
© 2017 Copyright - Haijai.com
ศีรษะล้านไม่โล้นอีกแล้ว
ผมร่วงเป็นปัญหาที่พบบ่อยในคลินิกโรคผิวหนัง โดยเฉพาะศีรษะล้านแบบพันธุกรรม ซึ่งในอดีตเป็นปัญหาของชาวตะวันตกมากกว่าคนไทย พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของ ชายชาวตะวันตก มีศีรษะล้านเมื่ออายุ 40-50 ปี และเพิ่มเป็นทุกคนเมื่ออายุ 80 ปี
ปัจจุบันปัญหาศีรษะล้านในชายไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลตามธรรมชาติของมนุษย์ หรอืการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิต และการบริโภคของคนไทยที่คล้ายชาวตะวันตกมากขึ้น จึงทำให้พันธุกรรม ซึ่งแอบแฝงอยู่ภายในแสดงออกมาในชายไทยรุ่นปัจจุบัน
จากการศึกษาพบว่า ต่อขนในทารกแรกเกิดจะมีมากถึง 1,000 ต่อม/ตารางเซนติเมตร แต่จะค่อยๆ ลดลงตามอายุ เมื่ออายุ 30 ปี จะมีต่อมขนเหลือประมาณ 200-300 ต่อม/ตารางเซนติเมตร เส้นผมจึงบางลงทั้งขนาดและปริมาณตามอายุขัยด้วย
การผลัดผมก่อนกำหนดที่พบบ่อยมีสาเหตุมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางสรีระภายในร่างกายอย่างกระทันหัน และการได้รับความกระทบกระเทือนทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น ผมร่วงหลังคลอดบุตร ผมร่วงหลังเจ็บป่วย หรือผมร่วงภายหลังการสอบคัดเลือก ผมร่วงจากสาเหตุเหล่านี้ จะมีลักษณะร่วงกระจายทั่วหนังศีรษะหลังเหตุการณ์ประมาณ 3 เดือน และจะมีการงอกใหม่ของเส้นผมตามธรรมชาติ แต่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน จำนวนและขนาดเส้นผมจึงกลับสู่ปกติ ไม่ควรวิตกกังวลและไม่จำเป็นต้องรักษา
นอกจากนี้การผลัดของเส้นผม บางส่วนจะถูกควบคุมด้วยฮอร์โมน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้จะเร่งให้อายุเส้นผมบริเวณขมับเหนือหน้าผาก และกลางกระหม่อมสั้นลง เส้นผมจะหลุดร่วมเร็วขึ้น และยังพบว่าที่บริเวณต่อมผมในผู้ชาย ซึ่งมีพันธุกรรมศีรษะล้านจะมีเอนไซม์ 5 อัลฟารีดักเทส ชนิดที่ 2 อยู่ ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้จะเปลี่ยนเทสโทสเตอโรนให้กลายเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone : DTH) ซึ่งมีฤทธิ์ฮอร์โมนชายแรงกว่าเทสโทสเตอโรนเดิม ผมบริเวณนี้จึงผลัดก่อนกำหนดบ่อยครั้ง เส้นผมจะบางและสั้นลง ตามลำดับชุดของเส้นผมและต่อมผมจะฝ่อไปในที่สุด ผมบางแบบพันธุกรรมนี้จึงเกิดจากปัจจัย 3 ปัจจัย คือ พันธุกรรมซึ่งถ่ายทอดเป็นยีนเด่น ฮอร์โมนชายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และอายุที่เพิ่มมากขึ้น
ผมบางศีรษะล้านแบบพันธุกรรมจะมีการถอยร่นของแนวผมที่หน้าผากด้านหน้าเข้ามาเรื่อยๆ ผมบริเวณหน้าผากจะร่วงลึกเป็นง่ามถ่อ ต่อมาผบริเวณกลางกระหม่อมจะบางลง และร่วงขยายวงกว้าง ลุกลามมากขึ้นจนมาบรรจบกับการร่นของผมทางด้านหน้า
การรักษาผมร่วง
