
© 2017 Copyright - Haijai.com
Power of Meditation มหัศจรรย์ สมาธิ
การจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ได้ผลดีนั้น จำเป็นจะต้องมีสมาธิเป็นตัวช่วยค่ะ เด็กๆ วัย 3-6 ปี เป็นวัยที่เพิ่งเดินได้คล่อง และกำลังจะก้าวสู่สังคมใหม่ๆ ด้วยการไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก ดังนั้นทุกอย่างรอบตัวของคุณหนูๆ วัยนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คุณอาจเคยสังเกตเห็นว่าลูกสนุกอยู่กับภาพระบายสีได้ไม่ทันไร พอได้ยินเสียงสุนัขเห่าที่หน้าบ้าน ก็รีบวิ่งไปส่องดูตรงประตู เผลอไม่ทันไรก็ไปรื้อตัวต่อมาเล่นอีก ความตื่นเต้นต่อโลกใบใหญ่ของเด็กๆ วัยนี้เป็นเรื่องดีค่ะ แต่จะดียิ่งขึ้นไหม หากว่าเราฝึกให้ลูกมีสมาธิควบคู่กันไปด้วย
สมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งของเด็กๆ โดยทั่วไปอยู่ที่ 3 – 5 นาที ต่ออายุเด็ก 1 ปี หมายความว่าถ้าลูกอายุ 1 ขวบ ก็น่าจะมีความสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 นาที 2 ขวบ ไม่ต่ำกว่า 6 นาที เป็นต้น
สมาธิแบบไหน ใช่เลย?
เด็กแต่ละคนมีความสนใจต่อสิ่งต่างๆ ไม่เท่ากันค่ะ แต่โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่อายุ 3 – 6 ปี ควรมีความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรียกว่ามีสมาธิในการทำกิจกรรมใดๆ ไม่ต่ำกว่า 10 นาทีเป็นอย่างน้อย การมีสมาธิของเด็กๆ นั้น อาจไม่ได้หมายความว่าการนั่งขัดสมาธิ แล้วสูดลมหายใจเข้าออกเสมอไปค่ะ เพราะหากจะให้คุณหนูๆ มานั่งอยู่หลับตานิ่งๆ สูดลมหายใจ คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากขัดธรรมชาติของเด็กๆ ในวัยนี้ ดังนั้นการทำสมาธิ ที่ใช่และน่าจะเหมาะสมกับเด็กมากที่สุด ก็คือการให้คุณหนูๆ ได้ทำกิจกรรมที่เขาสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้เป็นเวลานานนั่นเองค่ะ
เกิดอะไร เมื่อเกิดสมาธิ
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า สมาธิมีส่วนสัมพันธ์กับสมอง กล่าวคือเมื่อเด็กๆ จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน สมองส่วนเซเรบรัม ซึ่งทำหน้าที่ในส่วนของการควบคุมความจำ การแสดงออก การมีเหตุมีผล ก็จะทำให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของคลื่นสมองอัลฟ่า (Alpha) ซึ่งเป็นคลื่นสมองที่ทำให้เกิดการผ่อนคลาย ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดี เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีความจำที่ดีด้วย
นอกจากนี้ประโยชน์ของการฝึกหายใจอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยผ่อนคลายความรู้สึกเครียด การฝึกให้เด็กที่ซุกซนมากๆ อยู่ไม่เฉย ด้วยการใช้วิธีเดินจงกรม หรือเคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ พร้อมกับกำหนดลมหายใจให้เข้าจังหวะเพลง (Dance Meditation) ก็จะทำให้เด็กรู้สึกสงบนิ่ง ผ่อนคลาย และมีสมาธิมากขึ้น
สร้างสมาธิให้ลูกอย่างไรดี
