© 2017 Copyright - Haijai.com
เมื่อลูกน้อยโดนไฟดูด
โลกของเด็กตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไป ช่างน่าตื่นเต้น มีอะไรแปลกๆใหม่ๆอยู่ทั่วทุกที่ ทำให้เจ้าหนูของเราอยากรู้อยากเห็นไปซะหมด ยิ่งคลานได้คล่อง ยิ่งไม่ยอมอยู่นิ่ง ทั้งมือไม้ก็หยิบจับอะไรต่อมิอะไรเก่งขึ้น ดังนั้นการคว่ำ แคะ รื้อ โยน จึงเป็นเรื่องแสนสนุกสำหรับเขา แม้คุณพ่อคุณแม่จะดีใจที่ลูกรักพัฒนามาถึงขั้นนี้แล้วแต่สิ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือ นิ้วมือเล็กๆที่หยิบจับของเล่นนั้นก็พร้อมจะดึงสายไฟจากปลั๊ก หรือแหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟได้ทุกเมื่อ
จากการวิจัยพบว่า เด็กที่เสี่ยงต่อการโดนไฟดูดคือกลุ่มที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ และกลุ่มเด็กโต คือ 10-14 ปี โดยในเด็กเล็กมักจะเกิดกรณีเดียวกับน้องก้อย ก็คือ เอานิ้วหรือไปหยิบเอาของที่ตกตามพื้น เช่น กิ๊บติดผม ไม้แคะหู ตะปู แหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟ หรือปลั๊กไฟสามตาที่เสียบไฟไว้ ไม่งั้นก็คว้าสายไฟ (ที่เสียบไฟอยู่)ไปเคี้ยวเล่นด้วยความมันเขี้ยว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันไว้ก่อนโดยการ
1) หาซื้อตัวครอบปลั๊กไฟหรือแผ่นเสียบรูปลั๊กไฟมาปิดรูปลั๊กที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านหรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่งั้นก็หาเทปพันสายไฟมาแปะปิดไว้ก่อนก็ได้ครับ
2) ควรติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากพื้นราว 1.5 เมตร เพื่อกันการเล่น การแหย่ของเด็กเล็ก
3) ควรสำรวจอยู่เสมอนะครับ ว่ามีสายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใดหรือไม่ที่ห้อยโตงเตงลงมาจากโต๊ะ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าใดหรือไม่ที่วางแหมะอยู่ที่พื้น พร้อมที่จะให้เด็กเล็กกระชากสายไฟเล่นจนเกิดไฟช็อต หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าตกใส่หัว (ยิ่งถ้าเป็นกาน้ำร้อนก็ยิ่งอันตราย)
แม้แต่การจับสายไฟมาเคี้ยวเล่นอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็เสี่ยงต่อการไฟรั่วไฟดูดเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่ใช้งานเสร็จแล้วจะต้องม้วนไฟให้ดี และเก็บเครื่องให้เข้าที่ทุกครั้งครับ
4) การเสียบปลั๊กที่ไม่แน่น ไม่มิด หรือคาไว้นานๆ จนเหล็กเสียบเลื่อนออกมาก็จัดว่าอันตราย เพราะอาจทำให้ไฟสปาร์คขึ้นหรือเกิดประกายไฟที่หัวปลั๊ก แล้วก็ยังเสี่ยงต่อการที่เจ้าน้องเล็กจะไปจับเล่นเข้าจนไฟดูด
ส่วนเด็กโต (10-14 ปี) นั้น สาเหตุจากการโดนไฟดูด โดยมากเกิดจากการทำกิจกรรมหรือการเรียนที่เกี่ยวกับไฟฟ้า การซ่อมสร้างอุปกรณ์ไฟฟ้า การเดินสายไฟ แต่ที่พบเห็นกันอยู่เสมอก็คือ การดึง เกี่ยว หรือพยายามสอยว่าว หรือลูกโป่งที่ไปติดหรือเชือกไปพันอยู่บนสายไฟแรงสูง
