© 2017 Copyright - Haijai.com
5 วิธีสร้างเด็กดี สร้างเด็กไทย
จะว่าไปแล้วการเลี้ยงลูกแบบไทยตามวิถีของคุณย่าคุณยายนั้นก็มีข้อดีที่เราน่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับคุณหนูๆ เด็กยุคใหม่ได้หลายประการทีเดียวค่ะ ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้ยังน่าจะช่วยเป็นเกราะป้องกันคุณหนูๆ ไม่ให้หลงใหลไปกับกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ลูกรู้จักคิดแยกแยะ และเป็นเด็กที่น่ารักของทุกๆ คน ได้ไม่ยาก
1.สร้างเด็กไทย ให้มีคุณธรรม
เรื่องคุณธรรมกับสังคมไทยในสมัยเก่าก่อนนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นของคู่กันค่ะ พ่อแม่ปู่ย่าตายาให้ความสำคัญในการปลูกฝังลูกหลานเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอันดับแรกๆ ผิดกับปัจจุบันที่เมื่อพูดถึงการเลี้ยงลูก คำที่พ่อแม่ส่วนใหญ่นึกถึงกับเป็นคำว่า “อัจฉริยะ” บทบาทของคุณธรรมถูกลดความสำคัญลง ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในยุคสมัยใหม่นี้ คุณธรรมน่าจะเป็นสิ่งที่พ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกน้อยเป็นอันดับต้นๆ มากกว่า
คุณจะดีใจและภูมิใจได้อย่างไรคะ หากว่าลูกของคุณเป็นเด็กเก่ง แต่ไม่มีน้ำใจ เป็นเด็กฉลาดแต่นำความรู้ที่มีไปเอารัดเอาเปรียบคนอื่นๆ สังคมไทยทุกวันนี้เต็มไปด้วยคนเก่งค่ะ แต่คนเก่งคนดีและมีคุณธรรมคงมีอยู่น้อยเกินไป ไม่อย่างนั้นประเทศของเราคงไม่ตกอยู่ในวิกฤตแห่งความขัดแย้งเช่นนี้ ว่าแล้วเรามาปลูกฝังคุณธรรมลงในใจลูก เหมือนกับที่คุณธรรมเคยเป็นสิ่งสำคัญในสังคมไทยในสมัยปู่ย่าตายายกันดีกว่าคะ
• ฝึกระเบียบวินัยตั้งแต่วัยทารก ลูกน้อยจะรับผิดชอบต่อสังคมได้ ต้องเริ่มจากการสอนให้เขารู้จักรับผิดชอบต่อตัวเองก่อนค่ะ เริ่มตั้งแต่การฝึกวินัยวัยทารก ให้ลูกกินนอนเป็นเวลา สอนให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้เหมาะสมตามวัย เมื่อลูกสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ต่อไป
• เล่านิทาน เด็กๆ กับนิทานเป็นของคู่กันค่ะ ลองเลือกนิทานชาดกสำหรับเด็กมาเล่าให้ลูกฟัง เรื่องราวเหล่านี้นอกจากจะสนุก สอดแทรกแง่คิดแล้วก็ยังเป็นโอกาสให้คุณได้สอนเรื่องคุณธรรมต่างๆ แก่เจ้าตัวน้อยได้เป็นอย่างดี
• ทำให้ลูกเห็น หากคุณพร่ำสอนลูกว่าอย่าโกหก แต่คุณโกหกเป็นกิจวัตรให้ลูกได้ยิน สิ่งที่คุณสอนก็คงไม่เป็นผลแน่ๆ ดังนั้นตัวอย่างที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะปลูกฝังคุณธรรมลงในใจลูกให้เป็นผลสำเร็จได้
เคล็ดลับคุณธรรม
ธรรมชาติของเด็กทุกคนจะมีแนวทางไปตามความต้องการของตนเป็นหลัก เพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นตัวของตัวเอง หากพ่อแม่ปล่อยลูกโดยไม่มีการควบคุม ไม่มีการกำกับจากภายนอกเด็กจะไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ไม่รู้ว่าต้องหัดอดทนและรู้จักควบคุมตัวเองให้อยู่ในความดีงามถูกต้อง ระบบการควบคุมภายในจิตใจของเด็กจึงไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นได้ยาก ความพอดีในการควบคุมและปล่อยลูกในสถานการณ์ต่างๆ จึงจะช่วยสร้างคุณธรรมให้ลูกง่ายขึ้น
2.สร้างเด็กไทย ให้อ่อนน้อมถ่อมตน
