
© 2017 Copyright - Haijai.com
หยุดหายใจขณะหลับกับโรคตา
การนอนกรนของคนเรามี 2 ประเภท ได้แก่ “การนอนกนแบบธรรมดา” ในขณะหลังจะมีเสียงกรนดังเป็นพักๆ แต่ไม่มีภาวะหยุดหายใจร่วมด้วย จึงไม่มีอันตรายใดๆ อาจเพียงแค่ส่งเสียงดังรบกวนคู่นอนเท่านั้น กับ “การนอนกรนร่วมกับการหยุดหายใจ” หรือที่เรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ” (obstructive sleep apnea : OSA)
การนอนกรนนอกจากจะมีเสียงดังรบกวนคนรอบข้างแล้ว ยังทำให้ร่างกายเกิดภาวะการขาดออกซิเจนเป็นระยะๆ ทำให้เมื่อตื่นขึ้นมาจะมีอาการเสมือนนอนหลับไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงนอนในช่วงกลางวัน อีกทั้งยังอาจเกิดอันตรายในขณะขับรถ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งเรื่องการเรียนหรือการทำงาน นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะเสี่ยงต่ออวัยวะภายในร่างกายขาดเลือด ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนโรคความดันโลหิตสูงได้
ลักษณะที่สังเกตได้ของคนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
• มีอาการหายใจขัดหรือหายใจไม่สะดวกในขณะหลับ คล้ายคนสำลักน้ำ
• มีอาการสะดุ้งตื่นเป็นพักๆ
• คนรอบข้างสังเกตได้เลยว่า คู่นอนของตนจะมีการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือมีการหายใจที่สม่ำเสมอ
• มีอาการง่วงนอนในช่วงกลางวัน ส่งผลให้ประสิทธิผลการเรียนหรือการทำงานลดลง เกิดอาการอ่อนเพลียและซึมเศร้าได้
การนอนกรนอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่ร้ายแรงตามมาได้ ถ้าผู้นั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย อย่านิ่งดูดาย ควรรีบไปพบแพทย์ ทำการรักษา
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ที่สำคัญคือาจส่งผลกระทบต่อดวงตาของเราได้หลายอย่าง ที่พบบ่อย ได้แก่
• โรคหนังตาตก (floppy eyelid syndrome) เป็นความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยจะตุ่มเล็กๆ (papilla) ที่เยื่อบุตาร่วมกับเปลือกตาบนหนาแข็ง มักเป็นที่ตาข้างเดียว โดยเฉพาะข้างที่ผู้ป่วยมักจะนอนทับข้างนั้น พบได้ร้อยละ 2-5 ของผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในทางตรงข้ามผู้ป่วยที่มีเปลือกตาตกลักษณะนี้ มักมีการหายใจติดขัดร่วมด้วยในขณะหลับถึงร้อยละ 90
ภาวะนี้มักพบในผู้ชายที่อ้วน อาจเกิดร่วมกับโรคเบาหวาน หนังตาบนจะบวมหนา แข็ง และพลิกได้ง่าย ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการระคายเคืองในตา มีน้ำตาปนเมือกออกมา อาการจะเป็นมากตอนตื่นนอน มีความผิดปกติที่บริเวณขอบตาบน ซึ่งปกติจะมีลักษณะคล้ายกระดูกอ่อน มีความยืดหยุ่นดี แต่ถ้าเป็นโรคนี้ขอบตาบนจะมีความยืดหยุ่นที่ลดลง พลิกกับได้ง่าย ถ้าผู้ป่วยต้องนอนเอาหน้าและตาข้างนั้นลง เมื่อขอบตาบนพลิกจะมีผลไปกดทับเยื่อบุตา ทำให้เกิดการอักเสบ ระคายเคือง บางคนอาจพบเส้นเมือกภายในตา ทำให้เกิดระคายเคืองและต้องขยี้ตามาก ซึ่งอาจส่งผลให้กระจกตาผิดรูปไป โดยกระจกตาอาจเบี้ยวหรือโป่งพองออกมา
• โรคต้อหิน (glaucoma) มีรายงานพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักจะเป็นโรคต้อหินร่วมด้วยมากกว่าคนปกติถึง 4 เท่า เนื่องจากภาวะการขาดออกซิเจนเป็นระยะๆ ในขณะหลับจะส่งผลให้ร่างกายเกิดการควบคุมโดยอัตโนมัติ เลือดจึงมาเลี้ยงที่เส้นประสาทตาลดลง ทำให้เกิดภาวะขาดเลือด จึงเกิดความผิดปกติของสายตา และลานสายตาคล้ายโรคต้อหิน แต่ทั้งนี้เชื่อว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความดันตา มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ พบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในช่วงเวลาที่หลับสนิท จะมีช่วงที่มีความดันตาสูงเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ส่วนมากความดันตาจะลดลงมากกว่า บางการศึกษาพบว่าตรวจพบโรคต้อหินในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ร้อยละ 5.1-27 แต่บางการศึกษาพบว่าไม่มีโรคต้อหินร่วมด้วยเลยก็มี ในทางกลับกันหากนำผู้ป่วยโรคต้อหินมาตรวจ จะพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยถึงร้อยละ 20-55 โดยเฉพาะในผู้ป่วยต้อหินที่ความดันตาเป็นปกติดี
