© 2017 Copyright - Haijai.com
สวยสาวแต่ละวัยตามช่วงอายุวัย
เชื่อว่ายอดของความปรารถนาของสตรีทุกคน คือ คงความงามไว้ตลอดไป การที่จะเข้าถึงความงามในทุกวัยได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจ ในแต่ละช่วงชีวิตสตรีนั้น ได้ชื่อว่าเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยค่อนข้างมาก จึงต้องศึกษารายละเอียดในแต่ละวัยให้ดี ว่ามีหนทางราบเรียบขรุขระอย่างไร มีทางเลี้ยงทางแยกอย่างไร เพื่อจะได้วางแผนการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชีวิตมีความงามพร้อมทั้งกายและใจ
ช่วงอายุ 20 – 29 ปี
ช่วงนี้ถือเป็นการเริ่มต้นเส้นทางสายผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และวุฒิภาวะทางอารณ์เริ่มสมบูรณ์ สตรีในวัยนี้ ควรเตรียมสุขภาพกายให้พร้อมกับชีวิตทำงานและความรัก โดยหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายสม่ำเสมอ ตรวจวัดความดันเลือดและน้ำตาลในเลือดทุกๆ 2 ปี ติดตามระดับคอเลสเตอรอลในเลือดทุกๆ 5 ปี พร้อมกับรับการตรวจภายในทางนรีเวชทุกๆ 1-3 ปี การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก โดยควรตรวจเต้านมเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงที่มีประจำเดือน
อาหาร ควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ งดอาหารจำพวกไขมันและของหวาน รวมทั้งดื่มนมเป็นประจำ เพื่อสะสมแคลเซียมให้กระดูก ป้องกันภาวะกระดูพรุนที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
สตรีวัยนี้หลายคนคงได้พบกับความรัก อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะยังไม่พร้อมกับภาระอันยิ่งใหญ่ คือ การเป็นแม่ของลูก ดังนั้น สตรีในวัยนี้ที่แต่งงาน แต่ยังไม่พร้อมจะมีบุตร ก็ควรเรียนรู้วิธีคุมกำเนิด พร้อมทั้งข้อดีข้อเสียของวิธีเหล่านั้น เช่น การนับวันตกไข่ โดยสังเกตได้จากอุณหภูมิร่างกายหลังตื่นนอนตอนเช้า การนับระยะปลอดภัย ซึ่งถ้าอยู่ในช่วงตกไข่ ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามวิธีเหล่านี้มีความคลาดเคลื่อนสูง ส่วนวิธีใช้ยาคุมกำเนิดนั้น ก็มีทั้งยาฝัง สามารถคุมกำเนิดได้ถึง 5 ปี ยากินซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากสุดนั้น ก็มีข้อเสียตรงที่ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิดอาจเกี่ยวภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ และมะเร็งเต้านม ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีคุมกำเนิด สตรีควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
โรคภัยที่เปรียบเสมือนหล่มในถนนสายชีวิตช่วงนี้ ได้แก่ โรคกลัวอ้วน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (เช่น เริม เชื้อราในช่องคลอด ซิฟิลิส หนองใน ไวรัสตับอักเสบ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง) และการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์
ช่วงอายุ 30 – 39 ปี
ถนนชีวิตช่วงนี้เป็นช่วงแห่งความรับผิดชอบ ทั้งด้านการงานและครอบครัว สตรีวัยนี้จึงมีความเครียดมากขึ้น และมีเวลาดูแลตัวเองน้อยลง แต่ก็ไม่ควรทิ้งการสังเกตร่างกายและจิตใจของตน หมั่นควบคุมอารมณ์และจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นทำสมาธิ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อละกระดูกแข็งแรง การตรวจร่างกาย เพื่อรองรับถนนชีวิตในช่วงนี้ จะเพิ่มการตรวจวัดระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ เมื่ออายุได้ 35 ปี ถ้ามีค่าปกติ ควรตรวจซ้ำทุกๆ 2-3 ปี และการตรวจทางนรีเวชที่เพิ่มขึ้น คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (pap smear) ทุกๆ 2 ปี
การมีครอบครัวที่อบอุ่นย่อมเป็นที่ปรารถนาของสตรีหลายคน อย่างไรก็ตามการทำโครงการใหญ่ๆ จำเป็นต้องมีการวางแผนเสียก่อน เพื่อผลลัพธ์ที่ดีเลิส ดังนั้น ก่อนจะมีครอบครัว ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการวางแผนครอบครัว และตรวจคัดกรองโรคก่อนการตั้งครรภ์ เช่น พาหะธาลิสซีเมีย โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น รวมทั้งคำแนะนำเมื่อตั้งครรภ์ เช่น การฉีดวัคซีนก่อนการตั้งครรภ์ รายละเอียดการฝากครรภ์ ส่วนในสตรีที่มีบุตรยาก ควรมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ และนับวันตกไข่เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์