ซึ่งควรจะรู้ถึงอำนาจอันรุนแรงของสายไฟแรงสูงว่า กระแสไฟ 2 หมื่นโวลต์ของมันสามารถกระโดดข้ามอากาศเข้าสู่ร่างกายของคนได้อย่างฉับพลัน อย่าว่าแต่ไปโดนเลยครับแม้แต่เข้าใกล้เกินกำหนดก็มีสิทธิ์โดนช็อตอย่างรุนแรง โอกาสจะเสียชีวิตหรือพิการมีสูงมากครับ
4.1) สอนเด็กว่าอย่าเสียดายว่าวหรือลูกโป่งที่ติดตามสายไฟ ให้ห่วงชีวิตของตนซะก่อนเถิด (สมัยผมเด็กๆเคยเห็นคุณพ่อคนหนึ่งช่วยลูกสอยว่าวใกล้สายไฟด้วยซ้ำไป)
4.2) หากพบสายไฟแรงสูงขาดหรือห้อยย้อยลงมา ให้เดินห่างๆไว้ และโทรไปแจ้งการไฟฟ้าด้วยครับ
4.3) ต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็ควรดูแลอย่าให้มันงอกงามจนไปเกาะเกี่ยวเหนี่ยวรั้งเอาสายไฟแรงสูง แม้ยามจะหักกิ่งตัดต้นก็ต้องระมัดระวังอย่างที่สุด โดยเฉพาะต้นไม้ที่อยู่ใกล้สายไฟแรงสูงก็ไม่ควรแตะต้อง ทางที่ดีปล่อยเป็นหน้าที่ของมืออาชีพจะดีกว่า โดยโทรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าโดยด่วน
สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างพวกเรา ควรหมั่นตรวจตราสิ่งแวดล้อมในบ้าน เพื่อความปลอดภัยจากไฟช็อตหรือไฟรั่วดังต่อไปนี้ครับ
1) อย่าปล่อยให้สายไฟแม้แต่เส้นเดียวเปื่อยหรือชำรุด หากเจอเข้าต้องเปลี่ยนทันที
2) หากบ้านใดใช้ปลั๊ก 3 ตา เพื่อกันเด็กเล็กจับต้องหรือเล่นซนจนได้รับอันตราย จึงควรไว้ในที่สูง และขอแนะนำว่าอย่าเสียบไฟทบกันไปมาจนเกินกำลังไฟจะรับไหว
การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันคราวละหลายๆตัว ก็เสี่ยงต่อการเกิดไฟช็อตไฟรั่ว
3) สมัยนี้บ้านใครไม่มีเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ ก็ไม่ผิดอะไรกับบ้านที่ไม่มีรั้วป้องกันขโมย ดังนั้นการใช้จ่ายเพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน ก็นับว่าเป็นความคุ้มค่าอย่างยิ่ง แต่ก็อย่าลืมเปิดอ่านคู่มือการใช้ เพื่อศึกษาให้เข้าใจและใช้เป็นนะครับ
4) เคยมีกรณีทึ่งแม่ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ลูกชายวัย 8 ขวบเสียบปลั๊กน้ำร้อนให้ด้วย ในขณะที่ลูกชายกำลังอาบน้ำ เจ้าหนุ่มน้อยก็วิ่งแจ้นออกมาทั้งที่ตัวเปียกมอล่อกมอแลก และเสียบปลั๊กที่คุณแม่สั่ง ผลปรากฏว่าโดนไฟดูดอาการปางตาย ดังนั้นทุกคนโปรดจำไว้ ตัวเปียกหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นแฉะๆห้ามแตะสวิทช์ไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กอยู่โดยเด็ดขาด
5) ลองสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดทุกตัวที่มีอยู่ภายในบ้านสิครับ อาจจะพบบางตัวที่สายไฟชำรุด โดยเฉพาะตรงหัวต่อของตัวเสียบ ที่มักจะฉีกขาด หรือมีรอยรั่ว เนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน ถ้าเจอแบบนี้ก็เปลี่ยนใหม่ได้เลยครับ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)