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นค่ะ สมาธิสำหรับเด็กๆ นั้น อาจไม่ได้หมายถึงการนั่งนิ่งๆ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออกเสมอไป แต่อาจเกิดจากการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานาน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดสมาธิให้กับลูกน้อยที่บ้านได้ ด้วยวิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ค่ะ
สร้างระเบียบวินัย
ระเบียบวินัย ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งที่ลูกควรเรียนรู้เพื่ออยู่รวมกันในสังคมเท่านั้น แต่การฝึกให้ลูกใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบ ทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสติรับรู้ อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิตามมา คุณอาจเริ่มง่ายๆ ด้วยการจัดตารางกิจวัตรประจำวันให้กับลูก เพื่อให้เขารู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไรบ้าง เป็นต้น
มุมสงบภายในบ้าน
ในบ้านของคุณควรมีอย่างน้อยสักหนึ่งมุม เป็นมุมสงบ ที่คุณอาจชวนลูกไปนั่งเงียบๆ อ่านหนังสือเล่านิทานร่วมกัน เป็นมุมที่หากเจ้าตัวเล็กต้องการความเงียบ ก็สามารถเดินไปนั่งพักสบายๆ ได้ทันที
เดินตามเส้น สมาธิตามทาง
นอกจากจะฝึกการเคลื่อนไหวแล้ว การติดสติ๊กเกอร์รูปต่างๆ ลงบนพื้นให้เป็นทางเดินของลูก ยังจะช่วยให้หนูน้อยใช้สมาธิ และสติในการเดินให้ตรงกับสติ๊กเกอร์ที่คุณแปะไว้ กิจกรรมง่ายๆ แต่สร้างสรรค์นี้ ช่วยฝึกให้ลูกมีสมาธิได้ดีนักเชียวค่ะ อ๋อ! ถ้าบ้านไหนไม่มีสติ๊กเกอร์สวยๆ อาจจะใช้เทปกาวแปะเป็นเส้นยาวๆ ตามทางเดินแทนก็ได้ค่ะ
กิจกรรมสนุกดี มีสมาธิ
หลังจากจัดบรรยากาศภายในบ้านให้เอื้อต่อการเกิดสมาธิแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องสังเกตเจ้าตัวน้อยของคุณสักนิดว่าลูกชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษ ชอบกระโดดโลดเต้น ชอบวาดรูป ปั้นดินน้ำมัน หรือทำงานประดิษฐ์ แล้วจัดสรรกิจกรรมนั้นๆ ให้ลูกได้ทำเป็นงานอดิเรก เชื่อหรือไม่ค่ะว่าหากกิจกรรมที่คุณจัดให้ลูกนั้นเป็นที่ถูกใจเจ้าตัวเล็กแล้วล่ะก็ หนูน้อยจะจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้นานเป็นวันๆ เลยทีเดียว
Art & Meditation
เด็กๆ ส่วนใหญ่ชื่นชอบการวาดภาพ ระบายสี งารประดิษฐ์ แล้วรู้หรือไม่ค่ะว่ากิจกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างสมาธิให้ลูกได้เป็นอย่างดี
• ชวนลูกไปเดินเก็บก้อนหิน แล้วนำมาระบายสี การเดินที่ต้องคอยสังเกตหาก้อนหินสักก้อนนั้นเด็กๆ จะต้องใช้ความตั้งใจมากเป็นพิเศษ ส่วนการระบายสีก้อนหินก้อนเล็กๆ ก็จำเป็นต้องใช้สมาธิมากทีเดียว
• ระบายสีเปลือกไข่ เก็บเปลือกไข่ที่เหลือจากการปรุงอาการมาให้ลูกระบายสี เพราะว่าความบอบบางของเปลือกไข่ จะยิ่งทำให้เจ้าตัวเล็กต้องมีสติ และใช้สมาธิในการระมัดระวังไม่ให้เปลือกไข่แตกมากขึ้น
• เปเปอร์มาเช่ นอกจากจะต้องฉีกกระดาษให้ได้จำนวนมาก เพื่อมาแปะให้เป็นรูปต่าง เด็กๆ ก็จะต้องมีสติขณะที่แปะกระดาษลงไป เพื่อให้ได้ภาพหรือรูปทรงที่ต้องการอีกด้วย
นอกจากกิจกรรมต่างๆ ที่จะฝึกให้ลูกได้สงบนิ่งอย่างมีสติแล้ว คุณยังอาจใช้ช่วงเวลานอนหลับ ให้ลูกฝึกผ่อนลมหายใจเข้าออก ก็จะช่วยสร้างสมาธิให้คุณหนูๆ ได้ดีอีกวิธีหนึ่ง
(Some images used under license from Shutterstock.com.)