© 2017 Copyright - Haijai.com
เรื่องของเด็กเลี้ยงแกะ Story of a Liar
“ใครทำน้ำหก!!!” เมื่อเดินมาเห็นแอ่งน้ำนองเจิ่งพื้นบ้านคุณแม่ก็เอ่ยถาม กับเจ้าตัวเล็กที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ใกล้ๆ โดยที่หนูน้อยไม่มีท่าทีจะสนใจ
“หนูเปล่าทำ สงสัยฝนตกมั้ง” แหนะ! เจ้าตัวดีเฉไฉไปเรื่อยเปื่อยทั้งๆ ที่นั่งอยู่ในร่มฝนจะตกได้อย่างไร คุณแม่เหลือบเห็นแก้วน้ำ กลิ้งเอกขเนกอยู่กับกองของเล่น จึงเอ่ยถามต่อไปว่า “แล้วนี่แก้วน้ำของใครน้า??” เจ้าตัวดีลอยหน้าลอยตา “ไม่ใช่ของหนู ของโดเรมอนมั้ง” เมื่อเห็นว่าเจ้าตัวเล็กไม่ยอมจำนนง่ายๆ คุณแม่จึงก้มลงเก็บแก้วน้ำ แล้วเดินไปหยิบผ้ามาเช็ดน้ำที่หกแต่โดยดี...นี่คุณแม่กำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง หรือสนับสนุนให้ลูกเป็นเด็กเลี้ยงแกะกันแน่?
Dr. Victoria Talwar ผู้ช่วยศสตราจารย์ แห่ง Montreal’s McGill University สหรัฐฯ ระบุว่า การโกหกของเด็กๆ นั้นมีส่วนเชื่อมโยงกับอัจฉริยะภาพของลูก
Why Kid Lie หลากเหตุผลของคนโกหก
จากเหตุการณ์ข้างต้น ก็คงพอทำให้เข้าใจได้ค่ะว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เจ้าตัวน้อยกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะนั้น ก็เพราะว่ากลัวถูกลงโทษเมื่อทำความผิด การปฏิเสธไว้ก่อนจึงเป็นทางเลือกที่เด็กๆ เลือกใช้ นอกไปจากนี้การโกหกยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น เพื่อให้เข้ากับเพื่อนๆ ได้ เพื่อให้มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ ฯลฯ เจ้าตัวน้อยของคุณอาจเริ่มเรื่องราวโกหก โดยไม่ตั้งใจ ได้ตั้งแต่อายุ 3 ปี เช่น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรื่องราวในจินตนาการของหนูๆ นั่นเอง การโกหก อาจกล่าวได้ว่าเป็นพัฒนาการขั้นหนึ่งของลูก หากคุณรับมือและตอบสนองอย่างถูกวิธีแล้ว ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้การโกหกกลายเป็นนิสัยที่ติดตัวลูกได้
แต่กรณีที่หนูน้อยโตจนสามารถแยกแยะเรื่องจริงออกจากจินตนาการได้แล้ว แต่ยังพูดโกหกอยู่เป็นนิจสินแล้วล่ะก็ งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน New York Magazine ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กวัย 6 ปี ที่โกหก ส่วนใหญ่จะเลิกโกหกได้เมื่ออายุ 7 ปี อย่างไรก็ตาม ยังมีเด็กอีกครึ่งหนึ่งที่ติดนิสัยโกหกไปจนกระทั่งอายุ 7 ปี ซึ่งเด็กจำนวนนี้เอง ที่จะติดนิสัยโกหกไปตลอดช่วงวัยเด็ก และหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมก็จะติดนิสัยไปจนโตได้
When Truth Hurts ความจริงที่แสนเจ็บปวด
บางครั้งการโกหก ก็เป็นเครื่องมือในการรักษาน้ำใจ หากคุณบอกให้ลูกโกหกคุณป้า ว่าของขวัญที่คุณป้ามอบให้นั้นเริ่ดสุดๆ ทั้งๆ ที่ความจริงสุดจะเห่ย ก็อาจจะทำให้เจ้าตัวเล็กสับสน เด็กๆ ที่อายุ 7 ปี ขึ้นไปอาจเข้าใจถึงเจตนาของคุณได้ ฉะนั้น คุณควรสอนให้ลูกเข้าใจความแตกต่างระหว่างการโกหก เพื่อถนอมน้ำใจเพื่อน กับการโกหกเพื่อปกปิดความผิดด้วย
Deal with Liar รับมือเด็กเลี้ยงแกะ