หล่มที่จะทำให้การเดินทางในถนนชีวิตช่วงนี้ลำบาก ล้วนเป็นผลจากความเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ได้แก่ โรคเครียด โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคปวด ศีรษะไมเกรน และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
ช่วงอายุ 40 – 49 ปี
สตรีวัยนี้จะทวีความจริงจังในการดำเนินชีวิต เนื่องจากต้องการความมั่นคงในชีวิต ความเครียดจึงยิ่งมากขึ้น สุขภาพกายที่เคยแข็งแรงก็เริ่มจะเสื่อมถอย การเผาพลาญพลังงานในร่างกายเริ่มจะย่ำแย่ลง ดังนั้น สตรีในวัยนี้จึงต้องใส่ใจสุขภาพกายและจิตใจมากขึ้น โดยไปตรวจร่างกายทุกปี เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ความดันเลือดสูง การตรวจ pap smear จากเดิม 2 ปีครั้ง ก็จะเป็นปีละครั้ง พร้อมทั้งเพิ่มการตรวจแมมโมแกรม (mammogram) ซึ่งเป็นการตรวจเต้านม โดยใช้รังสีปริมาณน้อย แต่มีความคมชัดสูง ให้ผลการวินิจฉัยมะเร็งเต้านมที่แม่นยำกว่าคลำด้วยตนเอง
มะเร็งที่มาคุกคามชีวิตของสตรีที่เดินบนถนนชีวิตในช่วงนี้ ยังมีมะเร็งในช่องปาก ที่สตรีในช่วงนี้ ควรรับการตรวจคัดกรองจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และยังมีมะเร็งในโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ดังนั้น เมื่อสตรีในวัยนี้ มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายอุจจาระเหลว สลับท้องผูก จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อุปสรรคสำคัญในถนนชีวิตช่วงนี้ ล้วนเป็นผลจากกำลังกายและการเผาญที่เสื่อมถอย ได้แก่ การเป็นโรคอ้วน เบาหวาน หัวใจ ความดันเลือดสูง และกำลังจิตใจที่เหนื่อยล้า ได้แก่ โรคเครียด และโรคซึมเศร้า
ช่วงอายุ 50 – 59 ปี
ช่วงชีวิตแห่งการทำงานกำลังจะหมดไป สตรีวัยนี้กำลังย่างเท้าเข้าสู่ช่วงชีวิตแห่งการเกษียน ซึ่งรูปแบบการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อมต่างๆ กำลังจะเปลี่ยนไป ความเสื่อมถอยร่างกายจะยิ่งมีมากขึ้น และมีอาการของวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง สตรีในวัยนี้จึงควรตรวจสุขภาพทุกปี และเมื่อมีอาการวัยหมดประจำเดือน เช่น นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที อนึ่งการถึงวัยหมดประจำเดือน ย่อมแสดงถึงการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้อัตราการสูญเสียของเนื้อเยื่อกระดูก มีจำนวนเพิ่มมากกว่าปกติ ถึง 10 เท่า กระดูกที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่งของกาย จึงเริ่มผุพัง จนกลายเป็นภาวะกระดูกพรุนในที่สุด สตรีจึงควรมีการป้องกันภาวะนี้ตั้งแต่ยังสาว โดยการสะสมแคลเซียมจากการบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว ปลาตัวเล็กตัวน้อย นม งาดำ เป็นต้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และหลีกเลี่ยงการรับประทานยาสเตียรอยด์ รวมถึงเมื่อเดินทางถึงถนนชีวิตช่วงนี้ ควรหมั่นตรวจความหนาแน่นของกระดูก
โรคมะเร็งเริ่มรุกรานถนนสายชีวิตยิ่งขึ้น สตรีในวันนี้ จึงควรหมั่นตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการส่องกล้องทางทวารหนักทุกๆ 10 ปี
การเดินทางบนถนนสายชีวิตนั้น แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคมากมายให้คอยระมัดระวังและแก้ไข แต่ถ้าสตรีใดๆ มีการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเหล่านั้นอย่างดีพอ จนสามารถปฏิบัติตน เพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น สตรีผู้นั้นก็ย่อมจะผ่านถนนสายชีวิตในแต่ละช่วงได้โดยสวัสดี มีความงามทั้งกายและใจ มีชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่มนุษย์ผู้หนึ่งควรครอบครองไว้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)