Haijai.com


Bottle Phobia แม่จ๋า หนูกลัวขวด (ขวดนม)


 
เปิดอ่าน 2630
 

Bottle Phobia แม่จ๋า หนูกลัวขวด (ขวดนม)

 

 

ใครๆ ก็รู้ว่าน้ำนมแม่นั้นดีที่สุด ยิ่งหากเจ้าตัวเล็กได้ดูดนมจากอกของคุณแม่ด้วยแล้ว ประโยชน์ที่ลูกได้รับนั้นมหาศาลเกินจะหาอะไรมาเทียบได้ค่ะ แต่น่าเสียดายที่คุณแม่ส่วนใหญ่ เป็นคุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน อยู่กับลูกได้ไม่กี่เดือนก็ต้องกลับไปทำงานเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ขวดนมจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมแม่อย่างเต็มอิ่ม แต่จะทำอย่างไรหากเจ้าตัวน้อยเกิดกลัวขวดนมขึ้นมา

 

 

กลัวขวดนม ทำไม?

 

ในเด็กบางคนการดูดนมจากขวดก็อาจเป็นเรื่องที่ง่ายแสนง่าย แต่สำหรับคุณหนูๆ ที่คุ้นกับการดูดนมจากอกแม่มาสักระยะ แล้วต้องเปลี่ยนมาดูดนมจากขวดนมนั้น ความแตกต่างในทุกๆ ด้านก็อาจทำเอาเจ้าตัวน้อยฝันหนีดีฝ่อได้ค่ะ เพราะการดูดนมจากอกแม่นั้น ริมฝีปากของเด็กจะงับอยู่ที่บริเวณลานหัวนมของคุณแม่ และกระดกลิ้นขึ้นเพื่อกดลานหัวนม ขณะเดียวกันก็ผ่อนลิ้นเมื่อดูด ทำให้น้ำนมไหลลงสู่คอของหนูน้อยได้ การดูดนมจากอกแม่นี้ ลิ้นและขากรรไกรของลูกจะทำงานเป็นจังหวะควบคู่กันไป และหนูน้อยต้องดูดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้รับน้ำนม

 

 

ขณะที่การดูดนมจากขวดนมมีลักษณะต่างไป เนื่องจากแรงโน้มถ่วงทำให้น้ำนมไหลลงมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าหนูน้อยจะดูดหรือไม่ก็ตาม เจ้าตัวน้อยไม่จำเป็นต้องอ้าปากมากเท่ากับการดูดนมจากอกแม่ ริมฝีปากก็ไม่ต้องปิดผนึกแน่นกับจุกนม เหมือนกับขณะที่ดูดนมแม่ ความแตกต่างนี้เองคะที่เป็นที่มาของความหวาดกลัวของเจ้าตัวเล็ก

 

 

ชวนลูกรัก รู้จักขวดนม

 

หากคุณแม่มีวันเวลาที่แน่นอน เช่นต้องกลับไปทำงาน คุณก็ควรใช้เวลาก่อนหน้านั้นประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับขวดนม และเพราะว่าขวดนมก็เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับลูกมากพออยู่แล้ว น้ำนมสำหรับลูกก็ควรเป็นน้ำนมที่คุ้นเคย อันได้แก่ น้ำนมแม่ นั่นเองค่ะ

 

 

เวลาที่เหมาะสม คือ เวลาที่ลูกอารมณ์ดี และเป็นเวลาที่ลูกไม่หิวนมมากเกินไป คุณแม่เองก็ควรผ่อนคลาย มีทัศนคติที่ดีต่อการป้อนนมจากขวด อย่ารู้สึกผิดที่คุณจะไม่สามารถป้อนนมจากอกให้ลูกอีกต่อไป เพราะหากคุณรู้สึกกังวล หรือตื่นเต้น ลูกน้อยก็จะสัมผัสอารมณ์ของคุณได้ และมีแนวโน้มที่จะปฏิเสธขวดนมได้มากขึ้น

 

 

เมื่อพร้อมแล้วก็ค่อยๆ อุ้มลูกให้อยู่ในอ้อมแขน นำขวดนมมาจ่อที่ปากของลูกน้อย อาจแตะๆ ให้ลูกคุ้นเคยก่อน และเมื่อพร้อมหนูน้อยก็จะงับจุกนมด้วยตัวเขาเอง คุณแม่ควรแน่ใจว่าน้ำนมอุ่นพอดี ระหว่างนี้อย่าลืมพูดคุย และยิ้มให้กับลูก เพราะเสียงและใบหน้าของคุณจะทำให้ลูกมั่นใจมากขึ้น หากคุณทำสำเร็จ ควรให้ลูกดูดนมจากขวดสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง เพื่อไม่ให้เขาลืมวิธีการดูด ก่อนที่คุณจะกลับไปทำงาน

 

 

กรณีที่ลูกไม่ยอมงับจุกนม อย่าพยายามยัดเยียดให้กับลูก คุณอาจพักสักครู่ แล้วค่อยลองใหม่ ถ้าลูกงอแงมาก ไม่ควรให้ป้อนนมจากอกในทันที เพราะเด็กๆ อาจเข้าใจผิดว่า ถ้าเขางอแงก็จะได้ดูดนมจากอกแม่ คุณอาจต้องพยายามมากกว่า 1 ครั้งกว่าจะทำให้ลูกลองดูดนมจากขวดได้ อย่าถอดใจก่อนนะคะ

 

 

