Haijai.com


แก้นอนกรนด้วยเทคโนโลยี


 
เปิดอ่าน 3645

แก้นอนกรนด้วยเทคโนโลยี

 

 

อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นปัญหาและโรคของการนอนหลับที่พบบ่อย เสียงของการกรนเกิดจาก การที่อากาศเคลื่อนผ่านทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบลง เป็นผลให้เกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดขอกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อนในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบน

 

 

เสียงกรนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้างที่นอนใกล้กัน ซ้ำร้ายอาการนอนกรนยังเกี่ยวข้องกับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยตื่นนอนด้วยความไม่สดชื่น กลางวันก็ง่วงนอน กลางคืนก็นอนฝันร้ายสมรรถภาพในด้านต่างๆ ลดลง ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นความดันเลือดสูง

 

 

การแก้ปัญหาการนอนกรนมี 2 วิธี คือ วิธีไม่ผ่าตัดและวิธีผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกได้ เพราะการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่จำเป็นต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีไม่ผ่าตัดก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น ไม่ชอบ หรือไม่สะดวก ผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีผ่าตัดได้

 

 

การแก้ปัญหาโดยวิธีไม่ผ่าตัด

 

 ขณะตื่นไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ

 

 ขณะหลับมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ

 

 ลมที่ขับออกมาจากเครื่อง CPAP จะช่วยค้ำยันไม่ให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ

 

 

การใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (continuous positive airway pressure : CPAP)

 

เครื่องมือนี้ เป็นการนำหน้ากากครอบจมูกขณะนอนหลับ ซึ่งหน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลม ซึ่งมีแรงดันเป็นบวกออกมา ลมที่เป่าเข้าไปจะไปถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนทุกระดับ และเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดา หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่ระดับน้อยถึงรุนแรง

 

 

ข้อดี สามารถยืมเครื่องจากบริษัทจำหน่ายมาทดลองใช้ได้ ปัจจุบันตัวเครื่องมีขนาดเล็ก พกพาได้ค่อนข้างสะดวก

 

ข้อเสีย ผู้ป่วยไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการใช้ เพราะรู้สึกอึดอัดรำคาณ

 

 

การใช้เครื่องมือทันตกรรม (oral appliance)

 

ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นขณะนอนหลับ โดยยึดลิ้นและ/หรือเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหรือเนื้อเยื่ออ่อนในลำคอ ตกลงไปอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ

 

 

ข้อดี ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะร่วมมือในการใช้เครื่องมือทันตกรรมขณะหลับมากกว่าเครื่อง CPAP เพราะใส่และสวมง่าย สะดวกในการพกพา ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า และไม่มีเสียงรบกวนคนข้างเคียงเวลานอนเหมือนเครื่อง CPAP สำหรับผู้ป่วยที่นอนกัดฟัน เครื่องมือทันตกรรมสามารถช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้

 

ข้อเสีย อาจเกิดผลข้างเคียงได้ จากการใช้เครื่องมือทันตกรรม ซึ่งได้แก่ การสบฟันที่ผิดปกติ ปวดฟันเจ็บบริเวณที่ใส่เครื่องมือทันตกรรม หรือเกิดแผลที่เหงือก ปวด เมื่อย เจ็บ รู้สึกไม่สบาย บริเวณข้อต่อกระดูกขากรรไกร และบริเวณโดยรอบ

 

 

การแก้ปัญหาโดยวิธีผ่าตัด

 

 การส่งผ่านคลื่นความถี่วิทยุเข้าไปใต้เยื่อจมูก

 

 คลื่นความถี่วิทยุจะเปลี่ยนพลังงานความร้อนให้แก้เนื้อเยื่อรอบๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพ และการตายของเนื้อเยื่อขึ้นภายใน 1-2 เดือน

 

 หลังจากนั้นเนื้อเยื่อพังผืดจะเกิดการหด และลดขนาดของเยื่อบุจมูก

 

 

การใช้คลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency volumetric tissue reduction : RFVTR)

 

เป็นการนำเข็มพิเศษเข้าไปในเนื้อเยื่ออ่อนที่อุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เยื่อบุจมูก เพื่อส่งคลื่นความถี่สูง ที่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนให้แก่เนื้อเยื่อรอบๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียสภาพและการตายของเนื้อเยื่อขึ้นภายใน 1-2 เดือน หลังจากนั้นจะเกิดเนื้อเยื่อพังผืด เกิดการหดและลดปริมาตรของเนื้อเยื่อ ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น อาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับลดลง

 

 

ข้อดี ผู้ป่วยไม่มีบาดแผลใดๆ ที่มองเห็นได้จากภายนอก

 

ข้อเสีย ต้องใช้เครื่องมือในการผ่าตัด จึงอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และต้องใช้เวลานาน 4-6 สัปดาห์ กว่าจะเห็นผลของการผ่าตัดชัดเจน อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้

 

 

การฝังพิลลาร์ (pillar) เข้าไปในเพดานอ่อน

 

