© 2017 Copyright - Haijai.com
ถุงโป่งลำไส้ใหญ่อักเสบ
ลำไส้ใหญ่เป็นลำไส้ส่วนปลาย มีความยาวราวเมตรกว่าๆ ทอดตัวเป็นรูปตัวยูหัวคว่ำในช่องท้องไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก บางตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ในบางคนมีจุดอ่อนแอ ของผนังเป็นถุงโป่งพองออกไป ลักษณะอย่างนี้ภาษาแพทย์ตะวันตกเรียกว่า diverticula (ได-เวอ-ติ-คิว-ล่า) เวลาถุงโป่งนี้อักเสบ เรียกว่า diverticulitis (ได-เวอ-ติก-คิว-ไล-ติส)
การมีถุงโป่งธรรมดาที่ลำไส้ใหญ่ส่วนมาก มีขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย และไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ แต่ถ้าถุงโป่งเกิดการอักเสบขึ้นมาจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีอาการแต่รู้ว่าตัวเองมีสภาวะเช่นนี้ เพราะมีการตรวจร่างกายกวดหาโรค โดยวิธีส่องกล้องหรือเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่แล้วไปพบถุงโป่งนี้เข้า แต่หลายคนรู้ว่าตัวเองมีสภาวะเช่นนี้ เมื่อมีอาการปวดท้องเนื่องจากถุงโป่งลำไส้ใหญ่อักเสบ ซึ่งการอักเสบนี้เกิดในคนส่วนน้อย ไม่ได้เกิดกับทุกคนที่มีถุงโป่งลำไส้ใหญ่
สาเหตุการเกิดถุงโป่งลำไส้ใหญ่
ถุงโป่งของล้ำไส้ใหญ่มักเกิดบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่อยู่ใกล้ทางออก คือทวารหนัก ตรงกับบริเวณช่องท้องด้านซ้ายล่าง แต่ในคนเอเชียอาจจะต่างจากคนตะวันตกคือเกิดบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้นๆ ได้เช่นกัน เวลาเกิดโรคจึงมีอาการปวดในบริเวณที่แตกต่างกันออกไป จุดอ่อนของลำไส้ใหญ่ที่เกิดการโป่งพองนี้ มักจะเป็นจุดที่หลอดเลือดทอดเข้าสู่ผนังลำไส้ใหญ่ ผนวกกับการที่มีความดันในช่องลำไส้เพิ่มขึ้น ทำให้เยื่อบุลำไส้โป่งออก ส่วนสาเหตุการเกิดยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มักพบในคนเมืองหรือคนในประเทศพัฒนาเนื่องจากเหตุดังนี้
• การกินอาหารที่มีกากใยน้อย ทำให้อุจจาระมีปริมาตรน้อยอุจจาระแข็ง ท้องผูกถ่ายยาก ต้องเบ่งมาก ทำให้เพิ่มความดันในลำไส้
• การขาดการออกกำลังกาย มีงานวิจัยชี้ชัดว่าการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดถุงโป่งพองของลำไส้ใหญ่ได้ เมื่อร่วมกับการกินอาหารที่มีกากใยสูง ก็ยิ่งช่วยได้มากขึ้น
• ความอ้วน มีการศึกษาหนึ่งพบว่าคนอ้วนมีการเกิดถุงโป่งของลำไส้ใหญ่ และการตกเลือดจากถุงโป่งมากกว่าคนไม่อ้วนร้อยละ 50
• อายุ ยิ่งชรามากขึ้นยิ่งมีอุบัติการณ์มากขึ้น ในประเทศตะวันตกพบว่าคนอายุ 60 ปี มีอุบัติการณ์นี้ถึงร้อยละ 60 ซึ่งยังไม่ทราบว่าทำไม แต่อาจเป็นเพราะว่าความชราทำให้ผนังลำไส้ลดความแข็งแรงและการยืดหยุ่นลง
ปกติถุงโป่งของลำไส้ใหญ่จะไม่มีอาการหากไม่มีการติดเชื้อ (หรือตกเลือด) การติดเชื้อเกิดจากการแตกเป็นรูเล็กๆ ของถุงทำให้เชื้อโรคในลำไส้หลุดลอดออกไปนอกลำไส้ เกิดการอักเสบเป็นฝีเป็นหนอง
ลักษณะอาการเมื่อเกิดการอักเสบ
อาการสำคัญของโรคนี้ คือ ปวดท้องและกดเจ็บบริเวณด้านล่างซ้าย (ส่วนใหญ่) หรือบริเวณอื่นของช่องท้องที่ถุงโป่งอักเสบตั้งอยู่ โดยอาการปวดมักจะเป็นค่อนข้างมากและเกิดขึ้นเฉียบพลัน แต่บางคนอาจจะเริ่มเป็นน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้น บางคนปวดแบบเป็นๆ หายๆ นอกจากนี้ยังมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน และบางทีอาจมีอาการปัสสาวะผิดปกติร่วมด้วย บางคนมาด้วยอาการอุจจาระเป็นเลือด โดยไม่ปวดท้อง