ชายหนุ่มที่มีปัญหาผมบางหรือศีรษะล้านแบบพันธุกรรม ผมอาจจะร่วงบริเวณด้านหน้าและกลางกระหม่อมจากผลของฮอร์โมน แต่ก็อาจมีผมร่วงแบบกระจายทั่ว เนื่องจากความเครียดและวิตกกังวลเรื่องเส้นผมร่วมด้วย ถ้าสามารถตัดความวิตกกังวลได้ ผมที่ร่วงแบบกระจายทั่วจะงอกเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง ส่วนผมบางที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงเฉพาะตัว ไม่สามารถแก้ไขได้ ปัจจุบันแพทย์ผิวหนังได้พยายามหาวิธีช่วยเหลือผู้มีปัญหากลุ่มดังกล่าว โดยสามารถแบ่งการรักษาได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ การใช้ยาและการทำศัลยกรรม
การใช้ยา
ยาไมน็อกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาลดความดันโลหิต ซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เส้นผมและเส้นขนหนายาวและดำขึ้นทั่วตัว แพทย์หลายท่านจึงรักษาผู้ชายผมบางแบบพันธุกรรมด้วยยารับประทานไมน็อกซิดิล แต่เนื่องจากยานี้มีผลต่อต่อมขนทั่วรางกาย และอาจมีผลต่ออวัยวะภายใน จึงไม่ควรนำมาใช้ เพื่อรักษาผมร่วงจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ จึงได้มีการพัฒนานำยาไมน็อกซิดิลผสมเป็นโลชัน ความเข้มขันร้อยละ 2-5 ทาวันละ 2 ครั้ง พบว่าบริเวณที่ทามีเส้นผมหนาและดำขึ้น หลังจากทาติดต่อกันนาน 6 เดือน ไมน็อกซิดิลจะกระตุ้นเส้นผมเดิม ซึ่งมีขนาดเล็กให้หนาและยาวขึ้น แต่ยาไม่สามารถสร้างต่อมผมใหม่ได้ ระดับยาในเลือดหลังทาจะต่ำมาก ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย และไม่กระตุ้นเส้นขนบริเวณอื่น แต่ถ้าทายาในปริมาณสูง อาจะมีการซึมของยากระจายกว้างเกิน เช่น การทายาบริเวณหนังศีรษะ อาจทำให้ขนบริเวณหน้าผากและแก้มยาวขึ้น จึงควรใช้ยาในปริมาณพอเหมาะ และทาเฉพาะบริเวณที่ต้องการให้ผมหนาขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ยาจะใช้ได้ผลเฉพาะผมที่บางบริเวณกลางกระหม่อม ไม่มีผลต่อผมเหนือหน้าผาก และมีรายงานการแพ้ยาไมน็อกซิดิประปราย
ยาฟิแนสเทอไรนด์ (Finasteride) เป็นยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต โดยกลไกการทำงานของยาฟิแนสเทอไรด์ ในการแก้ปัญหาผมบางศีรษะล้าน ก็คือจะไปหยุดยั้งการทำงานของเอนไซม์ 5 อัลฟารีดักเทส ชนิดที่ 2 ซึ่งมีผลยับยั้งการหลุดร่วงของเส้นผม ยานี้มีความปลอดภัยไม่พบผลข้างเคียง พบว่าการรับประทานยาฟิแนสเทอไรด์วันละ 1 มิลลิกรัม ช่วยลดอาการผมร่วงแบบพันธุกรรมได้ และช่วยเพิ่มการงอกของเส้นผม ทำให้เส้นผมหนาและมีจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนใน 12 เดือน ทั้งยังช่วยเพิ่มผมบริเวณเหนือหน้าผากได้ด้วย อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้ใช้ไม่ได้ผลในผู้หญิง ซึ่งมีปัญหาผมบางแบบพันธุกรรม การรับประทานยานี้ระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้อวัยะเพศของทารกผิดปกติ
