Haijai.com


เวย์โปรตีน


 
เปิดอ่าน 7139

เวย์โปรตีน

 

 

นมจัดเป็นอาหารที่มีคุณค่าทาโภชนาการสูง ประกอบไปด้วยโปรตีน ไขมัน น้ำตาลแลคโตส วิตามินเอ บี1 บี2 บี6 บี12 วิตามินดี แคลเซียม เหล็ก และไอโอดีน กระบวนการแยกโปรตีนในนมออกจากน้ำนมทำให้ได้เนยแข็ง (CHEESE) และหางนม (WHEY) ส่วนเนยแข็งประกอบด้วยไขมันในนมและเคซีน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไม่ละลายน้ำ ในส่วนหางนมจะประกบอไปด้วยน้ำนม และองค์ประกอบในนมที่ละลายน้ำ เช่น ไขมันละลายน้ำ น้ำตาล แร่ธาตุ ซึ่งรวมไปถึงเวย์โปรตีน

 

 

นอกจากกระบวนการข้างต้นแล้ว เวย์โปรตีนยังอาจได้จากกระบวนการแยกโปรตีนออกจากนมขาดมันเนย (skim milk) โดยโปรตีนเข้มข้นจากนม (milk protein concentrate) ที่แยกได้จะประกอบด้วยเคซีน (casein) และเวย์โปรตีน (whey protein) เคซีนที่แยกได้จากกระบวนการนี้ ประกอบด้วยโปรตีนร้อนละ 90 ส่วนเวย์โปรตีนจะประกบอด้วยโปรตีนร้อยละ 25-80

 

 

ผลัตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่มีจำนหน่ายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับปริมาณโปรตีน สารอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบ และขนาดโมเลกุลของโปรตีน เช่น เวย์โปรตีนเข้มขน (whey protein concentrate) มีโปรตีนร้อยละ 25-89 (เฉลี่ยร้อยละ 80) และยังมีองค์ประกอบอื่น (น้ำตาล ไขมัน แร่ธาตุ) ในปริมาณที่แตกต่างกันไป เวย์โปรตีนผ่านการย่อย (hydrolyzed whey protein) โดยทั่วไปมีปริมาณโปรตีนแตกต่างกันไปตามกระบวนการผลิต แต่โปรตีนที่ได้จะถูกย่อยเป็นเพปไทด์สายสั้น เวย์โปรตีนแยกส่วน (whey protein isolate) เป็นโปรตีนร้อยละ 90-95 โดยแทบจะไม่มีองค์ประกอบอื่นอีก

 

 

ผลของเวย์โปรตีนต่อสุขภาพ

 

ความต้องการโปรตีนแตกต่างกันไปตามช่วงอายุและเพศ โดยทั่วไปแล้วเพศชายต้องการโปรตีนมากกว่าเพศหญิง โดยเฉลี่ยผู้หญิงอายุ 14 ปีขึ้นไปต้องการโปรตีนประมาณ 46 กรัมต่อวัน ผู้ชายอายุ 14-19 ปีต้องการโปรตีน 52 กรัมต่อวัน และผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ต้องการโปรตีน 56 กรัมต่อวัน โปรตีนที่เกินความจำเป็นของร่างกายบางส่วนจะถูกเก็บสะสมในรูปของไขมัน และบางส่วนจะถูกขับออกทางปัสสาวะ เนื่องจากเวย์โปรตีนเป็นแหล่งโปรตีนอย่างหนึ่ง ดังนั้น จึงควรรัประทานเวย์โปรตีนตามปริมาณโปรตีนที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน โดยต้องรับประทานอาหารหลักให้ครบห้าหมู่ควบคู่ไปด้วย

 

 