การวินิจฉัย
นอกจากอาการและการตรวจร่างกายพบสิ่งที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว การวินิจฉัยอาศัยการตรวจเลือด เพื่อดูว่ามีสิ่งบ่งบอกการติดเชื้อหรือไม่ รวมทั้งการตรวจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะผิดปกติของลำไส้ใหญ่ ทำให้มองเห็นว่ามีภาวะติดเชื้อเป็นฝี ลำไส้รั่ว หรือรูต่อกับอวัยวะอื่น เช่น ช่องคลอด หรือกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ ในบางคนที่ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ไม่ได้ อาจใช้การตรวจด้วยคลื่นเสียง (อัลตราซาวนด์) แต่ส่วนใหญ่การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เป็นการตรวจที่ดีที่สุด ในสถานพยาบาลบางแห่งไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือดังกล่าว หมออาจจะรับตัวคนไข้ไว้ในโรงพยาบาลแล้วรักษาทางยาร่วมกับการดูอาการ ซึ่งก็นับว่าเป็นวิธีการช่วยวินิจฉัยโรคได้แบบหนึ่ง คนไข้ส่วนใหญ่มีอาการน้อย เชื่อว่าเนื่องจากอวัยวะในช่องท้องช่วยเข้ามาห่อหุ้ม คุ้มครองอุดรูรั่วไม่ให้มีการลุกลามของโรคมากขึ้น ในขณะที่รอให้หมอตรวจและเริ่มการรักษา
วิธีรักษา
• การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะเป็นหลัก การรักษาโรคถุงโป่งลำไส้ใหญ่ติดเชื้อ จะใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อเป็นหลัก ในช่วงแรกคนไข้ควรกินอาหารเหลวกากน้อย ประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ลำไส้ได้พักผ่อน หลังจากการติดเชื้อทุเลาลงให้เปลี่ยนไปเป็นอาหารอ่อน เมื่อหายปวดท้องแล้ว จึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นอาหารที่มีกากใยมากขึ้น
ในกรณีที่อาการไม่ซับซ้อน เมื่อรักษาทางยาแล้วดีขึ้น คนไข้ประมาณร้อยละ 70 จะหายขาดไปเลย หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า คนไข้ประมาณร้อยละ 30-40 จะกลับเป็นใหม่ได้อีก ซึ่งถ้าเป็นไม่มากก็อาจจะรักษาทางยาเหมือนเดิมอีกไปได้เรื่อยๆ แต่ในรายที่ยุ่งยาก มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เป็นซ้ำบ่อยมาก มีการลุกลามของฝีเป็นบริเวณกว้าง มีการอักเสบไปทั่วท้อง มีการแตกจนอุจจาระกระจายเข้าท้อง หรือมีช่องติดต่อของลำไส้ใหญ่ กับกระเพาะปัสสาวะหรือช่องคลอด หรือลำไส้ใหญ่อุดตัน หรือมีการตกเลือดมาก ต้องใช้การผ่าตัดในการรักษา
การป้องกันถุงโป่งลำไส้ใหญ่อักเสบ ทำได้โดยกินอาหารที่มีกากใย สำหรับคนที่เพิ่งหัดกินอาหารกากใยมาก ต้องค่อยๆ เพิ่มจำนวน ไม่ควรกินผักผลไม้จำนวนมากทันที เพราะอาจจะทำให้ปวดมวนท้อง ถ่ายบ่อยมาเกินทน
• การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด การผ่าตัดร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ จะช่วยแก้ไขภาวะยุ่งยากข้างต้น บางกรณีต้องผ่าตัดแบบฉุกเฉิน เช่น ในกรณีการติดเชื้อกระจายไปทั่วท้อง ภาวะอุดตันของลำไส้ใหญ่ การผ่าตัดส่วนมากต้องตัดส่วนของลำไส้ใหญ่ที่เป็นโรคออก ส่วนการจะต่อลำไส้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการติดเชื้อว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้าติดเชื้อมากจะต่อลำไส้ไม่ได้ เพราะมีความเสี่ยงที่การต่อลำไส้จะรั่ว ในกรณีนี้ศัลยแพทย์ ก็จะไม่ต่อ แต่จะเอาลำไส้ใหญ่มาเปิดออกที่หน้าท้อง (colostomy) ทำให้คนไข้ต้องถ่ายอุจจาระออกทางหน้าท้อง เมื่อหายจากการติดเชื่อดีแล้ว จึงค่อยนัดมาผ่าตัดใหม่ เพื่อต่อลำไส้ใหญ่กลับเข้าที่ แต่ก็มีบางกรณีที่เป็นมากจริงๆ การผ่าตัดต่อลำไส้ให้กลับไปถ่ายอุจจาระทางก้นอีก ไม่สามารถทำได้ ต้องถ่ายทางหน้าท้องตลอดไป
ในกรณีที่เป็นมาก และจำเป็นต้องผ่าตัดรักษา แต่ไม่ถึงกับต้องผ่าตัดด่วน ศัลยแพทย์จะนัดผ่าตัดหลังจากรักษาด้วยยาจนดีขึ้นแล้ว การผ่าตัดส่วนมากจะผ่าแบบวิธีเปิด บางกรณีอาจผ่าโดยวิธีส่องกล้องก็ได้
วิธีป้องกัน
• กินอาหารที่มีกากใย โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการกินอาหารที่มีกากใยมาก สำหรับคนที่เพิ่งหัดกินอาหารกากใยมากต้องค่อยๆ เพิ่มจำนวน ไม่ใช่อยู่ๆ ก็กินผักผลไม้จำนวนมากทันที เพราะอาจจะทำให้ปวดมวนท้องถ่ายบ่อยมากเกินทน
อาหารกากใยมากมีหลายรูปแบบ นอกจากผักผลไม้ที่เราทราบกันดีแล้ว ยังมีข้าวกล้อง ธัญพืช อาหารพวกถั่วต่างๆ มีคำแนะนำว่าผู้ชายควรกินวันละ 30 กรัม ผู้หญิง 21 กรัม ถ้ากะไม่ถูกว่าจะกินผักให้ได้กากใย 30 กรัมต้องกินมากแค่ไหน ให้ใช้วิธีง่ายๆ คือ สังเกตดูว่า อุจจาระของเรามีมวลมากพอที่จะทำให้ถ่ายได้ทุกวันหรือทุกสองวันหรือไม่ และถ่ายแล้วไม่แข็งก็พอ เคยมีความเชื่อแบบผิดๆ ว่าการกินถั่ว ข้าวโพดคั่ว หรืออาหารที่มีเม็ด จะเข้าไปอุดตันถุงโป่งของลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ แต่จากการศึกษาพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น แต่กลับช่วยป้องกันมากกว่า
นอกจากนี้ยังมีอาหารเสริมกากใยที่อยู่ในรูปของเหลวหรืออื่นๆ เช่น เม็ดแมงลัก เฉาก๊วย รวมทั้ง methylcellulose สำหรับชงน้ำดื่ม ซึ่งสารที่ทำขายนี้มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ สามารถบอกขนาดความมากน้อยของกากใยเป็นกรัมได้
• อออกกำลังกายวันละ 30-60 นาที จะมีผลดีต่อการขับถ่ายและป้องกันโรคนี้ได้ การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อท้องของเราแข็งแรง สามารถเบ่งถ่ายอุจจาระได้ดี คนที่ไม่มีแรงเบ่งอุจจาระจะคั่งค้างอยู่นานกว่าที่ควร ทำให้ลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำหน้าที่อย่างหนึ่งคือดูดน้ำ มีเวลาดูดน้ำออกจากอุจจาระมากขึ้น อุจจาระจึงแข็ง ถ้าดื่มน้ำน้อยอุจจาระยิ่งแข็งเป็นขี้แพะ ถ่ายยากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงอย่าลืมออกกำลังกายให้แข็งแรงไว้ด้วย
ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ว่า โรคถุงโป่งลำไส้ใหญ่มีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่บางกรณี เวลามีก้อนถุงโป่งอักเสบเรื้อรัง ที่ลำไส้ใหญ่ อาจจะมีลักษณะคล้ายกับมะเร็งได้ จึงจำเป็นต้องตรวจแยกโรคให้ชัด โดยการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องตัดชิ้นเนื้อตรวจให้แน่ใจ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)