© 2017 Copyright - Haijai.com
ใช้ขวดพลาสติกเสี่ยงรับสารพิษจริงหรือ
พลาสติกเป็นสารเคมีอินทรีย์ที่มีการนำมาประดิษฐ์เป็นภาชนะ และบรรจุภัณฑ์มากที่สุดในปัจจุบัน เพราะพลาสติกมีราคาถูก และทนต่อการแตกหักพอควร อย่างไรก็ดีผู้เขียนเคยฟังวิทยากรของคณะสาธารณสุขแห่งหนึ่งบรรยายว่า การทิ้งขวดพลาสติกใสที่ใส่น้ำดื่มบรรจุขวด (โดยไม่ได้บอกชนิดที่แน่นอนว่าเป็นพลาสติกชนิดใด) ลงแหล่งน้ำมีส่วนในการทำให้ปลาตัวผู้ที่อยู่บริเวณนั้นกลายเป็น “ตุ๊ด” เพราะเมื่อพลาสติกนั้น มีการแตกหักจะมีองค์ประกอบในพลาสติกหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อปลากินองค์ประกอบนั้นเข้าไปก็จะข้ามเพศได้
เจ้าสารที่อาจทำให้ปลาข้ามเพศนั้น ผู้บรรยายไม่ได้ให้ข้อมูลไว้ แต่ผู้เขียนพอเดาได้ว่า น่าจะเป็น บิสฟีนอลเอ (Bisphenol A) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเสื่อมสภาพของสารที่ทำให้พลาสติกยืดหยุ่น (plasticizer) ที่ใช้ในการผลิตพลาสติกกลุ่มที่มี recycle code (ดูใต้ขวด) เบอร์ 3 คือ โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ชนิดแผ่นอ่อน (ไม่เกี่ยวกับท่อพีวีซี) และที่มี recycle code เบอร์ 7 คือ โพลีคาร์บอเนต โดยสารบิสฟีนอลเอ นั้นมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน)
ที่น่าตะลึงทึ่งอึ้อีกเรื่อง คือ เคยมีพิธีกรข่าวพยากรณ์อากาศของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ได้ให้ความรู้นอกเหนือไปจากการพยากรณ์อากาศว่า การบรรจุน้ำในขวดพลาสติกที่เคยใช้แล้ว และเอาขวดบรรจุน้ำนั้นไปแช่ในช่องแช่แข็ง สารพิษในกลุ่มไดออกซินจะหลุดออกมาปนเปื้อนในน้ำดื่ม
ข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน มีความน่าเชื่อถือสักเท่าไร เพราะผู้เขียนเองก็เคยได้เห็นข้อมูลดังกล่าวในอีเมลที่ส่งต่อกันมา ตลอดจนในบางเว็บไซต์ของคนไทยผู้ที่คิดว่า ตนเองรู้รอบทิศ แค่เดาว่าอะไร เป็นอะไร สิ่งนั้นเป็นจริงได้ โดยเฉพาะเรื่องสารพิษก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้ได้รับข้อมูล ต้องรีบไปใช้บริการล้างพิษในธุรกิจส่วนตัวของผู้ให้ข่าว
ไดออกซินนั้นมีฤทธิ์ก่อมะเร็งและทำให้ลูกที่อยู่ในท้องแม่มีความผิดปกติ ดังนั้นพอมีข่าวว่ามีสารพิษนี้หลุดออกมาจากขวดพลาสติกใส คนที่กำลังตั้งท้องก็ชักกังวลว่า ช่วยให้นมแม่ไม่ได้จะใช้ขวดอะไรใส่นมให้ลูกดี
ไดออกซินมักเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสารเคมีที่มีคลอรีนเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังตัวอย่างการผลิตสารกำจัดวัชพืช 2,4-D และ 2,4,5-T ซึ่งใช้สารประกอบของคลอรีนเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในขณะที่ขวดพลาสติกใสที่เรียกว่า ขวด PET ไม่ได้มีคลอรีนร่วมในการผลิต โอกาสเกิดไดออกซินจึงไม่น่าเป็นไปได้ ดังนัน้ ข้อมูลเกี่ยวกับขวดน้ำพลาสติกในรายการพยากรณ์อากาศที่กล่าวถึงนั้น จึงเป็นการเอาข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมารายงาน โดยไม่สอบถามจากนักวิชาการว่าจริงหรือไม่