จากการศึกษาของศูนย์โรคผิวหนังในสหรัฐอเมริกาและยุโรปกว่า 50 แห่ง โดยมีจำนวนอาสาสมัครรวม 1,553 ราย พบว่าในปีแรกของการใช้ยาฟิแนสเทอไรด์ จำนวนเส้นผมของอาสาสมัครจะเพิ่มขึ้น แต่ร้อยละ 4.4 มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศลดลง แต่หลังจากรับประทานยาครบ 5 ปี ปัญหานี้กลับลดลงเหลือร้อยละ 1.3
การใช้ยาทาไมน็อกซิดิลหรือการรับประทานยาฟิแนสเทอไรด์ เป็นวิธีการปลูกผมในชาย ซึ่งมีศีรษะล้านแบบพันธุกรรมในระยะเริ่มต้น คือ ยังมีผมบางหรือมีเส้นผมเหลืออยู่ ยาจะไม่สามารถสร้างต่อมผมใหม่ได้ เพียงแต่ช่วยกระตุ้นเส้นผมที่เหลืออยู่ให้มีขนาดโตขึ้นยาวขึ้น และสีเข้มขึ้น โดยเส้นผมที่สร้างใหม่นี้จะเปลี่ยนกลับสภาพเดิมเมื่อหยุดยา ดังนั้น ยาจึงช่วยได้เพียงฝืนธรรมชาติชั่วคราวเท่านั้น
การทำศัลยกรรม
การแก้ปัญหาผมบางศีรษะล้านด้วยการศัลยกรรมมีด้วยกันหลายวิธี แต่ที่แพร่หลาย มีแพทย์หลายคนทั่วโลกเลือกใช้คือ ศัลยกรรมย้ายเซลล์รากผม เพราะเป็นวิธีที่ได้ผลดี มีความปลอดภัยสูง เพราะใช้เพียงยาชาเฉพาะที่เท่านั้น หลักสำคัญของการรักษาด้วยวิธีนี้ คือ แพทย์จะย้ายเซลล์ผมบริเวณท้ายทอยหรือบริเวณขมับมาปลูกยังบริเวณศีรษะที่ล้าน เพื่อทดแทนเส้นผมเดิมที่สูญเสียไป เพราะเซลล์ผมตรงบริเวณท้ายทอยและขมับจะมีลักษณะพิเศษกว่าเซลล์ผมบริเวณอื่น เป็นเซลล์ผมที่ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชาย จึงไม่เสื่อมหรือตายไปเหมือนบริเวณอื่น และเมื่อย้ายเซลล์รากผมบริเวณนี้ ไปปลูกยังบริเวณศีรษะล้าน เซลล์รากผมก็จะสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ถาวร โดยตราบใดที่ผมตรงบริเวณท้ายทอยหรือบริเวณขมับยังอยู่ ผมที่ปลูกก็จะยังคงอยู่เพราะมาจากที่เดียวกัน
ข้อดีของวิธีนี้ คือ เส้นผมที่งอกขึ้นใหม่เป็นเส้นผมจริงของเรา และงอกออกมาจากหนังศีรษะเช่นผมปกติ จึงดูเป็นธรรมชาติ โดยผมที่ปลูกจะอยู่อย่างถาวรไปจนตลอดชีวิต เมื่อร่วงแล้วก็งอกขึ้นใหม่ได้อีก การดูแลรักษาปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินว่ามีความเหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่
คุณผู้ชายที่กำลังประสบปัญหาผมบางศีรษะล้าน ต้องตัดสินใจเองว่า จะสามารถยอรับสภาพผมร่วงได้หรือไม่ ซึ่งถ้าสามารถตัดความเครียดออกไปได้ ก็จะช่วยให้ผมงอกเพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่สามารถรับความจริงได้ ก็สามารถเลือกใช้วิธีตามที่กล่าวมาข้างต้น การใช้ยาไมน็อกซิดิลหรือฟิแนสเทอไรด์ ถือว่าค่อนข้างปลอดภัย ราคายาไม่สูง และมีการพิสูจน์ทางการแพทย์ว่าได้ผลระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจากศูนย์เสริมสร้างเส้นผม ซึ่งหลอกลวงผู้บริโภคว่าสามารถรักษาผมบางศีรษะล้านจากพันธุกรรมได้จริง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)