ในอดีตเราเคยเห็นภาพเด็กไทยเรียบร้อยสุภาพ มีสัมมาคารวะ ทุกวันนี้ภาพเหล่านั้นค่อยๆ เลือนหายไป ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสังคมที่ต้องการคนเก่ง ต้องการคนกล้าแสดงออก โดยลืมไปว่าการกล้าแสดงออกในทางที่เหมาะที่ควร และรู้จักกาลเทศะและสัมมาคารวะนั้นเป็นสิ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปได้
การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กเก่ง สำหรับทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องยากค่ะ แต่การเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กเก่งแต่ไม่ก้าวร้าว เก่งแต่ไม่หยาบกระด้างอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก บางครั้งเด็กเก่งที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน อาจจะประสบความสำเร็จและเป็นที่รักของคนทั่วไปมากกว่าเด็กเก่งแต่หยาบกร้านก็เป็นได้
• ไปลามาไหว้ เด็กไทยต้องไม่ลืม สิ่งหนึ่งที่เรียกว่าเป็นเสน่ห์ของคนไทย คือการมีสัมมาคารวะไปลามาไหว้นั่นเองค่ะ สอนลูกด้วยการทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างตั้งแต่หนูน้อยยังแบเบาะ เช่น เวลาที่คุณพาลูกไปพบญาตินอกจากคุณจะยกมือสวัสดีญาติๆ แล้วก็อย่าลืมบอกให้เขาธุจ้าทุกครั้งด้วย หรือเวลาที่คุณกลับมาจากทำงาน กล่าวสวัสดีลูกน้อย แล้วอย่าลืมสอนให้เขายกมือธุจ้าคุณตอบด้วย
• สอนคำวิเศษ ขอบคุณ ขอโทษ 2 คำวิเศษที่คุณจะต้องสอนลูกคือ คำว่าขอบคุณและขอโทษ เมื่อคุณมอบสิ่งใดให้ลูกสอนให้ลูกพูดขอบคุณ เช่นเดียวกันเมื่อลูกทำสิ่งใดให้คุณ คุณก็ต้องขอบใจลูกด้วยทุกครั้ง ส่วนคำว่าขอโทษนั้น คุณอาจใช้นิทาน หรือหาโอกาสที่เหมาะสมสอนความหมายของคำๆ นี้ให้ลูกเข้าใจ รวมทั้งหากคุณทำสิ่งใดพลาดก็อย่าอายที่จะกล่าวขอโทษลูกด้วยค่ะ
• ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมก้าวร้าว การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ได้แค่การเล่นที่รุนแรงโลดโผน แต่ยังหมายความถึงการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม การแสดงพฤติกรรมที่ส่อว่าไม่มีความเคารพต่อผู้ใหญ่อีกด้วย บางครอบครัวอาจจะต้องการสนับสนุนให้ลูกกล้าแสดงออก มั่นใจในตัวเอง เมื่อลูกเถียงก็ชื่นชมว่าลูกเก่ง คิดเองได้ แต่ต้องทำความเข้าใจค่ะว่า การเถียงกับการแสดงเหตุผลอย่างเหมาะสมนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะชื่นชมพฤติกรรมของลูกก็ควรไตร่ตรองสักนิดว่าคุณกำลังจะส่งเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยหรือไม่
3.สร้างเด็กไทย ให้รับผิดชอบ
แม้ว่าความเก่งกล้าสามารถจะมาคู่กับเด็กไทยยุคใหม่ แต่ในขณะเดียวกันเด็กๆ หลายคน(หรือกระทั่งผู้ใหญ่) กลับขาดความกล้าที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองทำผิดพลาด หรือกล้าที่จะช่วยกันรับผิดชอบสังคม เราสร้างลูกให้เป็นคนเก่งของสังคม แต่เราสร้างลูกให้รู้สึกตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งต่างๆ ที่เขาควรมีด้วยหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกลูกให้มีความรับผิดชอบได้ด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