กลับมาที่บิสฟีนอลเอ ซึ่งผู้บริโภคข่าวมักสับสนว่าขวดพลาสติกใส หรือขวด PET (Polyethylene terephthalate) ที่ใช้บรรจุเครื่องดื่ม หรือน้ำดื่มนั้น อาจมีสารบิสฟีนอลเอหลุดออกมา ความสงสัยนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะขวดที่เป็นจำเลยนั้น ทำมาจากพลาสติกใสที่เรียกกันว่า โพลีคาร์บอเนต (polycarbonate) ซึ่งมีความใสและแข็งกว่าที่สำคัญคือ แพงกว่า
ท่านผู้อ่านอาจสัมผัสบิสฟีนอลเอได้ โดยไม่รู้ตัวจาก โพลีไวนิลคลอไรด์ ซึ่งใช้ผลิตแผ่นพลาสติกใสสำหรับห่ออาหารหรือที่เรียกกันว่า แรบพ์ (wrap) ชาวไทยหลายคนได้มีประสบการณ์การสัมผัสแผ่นพีวีซี ที่ห่อหุ้มแซนด์วิชต่างๆ โดยไม่ค่อยมีใครทราบว่า ถ้านำเอาแซนด์วิชที่มีแผ่นพลาสติกใสหุ้มอาหารอยู่นั้น ไปอุ่นให้ร้อนด้วยไมโครเวฟ มีโอกาสที่บิสฟีนอลเอ และโมโนไวนิลคลอไรด์ที่ติดอยู่ในแผ่นพลาสติกสามารถหลุดออกมาปนเปื้อนอาหารได้
ถึงแม้ว่าองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration) และศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ (National Toxicology Program) ได้เคยสรุปแล้วว่า บิสฟีนอลเอที่หลุดออกมาจากภาชนะพลาสติกไม่ก่อปัญหาด้านสุขภาพ (เพราะน้อยมาก) แต่ความเห็นนี้แตกต่างจากความเห็นของหน่วยงานด้านสุขภาพในแคนาดา ที่มองว่าอาจเกิดปัญหาต่อตัวอ่อนในท้องแม่ ที่ได้รับสารดังกล่าวได้ เพราะสารนี้มีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเพศ ซึ่งนักพิษวิทยาส่วนใหญ่ตระหนักในความน่ากลังของสารกลุ่มนี้
ถ้าท่านต้องการใช้ภาชนะพลาสติกใส่ ที่ทนร้อนได้ ท่านคงต้องยอมเสี่ยงที่จะรับสารดังกล่าวบ้าง มันอาจไม่เลวร้ายนัก เพราะเวลาล้างขวดนมพลาสติกด้วยการต้ม น้ำที่ใช้ต้มเราก็เททิ้งไป แต่ยังไม่มีใครรับประกันว่ามีบิสฟีนอลเอติดอยู่กับผนังขวดหรือไม่ ดังนั้น อาจถึงเวลาหันกลัไปใช้ขวดนมแก้วชงนมให้ลูกได้แล้ว
ดังนั้น หน่วยงานท้องถิ่นของรัฐมินนิโซตาและคอนเน็ตทิคัตของสหรัฐอเมริกา จึงได้เริ่มห้ามการจำหน่ายภาชนะพลาสติกที่มีบิสฟีนอลเอเป็นส่วนผสม และอย่างน้อยผู้ผลิตภาชนะพลาสติกรายใหญ่ 5 รายในสหรัฐอเมริกา ได้หยุดการผลิตหรือเพิ่มทางเลือกในการผลิตภาชนะพลาสติกประเภทอื่น ที่ไม่มีบิสฟีนอลเอให้กับผู้บริโภคแล้ว ตัวอย่างเช่น มีข่าวในอินเตอร์เน็ตว่า บริษัท Nalgene ซึ่งผลิตขวดพลาสติกคุณภาพสูงหลายชนิด ที่ใช้ทั้งในห้องปฏิบัติการเคมี และใช้เป็นขวดบรรจุน้ำและอาหาร ได้แนะนำผู้บริโภคว่า ถ้าไม่แน่ใจในการใช้ขวดพลาสติกใสทนร้อนชนิดโพลีคาร์บอเนต ก็ขอเชิญให้หันกลับไปใช้ขวดพลาสติกขุ่น ที่บริษัทเองก็ผลิตขายแทนได้เช่นกัน เพื่อความสบายใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้มากจาก เว็บไซต์ ecopledge.com
ดังนั้น ถ้าท่านต้องการใช้ภาชนะพลาสติกใสที่ทนร้อนได้ ก็คงต้องยอมเสี่ยงที่จะรับสารดังกล่าวบ้าง มันอาจไม่เลวร้ายนัก เพราะเวลาต้มขวดนมพลาสติก น้ำที่ใช้ต้มเราก็เททิ้งไป แต่ยังไม่มีใครรับประกันว่ามีบิสฟีนอลเอติดอยู่กับผนังขวดหรือไม่ ดังนั้น อถึงเวลาหันกลับไปใช้ขวดนมแก้วชงนมให้ลูกได้แล้ว หรือถ้าจะให้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์แก่ลูกน้อย นมจากเต้านั้นแหละดีที่สุด
(Some images used under license from Shutterstock.com.)