
© 2017 Copyright - Haijai.com
The Warning Sing สัญญาณอันตราย เมื่อลูกเปลี๊ยนไป
สำหรับหนูน้อยในขวบปีแรกนั้น การสื่อสารความต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับทราบ อาจจะเป็นเรื่องยากลำบากค่ะ เพราะเด็กในวัยนี้พัฒนาการการสื่อสารยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ดังนั้นเมื่อลูกน้อยเจ็บไข้ได้ป่วยแต่ละที การที่คุณพ่อคุณแม่จะรู้ได้ก็น่าจะมาจากการสังเกตพฤติกรรมของลูกที่เปลี่ยนไป
โดยทั่วไปหากลูกน้อยตื่นตัวและร่าเริงทุกครั้งหลังตื่นนอน ดูดนมได้จนอิ่มทุกมื้อ หรือถ้าร้องไห้เมื่อได้รับการปลอบสักพักก็จะหยุด นั่นแสดงว่าลูกของคุณมีสุขภาพกายใจที่เป็นปกติ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยที่เกิดขึ้น ก็อาจไม่ได้หมายความว่าลูกป่วย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าสัญญาณไหนที่บอกว่าลูกกำลังไม่สบาย แล้วสัญญาณไหนคือเรื่องปกติ
Sing of Sickness สัญญาณ อาการป่วย
ง่วงเหงาหาวนอน และอ่อนเพลีย
ธรรมชาติของทารกจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ แต่เมื่อตื่นมาเด็กๆ ก็มักจะร่าเริง ยิ้มหัวเราะให้คุณพ่อคุณแม่ชื่นใจได้ รวมทั้งยังจะดูดนมและกินอาหารเสริมได้ดีอีกด้วย ดังนั้นแม้ว่าเวลาส่วนใหญ่ของคุณหนูๆ จะหมดไปกับการนอนหลับ แต่หากลูกป่วยเสียแล้ว คุณก็จะสังเกตเห็นว่าเมื่อหนูน้อยตื่นนอน เขาจะไม่เล่น ไม่หยอกล้อกับพ่อแม่อย่างที่เคย บางครั้งอาจนอนหลับยาวนานกว่าปกติ อาจมีอาการปฏิเสธอาหารร่วมด้วย หากคุณสังเกตว่าลูกมีความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้หลายวันติดกันก็อาจเป็นสัญญาณว่าเจ้าตัวเล็กป่วยด้วยการติดเชื้อ หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หากคุณพบว่าลูกไม่ยิ้มหัวเราะเหมือนเคย ดูดนมได้น้อย ก็ควรปรึกษากุมารแพทย์ค่ะ
กินน้อย น้ำหนักลด
ปัญหาเรื่องการกินของลูกรวมไปถึง หนูน้อยไม่ค่อยยอมดูดนม เบื่ออาหาร แหวะมากกว่าปกติ และน้ำหนักลด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตควบคู่กันไปได้แก่
• เด็กทารกส่วนใหญ่มักจะหิวนมทุกๆ 3-4 ชั่วโมง โดยเมื่อหนูน้อยหิวเขาก็มักจะร้องไห้ ดูดนิ้วมือ ดูดปาก แต่สำหรับเด็กที่ป่วยอาจจะหลับนาน และไม่แสดงอาการหิวนมแต่อย่างใด
• แหวะนม และเรอหลังการดูดนม อาการนี้โดยทั่วไปถือเป็นเรื่องปกติของทารก แต่หากว่าหนูน้อยอาเจียนออกมามาก เกือบทุกครั้งที่ให้มื้อนม ก็อาจเป็นสัญญาณว่าลูกได้รับนมมากเกินไป กรณีที่อาเจียนของลูกมีสีแปลกๆ เช่น สีเขียว ก็อาจเป็นสัญญาณว่าหนูน้อยมีภาวะลำไส้อุดตันก็เป็นได้
• น้ำหนักลด โดยทั่วไปหลังคลอดได้ 2-3 วัน ทารกอาจมีน้ำหนักลดลง 10% ของน้ำหนักเมื่อแรกคลอด ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา น้ำหนักที่หายไปนี้จะกลับมาภายใน 10-11 วันหลังจากนั้น สัญญาณที่บ่งบอกว่าน้ำหนักของลูกไม่เพิ่มตามเกณฑ์อาจดูได้จากเนื้อตัวของลูกไม่เต่งตึง เนื้อไม่แน่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ ปัสสาวะน้อยลง โดยทั่วไปหลังคลอดได้ 1 สัปดาห์แพทย์จะนัดเพื่อตรวจสุขภาพและชั่งน้ำหนักของลูก ซึ่งหากเจ้าตัวน้อยมีแนวโน้มว่าน้ำหนักจะลดต่อไป แพทย์ก็จะทำการตรวจหาอาการป่วยอื่นๆ ได้ทันท่วงที