• ขั้วประสาทตาบวม (papilledema) เป็นภาวะที่มีความดันของน้ำในสมองสูง (intracranial pressure) โดยไม่ได้ตรวจพบความผิดปกติของโรคทางสมองแต่อย่างใด กลไกการเกิดโรคนี้ เกิดจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน ความดันในหลอดเลือดดำจึงสูงขึ้น เกิดการไหลย้อนหลับของเลือดดำลดลง ความดันในสมองจึงสูงขึ้นด้วย หรืออาจเป็นเพราะผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จะมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค้างอยู่มาก ผู้ป่วขจึงเกิดภาวะการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง เส้นเลือดดำในสมองขยายตัว สมองมีความดันสูงขึ้น นำไปสู่การเกิดขั้วประสาทตาบวมในที่สุด โดยผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการความดันในโพรงสมองสูงขึ้น มีอาการหูอื้อ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัวร่วมด้วย นอกจากจะมีขั้นประสาทตาบวมแล้ว บางคนอาจตรวจพบว่ามีชั้นของเส้นใยประสาทบริเวณจอประสาทตาบางลงกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ตรวจไม่พบโรคต้อหิน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการขาดออกซิเจนนั่นเอง ทำให้เกิดภาวะขั้วประสสาทตาขาดเลือด ส่งผลให้เกิดลานสายตาที่ผิดปกติได้หลายแบบ ไม่เฉพาะเจาะจง
ภาวะตาบอดเฉียบพลัน ที่เรียกกันว่า NATION (ย่อมากจาก nonarteritie ischemic optic neuropathy) เป็นภาวะที่ประสาทตาขาดเลือดจากระบบการไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ (โดยไม่ได้เกิดจากการอักเสบของหลอดเลือด) ภาวะนี้จะพบในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจ ขณะหลับมากกว่าในคนปกติถึง 2.5 เท่า เชื่อกันว่าเกิดจากความผิดปกติของระบบการปรับตัวของหลอดเลือดฝอยที่มาเลี้ยงประสาทตา กล่าวคือ ในระหว่างที่นอนหลับและเกิดภาวะหยุดหายใจ จะส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง แต่หลอดเลือดที่มาเลี้ยงตาปรับตัวไม่ได้ จึงทำให้รับเลือดได้ไม่เพียงพอ เกิดภาวะขาดเลือด มักจะเป็นที่ตาข้างเดียว โดยมีอาการตามัวอย่างฉับพลัน และมักเป็นตอนที่ตื่นนอน
• หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน (retinal vein occlusion) พบโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า เป็นผลมาจากการปรับตัวไม่ได้ของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณเส้นประสาทตา นอกจากนี้อาจพบความผิดปกติในจอตาอื่นๆ เช่น มีภาวะศูนย์กลางจอประสาทตาบวมน้ำได้มากกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งอาจเกิดได้ทั้ง 2 ข้าง เมื่อทำการรักษาอย่างไรก็ไม่ยอมหาย แต่เมื่อให้การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมไปด้วย continuous positive airway pressure (CPAP) ภาวะศูนย์กลางจอประสาทตาบวมน้ำจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับยังอาจตรวจพบจอประสาทตาผิดปกติลักษณะแบบขาดเลือด โดยพบจุดเลือดออก หลอดเลือดำจอตาโป่งพองออก มีขนาดไม่สม่ำเสมอ อาจมีจุดขาว ซึ่งบ่งบอกว่ามีภาวะขาดเลือดและการตายของจอประสาทตาเป็นหย่อมๆ ในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานอยู่แล้ว หากมีภาวะหยุดหายใขขณะหลับร่วมด้วย จะยิ่งพบการทำลายจอประสาทตาได้เร็วกว่าผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
จากที่กล่าวมาพบว่าการนอนกรน อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงอันตรายที่ร้ายแรงตามมาได้ ถ้าผู้นั้นมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย อย่านิ่งดูดาย ควรรีบไปพบแพทย์ ทำการรักษา ก่อนที่ตาของคุณจะมองไม่เห็น
(Some images used under license from Shutterstock.com.)