เมื่อคุณพบว่าเจ้าตัวเล็ก ทำหน้าบ้องแบ๊ว แล้วเอ่ยคำเท็จ การตอบสนองที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะป้องกันไม่ให้ลูกพูดโกหกอีกค่ะ สิ่งที่คุณควรทำได้แก่
• สังเกตให้แน่ใจ หยุดคิดสักนิดก่อนว่า คุณรู้ได้อย่างไรว่าลูกพูดโกหก เพราะยิ่งโตขึ้นเด็กๆ ก็ยิ่งจะโกหกได้แนบเนียนขึ้น และหากลูกไม่ได้พูดโกหก แต่คุณกล่าวหาเขา เรื่องราวก็อาจใหญ่โตขึ้นได้ คุณควรสังเกตแววตา อารมณ์ของลูก หรือโทนเสียง คุณไม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณคิดว่าเขาโกหก จนกว่าจะมั่นใจจริงๆ
• แสดงออกอย่างเหมาะสม หากเรื่องที่ลูกพูดโกหกนั้นไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร คุณอาจยกผลประโยชน์ให้จำเลย แต่แสดงให้ลูกรู้เป็นนัยๆ ว่าคุณรู้นะว่ามีบางอย่างที่ลูกพูดไม่จริง
• แสดงความเห็นใจ หาโอกาสที่เหมาะสม เช่น เวลาอาหาร หรือขณะอยู่บนรถกับลูก พูดถึงความรู้สึกของคุณที่เกี่ยวกับการโกหก คุณอาจกตัวอย่างเพื่อนที่ทำงาน ที่มักโกหกเสมอๆ พูดให้ลูกฟังว่า “แม่ดีใจที่ลูกไม่พูดโกหก เพราะความเชื่อใจที่เรามีให้กันมันเป็นสิ่งสำคัญมาก” หรือคุณอาจเล่าเรื่องคนที่โกหกและผลรับที่เขาได้ พร้อมกับแสดงความเห็นใจ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐฯ ระบุว่า การพูดทำนองนี้ จะสอนลูกได้ดีกว่าคำสอนที่จริงจังเสียอีก
• เปิดใจคุย หากคุณพบว่าลูกโกหกในเรื่องที่สำคัญ เช่น เรื่องที่เกี่ยวความปลอดภัย หรือเรื่องที่อาจทำให้คนอื่นเดือดร้อน คุณควรคุยกับลูกอย่างเป็นการส่วนตัว เริ่มจากถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฟังสิ่งที่ลูกพูด ก่อนจะบอกสิ่งที่คุณรู้ พยายามอย่าพูดให้ลูกรู้สึกว่าเขาจนมุม หากลูกแสดงอาการหัวเสีย หรือหงุดหงิด คุณก็ควรใจเย็น อธิบายให้ลูกฟังเรื่องความไว้ใจ และผลของการโกหก และชวนให้ลูกคิดหาหนทางแก้ไข หากพบว่าลูกโกหกเพื่อให้เข้ากับเพื่อนๆ ได้ อธิบายให้ลูกฟังว่า เพื่อนแท้ จะยอมรับเราอย่างที่เราเป็น ฉะนั้นการโกหกเพื่อให้เพื่อนๆ ชอบนั้นจะไม่เป็นผลดี ที่สำคัญคือ อย่าทำให้ลูกรู้สึกขายหน้าขณะที่คุณคุยกับเขา
3 วิธี ไม่ให้เจ้าตัวดีเป็นเด็กเลี้ยงแกะ
1.เป็นตัวอย่างที่ดี หากคุณไม่ต้องการให้ลูกโกหก คุณก็ต้องไม่โกหกด้วย หากคุณวานให้ลูกบอกเพื่อนที่โทรมาหาว่าคุณไม่อยู่ หรือสอนลูกว่า “อย่าบอกพ่อนะว่ากางเกงตัวใหม่ราคาเท่าไร” เด็กๆ ก็จะจดจำสิ่งที่คุณทำและคิดว่าการโกหกเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้
2.อย่าคาดหวังสูง เด็กๆ อาจโกหก เพราะรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคาดหวัง ฉะนั้น คาดหวังในสิ่งที่ลูกทำได้ แต่หากลูกเกิดทำในสิ่งที่คุณต้องการไม่ได้ขึ้นมา ก็อย่าลงโทษ หรือแสงดท่าทีผิดหวังให้ลูกเห็น และคอยให้กำลังใจเขาเสมอ
3.รักษาคำพูด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเพียงใด หากบอกลูกว่าจะทำก็ต้องทำให้ได้ค่ะ เช่นเดียวกับการค้นหาความจริงจากลูก หากคุณบอกลูกว่าจะไม่โกรธหากเขาพูดความจริง ก็ต้องไม่โกรธ ด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)