Haijai.com


เรียนเลข การเรียนรู้คณิตศาสตร์ของลูก


 
เปิดอ่าน 1411
 

เรียนเลข การเรียนรู้คณิตศาสตร์ของลูก

 

 

ชื่อเรื่องเรียนเลขนี้ คงชวนให้พ่อแม่หลายคนเกิดอาการอยากรู้ เพราะผลการสำรวจพบว่าเด็กไทยมีปัญหาเรื่องคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ถามเด็กๆ ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าการเรียนวิชาคณิตศาสตร์เป็นยามสำหรับเขา พ่อแม่ที่ช่วยลูกทำการบ้านอาจรู้สึกว่า การสอนการบ้านวิชาคณิตศาสตร์ขมยิ่งกว่า

 

 

ความจริงความรู้เรื่องกระบวนการคณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานการเรียนรู้สำหรับเด็กที่จะใช้ในชีวิตประจำวัน ความสามารถในการเรียนรู้กระบวนการคณิตศาสตร์  ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการเรียนรู้ผ่านความเข้าใจแบบกระบวนการคณิตศาสตร์ยังเป็นรากฐานให้เด็กมีความสามารถคิดแบบแยกแยะ เข้าใจหลักการความเป็นเหตุเป็นผล และเป็นพื้นฐานในการแก้ปัญหา

 

 

การใช้กระบวนการคณิตศาสตร์ในการเรียนรู้ สามารถทำได้ผ่านการเล่น การทำกิจกรรม รวมถึงกิจวัตรประจำวัน เวลาพ่อแม่แบ่งขนมให้ลูกคนละชิ้น เดินขึ้นบันไดและนับขั้นบันไดไปด้วยกัน เด็กเรียนรู้ไปตามธรรมชาติของการใช้ชีวิตด้วยกันตลอดเวลา แต่พ่อแม่สามารถเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้ต่อยอดขึ้นได้อีก ด้วยความเข้าใจหลักการพื้นฐานของกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ดังนี้

 

 

 เข้าใจเรื่องตัวเลข เริ่มจากการนับเลขเรียงลำดับไปข้างหน้า ซึ่งเด็กจะสามารถนับย้อนกลับได้ เมื่อโตขึ้น รวมทั้งสามารถเห็นความสัมพันธ์ของตัวเลขที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น วันนี้มีขนมหนึ่งก้อน ที่บ้านเรามีกันสี่คน แม่ตัดแบ่งขนมใส่จานชิ้นที่หนึ่ง สอง สาม สี่ เป็นต้น

 

 

 การเล่นใช้สิ่งของเป็นตัวแทน เช่น บัตรคำตัวเลข บัตรภาพที่มีจำนวนสิ่งของ หนังสือภาพและสัญลักษณ์ตัวเลข ของเล่นแท่งไม้ที่นับแยกเป็นจำนวนชิ้น การเล่นของเด็กอย่างการเตรียมงานเลี้ยงน้ำชา ที่มีการเตรียมถ้วยชามของเล่นเท่าจำนวนที่จะใช้

 

 

 เข้าใจเรื่องขนาด รูปทรง และทิศทาง อย่างทรงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ตำแหน่งอยู่ข้างบน ข้างล่าง รวมทั้งการเคลื่อนไหว อย่างการเดินขึ้นและเดินลง ไปข้างหน้า หันกลับมา

 

 

 เข้าใจการวัด กว้าง ยาว สูง น้ำหนัก รวมทั้งเรื่องเวลา การดูเวลา ซึ่งเป็นความเข้าใจ โดยยังไม่รู้จักหน่วยวัดที่เป็นนิ้ว เป็นเซนติเมตร เช่น ตักน้ำตาลหนึ่งช้อน ถุงใส่ส้มใบนี้หนัก เก้าอี้สูงเกินไป เป็นต้น

 

 

 เข้าใจการประมาณ สามารถคาดประมาณได้ ว่ามาก น้อย ใหญ่ เล็ก รวมทั้งมากกว่า น้อยกว่า ใหญ่กว่า ยาวกว่า เช่น วันนี้แม่ซื้อโดนัทชิ้นเล็ก

