© 2017 Copyright - Haijai.com
ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)
เนื่องจากสังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (มีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี มากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ) มาเป็นเวลานานแล้ว ความชุกของภาวะกระดูกพรุนจึงมีมาก มีผู้ประมาณไว้ว่า 1 ใน 7 ของผู้หญิงไทยอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไปมีภาวะกระดูกพรุน ในขณะที่ผู้ชายจะมีความชุกประมาณ 1 ใน 8
กลุ่มคนที่ควรตรวจความหน้าแน่นของมวลกระดูก คือ สตรีวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะผู้ที่ประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ โดยอาจจะมาตรวจสักครั้งหนึ่ง ถ้าผลที่ได้ออกมาปกติ ก็ให้มาตรวจซ้ำทุก 2-5 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ควรตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกทุกปี
กระดูกพรุน เกิดจากความแข็งแรงของกระดูก (พิจารณาจากมวลกระดูกและโครงสร้างของกระดูก) ลดลง ทำให้กระดูกหักง่ายกว่าปกติ สาเหตุที่ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงมีอยู่ 3 ประการ คือ
• วัยหมดประจำเดือน
• อายุที่มากขึ้น โดยร่างกายจะมีการสะสมความหนาแน่นของกระดูกมาตั้งแต่เด็ก และความหนาแน่นของกระดูกจะมีค่าสูงสุดในช่วงอายุ 20-30 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง
• เกิดจากโรคบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ ธาลัสซีเมีย หรือโรคไต หรือเป็นอาการข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก สเตียรอยด์ เป็นต้น จากสาเหตุที่ทำให้กระดูกมีความแข็งแกร่งลดลง เราจึงสามารถกำหนดกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนได้ดังนี้
-สตรีวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่หมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ
-ผู้ที่มีญาติประสบกับภาวะกระดูกพรุน
-ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือผอมกว่าปกติ
-ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย
-ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยากันชัก สเตียรอยด์ เป็นต้น
ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
แม้ดูเหมือนว่าภาวะกระดูกพรุนจะไม่เป็นอันตรายมาก แต่ที่จริงแล้วภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตในหลายด้าน ปัญหาที่ตามมาของภาวะนี้ คือ กระดูกหัก ซึ่งเกิดได้หลายตำแหน่ง ที่สำคัญ คือ กระดูกส่วนหลังที่ยุบลง กระดูกคอสะโพกหัก รวมทั้งกระดูกในตำแหน่งอื่นๆ เช่น กระดูกหัวไหล่ ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิตตามปกติ การสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ภาวะกระดูกพรุนเป็นสาเหตุของความพิการอันดับที่ 2 รองจากโรคระบบหลอดเลือดหัวใจ นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่มีกระดูกคอสะโพกหักร้อยละ 20 จะเสียชีวิตภายในปีแรก ส่วนที่เหลือก็มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง
การวินิจฉัย
ภาวะกระดูกพรุนจัดว่าเป็นภัยเงียบ เพราะไม่มีอาการแสดงชัดเจน อาจมีในบางคน เช่น ความสูงลดลง หลังค่อม การตรวจหาภาวะนี้ จึงอาจทำได้โดยการตรวจมวลกระดูก โดยใช้เครื่อง DEXA (Dual Energy X – Ray Absorptionmetry) แพทย์จะนำค่าที่ตรวจได้ไปเทียบกับค่ามวลกระดูกในวัยหนุ่มสาว โดยถ้าค่ามวลกระดูกที่ได้ต่ำกว่า -2.5 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของคนหนุ่มสาว จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะกระดูกพรุน ถ้าค่าที่ได้อยู่ระหว่าง -.25 ถึง -1 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของคนหนุ่มสาว จะจัดอยู่ในภาวะกระดูกบาง แต่ถ้าสูงกว่า -1 เท่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของคนหนุ่มสาว ถือว่าเป็นปกติ กลุ่มคนที่ควรตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกคือสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะผู้ที่ประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ โดยอาจจะมาตรวจสักครั้งหนึ่ง ถ้าผลที่ได้ออกมาปกติ ก็ให้มาตรวจซ้ำทุก 2-5 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ควรตรวจความหนาแน่นมวลกระดูกทุกปี