เป็นการสอดแท่งเล็กๆ 3 แท่ง (ขนาดยาว 2x18 มิลลิเมตร) ทำมาจากโพลิเอสเตอร์อันอ่อนนุ่ม ฝังเข้าไปในเพดานอ่อนในปาก พิลลาร์จะช่วยลดการสั่นสะเทือนหรือการสะบัดตัวของเพดานอ่อน และพยุงไม่ให้เพดานอ่อนในปากปิดทางเดินหายใจได้โดยง่าย เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อเยื่อของเพดานอ่อนรอบๆ จะตอบสนองต่อแท่งพิลลาร์ โดยการเกิดพังผืด (fibrosis) ช่วยเพิ่มความแข็งแรง สมบูรณ์ทางด้านโครงสร้างของเพดานอ่อนในปากมาขึ้น ทำให้อาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับน้อยลง โดยไม่รบกวนการพูด การกลืน หรือการทำงานปกติของเพดานอ่อน

 

 

ข้อดี สามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผลข้างเคียงน้อย และได้ผลดี

 

ข้อเสีย พิลลาร์มีราคาแพง และต้องใช้เวลานาน 6-12 สัปดาห์ กว่าจะเห็นผลชัดเจน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้

 

 

นวัตกรรมการรักษานอนกรนในอนาคต

 

ในอนาคตมีแนวโน้วว่าจะมีอุปกรณ์ใหม่ๆ หรือตัวช่วยอย่างอื่นออกมาอีก ได้แก่

 

 

เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาทสองคู่ที่ 12 (upper airway stimulation therapy) เครื่องมือกระตุ้นเส้นประสาท (neurostimulator) นี้ จะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ กระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ผ่านทางสายกระตุ้นเส้นประสาท โดยจะมีตัวรับสัญญาณการหายใจ เข้า-ออก อยู่ที่ผนังทรวงอก ซึ่งตัวรับสัญญาณและตัวปล่อยกระแสไฟฟ้านั้น ทำงานสัมพันธ์กับสรีรวิทยาของร่างกายผู้ป่วย ในการหายใจแต่ละรอบ เมื่อมีการกระตุ้น กล้ามเนื้อลิ้น genioglossus ซึ่งเลี้ยงโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 จะหดตัว ทำให้ลิ้นมีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทางเดินหายใจระดับหลังโคนลิ้นจึงกว้างขึ้น

 

 

ที่ปิดจมูกสำหรับรักษาอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (nasal expiratory positive airway pressure) ที่ปิดจมูกทั้ง 2 ข้าง โดยยึดติดด้วยเทปกาวมีช่องเปิด (microvalve) เล็กๆ ให้ลมผ่านได้เวลาหายใจเข้า ขณะหายใจเข้าช่องเปิดเล็กๆ นี้จะเปิด ทำให้อากาศผ่านเข้ามาสู่จมูกได้อย่างอิสระ แต่ขณะหายใจออกช่องเปิดเล็กๆ นี้ จะปิด  แต่อากาศที่หายใจออกจะผ่านทางรูเล็กๆ 2 รู เพื่อเพิ่มความต้านทาน ทำให้เกิดความดันบวกในทางเดินหายใจส่วนต้นขณะหายใจออก (expiratory positive airway pressure: EPAP) ช่วยทำให้ทางเดินหายใจกว้าง ไม่ตีบแคบ โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของการหายใจออก ซึ่งเป็นช่วงที่ทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบมากที่สุดก่อนจะเกิภาวะหยุดหายใจ จนกระทั่งผู้ป่วยเริ่มหายใจใหม่

 

 

การแก้ปัญหาโดยวิธีไม่ผ่าตัดหรือวิธีผ่าตัด ไม่ได้ทำให้อาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับหายขาด เมื่อผู้ป่วยไม่ได้ใส่เครื่อง CPAP เครื่องมือทันตกรรม หรือ nasal EPAP เวลานอนก็จะกลับมามีปัญหาเหมือนเดิม หรือแม้ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัด หลังผ่าตัดอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจยังเหลืออยู่หรือมีโอกาสกลับมาใหม่ได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง โดยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ในผู้ป่วยบางรายอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดจากหลายสาเหตุและหลายตำแหน่ง ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีช่วยแก้ไขจุดใดจุดหนึ่ง เพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยแก้ไขอาการให้ดีขึ้นมากนัก อาจต้องแก้ไขทางเดินหายใจที่แคบส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดอุดกั้นทางเดินหายใจ และความรุนแรงของโรคการรักษาที่เหมาะสมนั้น นอกจากขึ้นกับสาเหตุและตำแหน่งที่ตรวจพบแล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย เช่น สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่มีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โรคประจำตัว สภาพเศรษฐานะและสังคมของผู้ป่วย เป็นต้น

 

 

ดังนั้น เมื่อบุคคลในบ้านของท่านหรือตัวท่านเอง สงสัยว่ามีอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค ประเมินความรุนแรง และพิจารณาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป เทคโนโลยีปัจจุบันช่วยท่านได้ แต่ถ้าจะให้ได้ผลดี ท่านก็ต้องช่วยดูแลตัวเองด้วย

(Some images used under license from Shutterstock.com.)