หงุดหงิด งอแงอย่างต่อเนื่อง
การร้องไห้ของเด็กทารก ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะนี่เป็นวิธีการเดียวที่เขาจะสื่อสารความต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ทราบได้ ซึ่งหากคุณสังเกตคุณก็จะรู้ว่าการร้องไห้แต่ละครั้งนั้นจะมีโทนเสียงแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของลูก ไม่ว่าจะร้องไห้เพราะหิว ร้องไห้เพราะง่วง หรือร้องไห้เพราะเหงา เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากเจ้าตัวน้อยร้องไห้อย่างต่อเนื่อง แสดงอารมณ์หงุดหงิดเมื่อคุณพ่อคุณแม่เล่นด้วย นี่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าหนูน้อยกำลังป่วย หรือไม่สบายตัว สิ่งที่คุณควรทำคือ ตรวจสอบดูว่าเสื้อผ้าของลูกทำให้หนูน้อยระคายผิวจนร้องไห้หรือไม่ หากทำทุกทางแล้วลูกยังไม่หยุด และคุณแน่ใจว่าไม่ใช่การร้องโคลิก ก็ควรพาลูกพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป
ทารกแรกเกิดจะต้องการนมประมาณ 12 ครั้งต่อวัน (ทุก 2-3 ชั่วโมง) จนกระทั่งย่างเข้าเดือนที่ 3 พฤติกรรมการกินของลูกอาจเปลี่ยนไป คือ ต้องการนม 6-8 ครั้งต่อวัน ความต้องการที่ลดลงนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณของอาการป่วย ตราบเท่าที่เด็กๆ ยังหัวเราะ เล่น และดูดนมได้เป็นปกติ
เชื่อสัญชาตญาณ
เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างเฉพาะตัวค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อที่จะทำความคุ้นเคยกับพฤติกรรมการกิน การนอนของลูก คุณไม่ควรกังวลมากเกินไปในเรื่องของปริมาณ และระยะเวลาการกินของลูก ในทางกลับกันคุณควรให้ความสำคัญกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และอารมณ์ของลูกระหว่างมื้ออาหารมากกว่า
รู้ได้อย่างไรว่าป่วยจริง
หนังสือเรื่อง The Complete Book of Mather and Baby Care โดย Elizabeth Fenwick ระบุว่าการจะรู้ว่าเจ้าตัวเล็กมีไข้หรือไม่นั้น การวัดอุณหภูมิที่ส่วนต่างๆ ของร่างกายจะให้ผลต่างกันไปดังนี้ค่ะ
• วัดอุณหภูมิทางก้น ช่วงอุณหภูมิร่างกายปกติ 36.6-38 องศาเซลเซียส มากกว่า 38.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
• วัดอุณหภูมิทางปาก(ใต้ลิ้น) ช่วงอุณหภูมิร่างกายปกติ 35.5-37.5 องศาเซลเซียส มากกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
• วัดอุณหภูมิที่รักแร้ ช่วงอุณหภูมิร่างกายปกติ 34.7-37.2 องศาเซลเซียส มากกว่า 37.2 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
• วัดอุณหภูมิทางช่องหู ช่วงอุณหภูมิร่างกายปกติ 35.8-38 องศาเซลเซียส มากกว่า 38 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
(Some images used under license from Shutterstock.com.)