การป้องกันและการรักษา
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า ภาวะกระดูกพรุนส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันภาวะนี้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียม ซึ่งได้แก่ ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งฝอย ผักใบเขียว โดยปกติร่างกายคนเรามีการถ่ายเทแคลเซียมอยู่ตลอดเวลา ส่วนการสะสมแคลเซียมเพื่อสร้างกระดูมีมาตั้งแต่วัยเด็กจนสูงสุดที่อายุ 20-30 ปี จากนั้นก็จะลดลง ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณแคลเซียมที่สะสมในร่างกาย ได้แก่ พันธุกรรมและปริมาณแคลเซียมที่ได้รับตั้งแต่วัยเด็ก แม้ว่าบางคนอาจจะมีพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน แต่ถ้ามีการสะสมแคลเซียมในปริมาณพอสมควร ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตามผลการสำรวจในคนไทยพบว่า ผู้หญิงไทยได้รับแคลเซียมจากอาหารประมาณ 250 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ชายได้รับประมาณ 350 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งที่ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับคือ 1,000-1,500 มิลลิกรัมต่อวัน จึงควรเพิ่มปริมาณอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียมให้มากขึ้น และ/รับประทานแคลเซียมเสริม
ปัญหาหนึ่งที่มีผู้กังวลเกี่ยวกับการเสริมแคลเซียม คือ การเกิดนิ่วในไต จากการศึกษาพบว่าแคลเซียมเสริมทำให้เกิดนิ่วในไตได้มากกว่าแคลเซียมจากอาหาร เนื่องจากแคลเซียมเสริมจะไปจับตัวกับออกซาเลต เกิดเป็นตะกอนของแคลเซียมออกซาเลตในระบบทางเดินปัสสาวะ ในขณะที่แคลเซียมจากอาหารจะไปจับกับออกซาเลตในระบบทางเดินอาหาร แล้วขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต จึงควรรับประทานแคลเซียมเสริมพร้อมอาหารทันที หรือรับประทานในช่วงอาหารกลางวันและอาหารเย็น ซึ่งในช่วงดังกล่าว แคลเซียมส่วนเกินจะจับกับออกซาเลตในอาหารแล้วถูกขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมากๆ หลังจากรับประทานแคลเซียมเสริม และควรตระหนักด้วยว่าร่างกายจะรับแคลเซียมได้ในปริมาณหนึ่งเท่านั้น ถ้ารับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่รับได้ แคลเซียมส่วนเกินก็จะถูกขับออกมาหมด การรับประทานแคลเซียมในปริมาณต่อครั้งที่มากเกินไป จึงไม่เกิดประโยชน์
นอกจากแคลเซียมแล้ว ควรใส่ใจต่อการเสริมวิตามินดี ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียม โดยการออกไปรับแสงแดดในช่วงเวลาก่อนสิบโมงเช้าและหลังบ่ายสามโมง
ภาวะกระดูกพรุนส่งผลกระทบด้านลบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก เราจึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันภาวะนี้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียม ซึ่งได้แก่ ปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งฝอย ผักใบเขียว
เป้าหมายในการรักษาภาวะกระดูกพรุน คือ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกหัก รวมทั้งป้องกันไม่ให้กระดูกบางลงในเวลาอันรวดเร็ว การที่จะทำให้กระดูกกลับไปแข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาวเป็นไปได้ยาก การรักษาประกอบด้วย การเสริมแคลเซียม การใช้ยาลดการสลายของกระดูก และยาช่วยเพิ่มการสะสมของมวลกระดูก รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุ และหาอุปกรณ์เสริมให้ผู้ป่วย เช่น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดินแบบสี่ขา เป็นต้น เพื่อป้องกันการหกล้ม อันจะเป็นสาเหตุให้กระดูกหัก
เราทุกคนควรปลูกฝังให้ลูกหลานตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกระดูกตั้งแต่เด็กๆ โดยการดูแลให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และออกไปรับแสงแดด เพื่อเสริมวิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมบ้าง การตระหนักรู้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว อาจจะสายเกินไป อย่างไรก็ตามหากเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้ว ควรมาพบแพทย์เพื่อหาวิธีป้องกันรักษาต่อไป
(Some images used under license from Shutterstock.com.)