Haijai.com


เรื่องน่ารู้ ของการอยู่ไฟคุณแม่หลังคลอด


 
เปิดอ่าน 5752
 

การอยู่ไฟ คืออะไร

 

 

การอยู่ไฟเป็นประเพณีไทยโบราณที่ยึดปฏิบัติกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งคุณแม่หลังคลอดควรที่จะได้รับการอยู่ไฟทุกคนคะ เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของคุณแม่หลังคลอดที่เสื่อมหรือสมรรถภาพร่างกายบกพร่องไปในช่วงที่ตั้งครรภ์ให้กลับคืนความแข็งแรงมาเหมือนเดิม ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายระบบไหลเวียนโลหิตทำงานมากขึ้น รวมถึงการสูญเสียน้ำ เกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายไป ซึ่งการอยู่ไฟ และการทำตามขั้นตอนของการอยู่ไฟที่ถูกต้องนั้น ก็จะสามารถช่วยและค่อยๆ ทดแทนสิ่งที่คุณแม่หลังคลอดสูญเสียไปนั้น ค่อยๆ กลับมามีสมดุลทางร่างกายมากขึ้นกว่าเดิม

 

 

เรื่องน่ารู้ ของการอยู่ไฟคุณแม่หลังคลอด

 

คุณแม่หลังคลอดหลายท่านคงเคยได้ยินเรื่องการอยู่ไฟหลังคลอดกันมาบ้างแล้ว ยิ่งโดยเฉพาะคุณแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด คงจะเคยได้รับการอยู่ไฟหลังคลอดจากคนโบร่ำโบราณ ที่ถือยึดปฏิบัติกันว่าถ้าคลอดลูกแล้วจะต้องอยู่ไฟ ไม่เช่นนั้นพอคลอดลูกแล้วจะฟื้นตัวช้า อยู่ไฟแล้วจะช่วยขับน้ำคาวปลาที่คั่งค้างของคุณแม่ ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ช่วยในเรื่องการขับไขมันส่วนเกินทำให้สัดส่วนของคุณแม่กลับมาเข้าที่เข้าทางได้เร็วขึ้น

 

 

ประโยชน์ของการอยู่ไฟ

 

ช่วยให้คุณแม่หลังคลอดได้พักผ่อนเต็มที่ และร่างกายได้รับความอบอุ่น ทำให้น้ำคาวปลาถูกขับออกมา ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ความร้อนจากการอยู่ไฟจะช่วยกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ช่วยให้คุณแม่หลังคลอดมีสุขภาพแข็งแรง และยังช่วยให้แผลฝีเย็บแห้ง และหายเร็วยิ่งขึ้น ฯลฯ

 

 

อยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอด ปฏิบัติกันตามนี้

 

 การทับหม้อเกลือ เป็นวิธีการนวดอย่างหนึ่งของคนสมัยโบราณ เป็นขั้นตอนที่นำเอาหม้อเกลือซึ่งจะบรรจุเกลือไว้ภายใน เผาไฟจนร้อน หลังจากนั้นจะห่อด้วยใบพลับพลึง และผ้าขาวประคบบนหน้าท้องของคุณแม่หลังคลอด ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น ช่วยขับน้ำคาวปลา กระตุ้นระบบการไหลเวียนของโลหิต ลดไขมันหน้าท้อง ซึ่งการทับหม้อเกลือนี้มีข้อควรระวังคือ ต้องระวังไม่ให้หมอเกลือร้อนเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ และห้ามทำขณะที่คุณแม่มีไข้ หรือหลังผ่าตัดใหม่ๆ

 

 

 การเข้ากระโจม เป็นการอบตัว ซึ่งการอบตัวนั้นจะมี 2 แบบ คือ อบแบบเปียก และอบแบบแห้ง การอบแห้งก็เช่นการอบซาวน่า ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการให้ร่างกายได้ขับของเสียออกจากร่างกายทางรูขุมขน การเข้ากระโจมคือการอบแบบเปียก คือใช้ไอน้ำที่ได้จากสมุนไพรในการอบ ซึ่งการอบสมุนไพรนั้นจะมีข้อดีมากๆ  เพราะตัวยาสมุนไพรที่ใช้ในการอบนั้นจะมีประโยชน์อย่างมากที่ร่างกายจะได้โดยตรงเลยคะ

 

 

 การเข้าขาตะเกียบ เป็นวิธีการนวดท่าหนึ่งของคนโบราณที่เป็นเฉพาะส่วน ตั้งแต่สะโพกลงไปบริเวณขา โดยพยายามที่จะให้หนีบขาให้ชิดกันที่สุด(เหมือนตะเกียบ) ซึ่งจะช่วยยกก้นที่อาจจะเกิดการหย่อนคล้อยในช่วงเวลาที่อุ้มท้องให้กระชับขึ้น และสิ่งที่ได้มาอีกหนึ่งอย่างคือ เป็นการลดไขมันส่วนเกินที่เหลืออยู่บริเวณต้นขานั้นให้เกิดการสลายจากการนวดนี้

 

 

 การนั่งถ่าน เป็นการนั่งลงบนโต๊ะที่เราทำขึ้นเองเป็นพิเศษสำหรับคุณแม่หลังคลอด เพื่อที่ให้ช่องคลอดและบริเวณก้นลอดได้ และใต้เก้าอี้จะมีเต้าร้อนวางอยู่ จะมีการนำสมุนไพรในกลุ่มที่ช่วยสมานแผลฝีเย็บและรักษาอาการริดสีดวงทวารได้ดี

 

 

ข้อควรรู้เรื่องการอยู่ไฟ

 

 ไม่ควรอยู่ไฟไม่ว่าวิธีใด ขณะที่คุณแม่มีอาการไข้ ตัวร้อน ความดันโลหิตสูง อ่อนเพลียมาก เพราะการอยู่ไฟคือการใช้ความร้อนให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย จึงอาจเป็นอันตรายได้ หากทำในช่วงที่ร่างกายมีความร้อนในตัวสูง

 

 

 ถ้าคุณแม่ที่ผ่าท้องคลอดต้องให้ครบ 1 เดือนก่อน ถึงจะสามารถประคบสมุนไพร นาบหม้อเกลือ และอบสมุนไพรได้

 

 

 การนั่งถ่านอาจไม่จำเป็นสำหรับคุณแม่ที่ผ่าท้องคลอด เพราะการนั่งถ่านจะช่วยในเรื่องการสมานแผลฝีเย็บ ช่องคลอดที่ฉีกขาดขณะคลอดลูก คุณแม่อาจเลือกวิธีอื่น เช่น ประคบ หรืออบสมุนไพรแทนได้

 

 

 ควรให้ข้อมูลสุขภาพของตัวเองขณะนั้น และข้อมูลการคลอดกับผู้ที่จะทำการอยู่ไฟให้ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดแนวทางการอยู่ไฟ และการดูแลหลังคลอดที่เหมาะกับร่างกายของคุณแม่นะค่ะ

 

 

 ถ้าจะซื้ออุปกรณ์เพื่อมาอยู่ไฟเองที่บ้าน จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำวิธีการทำอย่างละเอียด ถูกวิธี จากผู้ที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญในเรื่องการอยู่ไฟ เพราะแม้การอยู่ไฟจะไม่เป็นอันตรายอะไร แต่ก็จะมีข้อควรระวัง ข้อห้ามและบางขั้นตอนก็ต้องการความชำนาญเฉพาะ จึงต้องศึกษาให้ดีก่อนนำกลับมาทำเองค่ะ

(Some images used under license from Shutterstock.com.)