 

 

 เข้าใจเรื่องแบบแผน ตัวเลข รูปร่าง ภาพที่มีการจัดเรียงเป็นแบบแผน รวมทั้งความสัมพันธ์ อะไรมาก่อน อะไรตามมา ตามหลักเหตุผลอย่างง่ายๆ เช่น ตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น พระจันทร์มาตอนกลางคืน และถึงเวลาที่ต้องเข้านอน

 

 

 เข้าใจการแก้ไขปัญหา เริ่มเข้าใจเรื่องทางเลือก ใช้ความคิด ความเป็นเหตุเป็นผล อย่างการเล่นหยอดหลุมตามรูปทรง รูปสี่เหลี่ยมใส่ในช่องที่เป็นสี่เหลี่ยม เป็นต้น

 

 

การเติบโตของเด็กนอกจากด้านร่างกาย การเรียนรู้เป็นสำคัญ ทั้งการเข้าใจภาษาที่จะนำไปสู่การสื่อสาร การมีทักษะอารมณ์สังคมในการใช้ชีวิต และการวางรากฐานการเรียนรู้ให้กับลูก กระบวนการแบบคณิตศาสตร์เป็นกระบวนการหนึ่งที่วางรากฐานให้กับลูก เป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูก ซึ่งใช้หลักการพื้นฐานเช่นเดียวกับการสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องต่างๆ พ่อและแม่ต้องคำนึงถึงความพร้อมของลูกในการเรียนรู้ดังนี้

 

 

 เด็กต้องรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ จึงต้องผ่านกิจกรรมการเล่น การทำกิจกรรม ไม่ใช้การสอนหนังสือเหมือนเด็กโต ในแต่ละวันพ่อแม่ควรมีเวลาว่าง เพื่อเล่นกับลูก เป็นเวลาที่พ่อแม่หยุดหิจกรรมของตนเอง แล้วให้เวลากับลูก

 

 

 สามารถใช้เวลาในชีวิตแต่ละวันสร้างการเรียนรู้ได้ เวลาอาบน้ำ เวลาเดินทาง เวลาเข้านอน พ่อแม่สามารถเลือกสิ่งที่สอดคล้องกับกิจวัตรนั้นๆ เช่น เวลาเดินทาง เด็กอาจนับจำนวนสิ่งของที่ผ่านระหว่างทาง ซึ่งเป็นการใช้เวลาในแต่ละวันตามที่พ่อแม่ต้องดูแลลูกอยู่แล้ว

 

 

 เลือกสิ่งที่ใช้ในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจของเด็ก และมีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นที่ต้องซื้อมาเท่านั้น พ่อแม่สามารถดัดแปลงสิ่งของในบ้าน หรือเตรียมอุปกรณ์ที่สนับสนุนการเรียนรู้ให้ลูกได้ โดยเฉพาะในกิจวัตรประจำวัน อย่างการช่วยพ่อแม่แยกนับจำนวนเสื้อผ้าที่ซัก การหมุนปุ่มโทรศัพท์เครื่องเก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว หรืออาจทำบัตรภาพจากหนังสือนิตรสารเล่มเก่าในบ้าน เป็นต้น

 

 

 เลือกเวลาที่เหมาะสม แม้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ลูกต้องการเวลาในการพักผ่อน เวลาสำหรับการเล่นโดยอิสระและเรียนรู้ด้วยตัวเอง เวลาที่เหมาะควรเป็นเวลาหลังจากลูกได้พักผ่อนอย่างเต็มที่หลังตื่นนอน ใช้เวลาในแต่ละครั้งไม่มากนัก แต่ทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

 

 

แนวคิดเรื่องทักษะทางคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เป็นการช่วยเรื่องการเรียนรู้ให้ลูกมีพื้นฐานที่ดีในระบบการคิด ไม่ใช่การสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการใช้เวลาร่วมกันในแต่ละวันที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ให้ลูก และยังเป็นเวลาใกล้ชิดที่ลูกได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่ เพิ่มทั้งทักษะการเรียนรู้ และทักษะทางอารมณ์ไปพร้อมกัน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)