ไม่สนขวดนม แก้ได้

 

หากทำอย่างไรเจ้าตัวดีก็ไม่สนขวดนมเสียที คุณอาจลองวิธีต่อไปนี้ค่ะ

 

 

 เปลี่ยนคนให้นม บางครั้งเจ้าตัวเล็กอาจจำได้ว่า คุณแม่อุ้มทีไร ก็จะได้ดูดน้ำนมอุ่นๆ จากอกแม่ แล้วนี่อกของแม่ก็อยู่ตรงหน้า แต่ทำไมคุณแม่จึงไม่เปิดให้ดูดล่ะ? ด้วยเหตุนี้หนูน้อยจึงปฏิเสธที่จะดูดนมจากขวดนม ลองเปลี่ยนเป็นคุณพ่อ หรือคนในครอบครัวคนอื่นๆ ที่ลูกคุ้นเคย ก็อาจจะลงความสับสนให้ลูกได้

 

 

 เปลี่ยนท่าให้นม ทารกหลายคนเชื่อมโยงการถูกอุ้มไว้แนบอก กับการดูดนมจากอกแม่เจ้าไว้ด้วยกัน ฉะนั้นคุณอาจลองเปลี่ยนท่าให้นม เช่น ให้ลูกนอนในรถเข็นแล้วป้อนนมจากขวด หรือท่าอื่นๆ แต่ควรเป็นท่าที่คุณสบตากับลูกได้

 

 

 เปลี่ยนจุกนม ทุกวันนี้มีจุกนมรูปแบบ และขนาด ต่างๆ กันมากมาย หากลูกไม่ยอมดูดหลังจากพยายามมาหลายวันคุณอาจพิจารณาเปลี่ยนจุกนมใหม่ หรือทำให้นุ่มลงด้วยการนำจุกนมไปต้มในน้ำเดือด รอให้เย็นแล้วจึงนำกลับมาใช้อีกครั้ง

 

 

 เบี่ยงเบนความสนใจ ไม่ว่าจะด้วยการไกวเปล เข็นรถเข็นไปมา ขณะที่ป้อนนมลูก ก็อาจจะทำให้หนูน้อยเพลินจนลืมตัวเผลอดูดนมจากขวดได้ หรืออาจจะลองป้อนนมจากขวดขณะที่ลูกน้อยกำลังงัวเงีย เพิ่งตื่นนอน ก็อาจจะได้ผลเหมือนกัน

 

 

แต่ถ้าทั้งหมดนี้ไม่ได้ผล ก็ไม่ต้องตกใจค่ะ เมื่ออายุย่างเข้า 6 เดือน เด็กๆ ก็จะเริ่มกินอาหารเสริม ซึ่งเวลานี้ หนูน้อยอาจกินนมจากถ้วยหัดดื่มได้แล้ว คุณหนูๆ บางคน ข้ามขั้นตอนการดูดขวดนมไปเลยก็มี เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลนะคะ

 

 

เรื่องของเด็กติดขวด

 

ขณะที่เด็กบางกลุ่มกลัวขวดนม ก็ยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ติดขวดนม ขนาดรักสุดหัวใจทำอย่างไรก็ไม่เลิกดูดขวด 6 ข้อต่อไปนี้ จะช่วยให้เด็กติดขวด หันมาบ๊าย บาย ขวดนมได้ในที่สุดค่ะ

 

1.เลือกเวลาที่คุณและลูกอารมณ์ดี และไม่มีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในชีวิต เช่น ไม่ได้อยู่ในช่วงที่ลูกฝึกนั่งกระโถน หรือช่วงเริ่มอาหารเสริม เป็นต้น

 

 

2.สอนให้ลูกรู้จักถ้วยน้ำและหลอด ระหว่างมื้ออาหาร เพื่อให้ลูกลองใช้ แล้วค่อยๆ ลดการใช้ขวดนมลง อย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

 

3.ทำให้ลูกผ่อนคลายด้วยการเล่านิทาน ร้องเพลง ช่วงเวลานี้คุณอาจต้องกอดและให้ความอบอุ่นกับลูกมากๆ แล้วค่อยเปลี่ยนจากการดูดขวดนมก่อนนอน เป็นการดื่มนมจากแก้ว

 

 

4.หาวัตถุอื่นๆ ที่สามารถสร้างความรู้สึกอบอุ่นมั่นคงให้ลูกได้มาแทนที่ เช่น ตุ๊กตา

 

 

5.หากลูกต้องดูดนมจากขวดก่อนนอน ค่อยๆ เจือจางนม จนเหลือแค่น้ำเปล่า แล้วค่อยๆ ลดปริมาณน้ำเปล่าลง

 

 

สมาคมกุมารแพทย์ สมาคมทันตแพทย์เด็ก ทั้งในและต่างประเทศ แนะนำว่าเด็กควรเลิกใช้ขวดนมเมื่ออายุ 1 ปี ควรเลิกดูดนมมื้อดึกเมื่ออายุ 6 เดือนและไม่ควรนอนหลับคาขวดนม ถ้าปล่อยตามใจลูกอาจจะติดขวดนม ผลที่ตามมาคือ ทำให้ฟันผุ หรือฟันยื่น เหยิน มีผลต่อการเจริญเติบโต ของขากรรไกรและโครงสร้างของใบหน้า ผลกระทบต่อสุขภาพทำให้เด็กไม่กินข้าว กินแต่นมจนอ้วน

(Some images used under license from Shutterstock.com.)