพ่อแม่แล้วอาจทำให้เครียดมากเวลาที่ลูกร้องไห้ทุกครั้งที่พ่อแม่จะเดินจากไป หรือเมื่อลูกกลัวคนอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเรียนรู้พฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ของลูกให้ได้ว่าทำไมลูกถึงกลัวกับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเขา แต่ถ้าทำความเข้าใจให้ดีก็จะรู้ว่านี่คืออีกหนึ่งพัฒนาของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะมีความเข้าใจวิธีคิด และความรู้สึกของเด็ก เพราะนั่นก็จะนำมาซึ่งการเข้าใจถึงปัญหา และคิดต่อไปยังการแก้ปัญหาได้คะ
วัย 3 ถึง 5 ปี
เด็กๆ ในวัยนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็นตื่นเต้นกับสิ่งแปลกใหม่ เขาอยากรู้ว่าของทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้านั้นทำงานอย่างไร และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เขาจะชอบทดลองเล่นกับสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ และในช่วงวัยแห่งพัฒนาการอันน่าตื่นเต้นของลูกนี้ จะเป็นเหมือนการบ้านให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักคิด และเข้าใจถึงความคิดของลูกๆ ได้เป็นอย่างดี การเข้าใจนี้จะเป็นผลดีมากถ้าเกิดลูกมีปัญหาขึ้น คุณก็จะสามารถแก้ปัญหานั้นๆ ได้อย่างดีเยี่ยม
วัย 5 ถึง 9 ปี
เด็กวัยนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะเขาจะต้องออกไปเผชิญกับโลกกว้างภายนอก นั่นก็คือการได้เข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่จากโรงเรียน ได้พบกับคุณครู เพื่อนใหม่ ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้เขาต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่นี้ให้ได้ การพยายามที่จะปรับตัวนี้เองอาจจะนำมาซึ่งปัญหาคือคุณอาจได้รับรายงานจากครูของลูกว่า เขาไม่ยอมเรียน และเข้าหาเพื่อน ชอบที่จะนั่งนิ่งๆ ไม่สนใจใคร และพอท่านทราบถึงปัญหาตรงนี้แล้ว ก็ควรที่จะทำความเข้าใจกับลูกในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ให้เขาได้รับรู้ถึงทัศนะคติที่ดีกับโรงเรียน ครู และเพื่อนๆ ช่วงแรกอาจต้องใช้เวลา และความอดทนเป็นอย่างมาก กว่าที่ลูกจะเข้าใจ ปรับตัวได้ แต่หากผ่านตรงนี้ไปได้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะรู้สึกดีขึ้นกับพฤติกรรมนี้ของลูกคะ
คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ไว้เสมอว่าการเข้าใจวิธีคิด และความรู้สึกของเด็กอย่างเข้าใจจริงถึงพฤติกรรมต่างๆ ตามช่วงวัยรวมถึงพัฒนาการของลูกด้วยนั้นเป็นอย่างดี ก็จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
(Some images used under license from Shutterstock.com.)