สำหรับผู้ใหญ่ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรงจากการรับประทานเวย์โปรตีนขนาด 5.0-54.0 กรัมต่อวัน ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ร่วมกับการรับประทานอาหารตามปกติ อาการข้างเคียงที่พบได้จากการรับประทานเวย์โปรตีน ได้แก่ การแพ้โปรตีนจากนม พบว่าในผู้ที่แพ้นมร้อยละ 80 แพ้เคซีน และร้อยละ 20 แพ้เวย์โปรตีนได้ นอกจากนี้ผู้ที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมไม่ได้ ยังอาจท้องเสียจากการรับประทานเวย์โปรตีน ถึงแม้ว่าโปรตีนดังกล่าว จะมีน้ำตาลแลคโตสปริมาณน้อยมากก็ตาม

 

 

เวย์โปรตีนนั้น จัดว่าเป็นแหล่งของโปรตีนที่ดี โดยมีกรดอะมิโนครบถ้วนในปริมาณสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรดอะมิโนโครงสร้างแบบกิ่ง (branched-chain aminoacids) ได้แก่ ลิวซีน ไอโซลิวซีน และแวลีน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่สำคัญต่อกระบวนการเจริญ และซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อ และยังมีกรดอะมิโนที่มีกำมะถัน เช่น ซิสเตอีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์กลูตาไทโอน อันเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขจัดสารพิษของร่างกาย และเมไทโอนีน ซึ่งมีบทบาทในหลายปฏิกิริยาเคมีของร่างกาย

 

 

นอกจากนี้เวย์โปรตีนละลายน้ำที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น แลคโตเฟอริน และอิมมูโนกลอบูลิน แลคโตเฟอรินเป็นไกลโคโปรตีนที่พบมากในเวย์โปรตีน (โปรตีนที่มีน้ำตาลในโมเลกุล) ที่จับกับเหล็ก ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่เวย์โปรตีนที่มีจำหน่ายทางการค้าประกอบไปด้วย แลคโตเฟอรินในปริมาณต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 2) ส่วนอิมมูโนกลอบูลิน เป็นโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกัน เป็นองค์ประกอบร้อยละ 10-15 ของเวย์โปรตีน แม้ว่าอิมมูโนกลอบูลิน จะมีฤทธิ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน แต่กระบวนการผลิตและการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน ทำให้โปรตีนนั้นเสื่อมสภาพ

 

 

เนื่องจากเวย์โปรตีนมีผลเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จึงถูกศึกษาเพื่อการรักษาโรคหลายชนิด จากการศึกษาพบว่าเวย์โปรตีนมีผลดี (ไม่ได้หมายความว่ารักษาโรคได้) ต่อผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคอ้วน และผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ผลของเวย์โปรตีนต่อผู้ป่วยเอชไอวียังไม่เป็นที่แน่ชัด และไม่สามารถสรุปได้ว่า เวย์โปรตีนสามารถลดน้ำหนักได้

 

 

ปฏิกิริยาระหว่างยา

 

ไม่มีรายงานปฏิกิริยาระหว่างเวย์โปรตีนและยา ไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีนร่วมกับยาที่ต้องรับประทานตอนท้องว่าง ในผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องควบคุมอาหารหรือสารอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเวย์โปรตีน

 

 

เวย์โปรตีนเป็นแหล่งของโปรตีนที่ดี จึงเป็นที่นิยมใช้ในผู้ที่ต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ อย่างไรก็ตาม ไม่มีงานวิจัยรองรับว่าเวย์โปรตีน ส่งเสริมการสร้างกล้ามเนื้อได้ดีกว่าการรับประทานโปรตีนทั่วไป ดังนั้น การรับประทานเวย์โปรตีน จึงต้องขึ้นอยู่กับความสะดวกในการใช้แหล่งโปรตีน (เช่นสะดวกกว่าการดื่มนม หรือรับประทานไข่ปริมาณมาก) และผู้ที่แพ้นมไม่ควรรับประทานเวย์โปรตีน เนื่องจากเสี่ยงต่อการแพ้เวย์โปรตีน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)