• ให้ลูกช่วยงานบ้าน มอบหน้าที่ให้กับลูกรับผิดชอบภายในครอบครัว เช่น รดน้ำต้นไม้ในกระถางเล็กๆ กวาดห้องนอนของตัวเอง เก็บเสื้อผ้าของตัวเองลงตะกร้า เก็บของเล่น เป็นต้น
• ยอมรับผลที่เกิดขึ้น หากลูกลืมสมุดการบ้านซ้ำแล้วซ้ำอีก บางทีคุณอาจต้องปล่อยให้เขาโดนคุณครูลงโทษที่โรงเรียน แทนที่จะบึ่งรถเอาสมุดการบ้านไปให้ลูก เพราะหากคุณช่วยเหลือทุกครั้งที่ลูกลืมรับผิดชอบหน้าที่ของตน เขาก็จะไม่ได้เรียนรู้ผลลัพธ์ที่เกิดจากความผิดพลาดของเขาเอง
• ทำให้ลูกรู้ว่าคุณเห็นความรับผิดชอบของเขา เช่น เมื่อลูกช่วยงานบ้านอย่างต่อเนื่อง หรือยอมรับผิดในสิ่งที่ทำพลาด บอกให้คุณรู้ว่าคุณชื่นชมในความรับผิดชอบของลูก เพื่อเป็นแรงเสริมทางบวก แต่อย่าลืมว่าการยอมรับผิด ไม่ได้หมายความว่าลูกจะไม่ถูกลงโทษ โดยเฉพาะเมื่อลูกทำผิดกฎเกณฑ์ที่เคยตกลงกันไว้ก่อนแล้ว
4.สร้างเด็กไทย ใส่ใจคุณค่าแท้
ในโลกวัตถุนิยมทุกวันนี้ หากเราไม่สอนลูกให้รู้จักคิด และแยกแยะความจำเป็นของสิ่งต่างๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่าเจ้าตัวน้อยจะหลงไหลได้ปลื้มไปกับวัตถุสวยๆ งามๆ เหล่านั้นค่ะ เรื่องของคุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้เด็กในสังคมปัจจุบันนี้ได้รู้จัก ไม่เพียงแต่ว่าจะช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว แต่ยังป้องกันให้ลูกไม่ตกเป็นเหยื่อของคำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้โดยง่ายอีกด้วย
คุณค่าแท้ของสิ่งต่างๆ คือ คุณค่าที่สิ่งนั้นๆ ทำประโยชน์ได้จริง เช่น เสื้อผ้า ก็เพื่อให้ความอบอุ่น อาหารก็เพื่อให้ร่างกายมีกำลัง แต่คนส่วนใหญ่ปัจจุบันนี้กลับมองเห็นแต่คุณค่าเทียม เช่น เครื่องนุ่งห่ม ก็ต้องสวยงาม ทันสมัย ไม่อย่างนั้นคนก็จะดูถูกว่าเชย อาหารก็ต้องอร่อย แสดงถึงรสนิยม หากเรามัวแต่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าเทียมเช่นนี้ ก็จะส่งผลให้เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่รู้จักพอ ต้องอัพเดทเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆ ไม่เว้นแต่ละวัน สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หากคุณไม่ได้ปลูกฝังให้หนูน้อยเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ในอนาคตเด็กๆ เหล่านี้ก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เสื้อผ้าสวยๆ โทรศัพท์แพงๆ เพราะหลงเข้าใจไปว่าสิ่งนี้ทำให้ตัวเองมีหน้ามีตามีคุณค่าอยู่ในสังคมได้ แม้ว่ากว่าจะได้สิ่งเหล่านั้นมาต้องแลกด้วยร่างกายและชีวิตก็ตาม
5.สร้างเด็กไทย ให้คิดเป็น
วัยรุ่นไทยที่เป็นปัญหาสังคมอยู่ในทุกวันนี้ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ คงไม่ปฏิเสธค่ะว่า เด็กๆ เหล่านั้นอาจขาดการส่งเสริมให้รู้จักคิดแยกแยะถูกผิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เด็กๆ จำเป็นจะต้องได้รับการปลูกฝังตั้งแต่แบเบาะ การเลี้ยงลูกด้วยเหตุผล เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็น จะเป็นการส่งเสริมกระบวนการคิดให้ลูกได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่แต่ว่าให้ลูกแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากคำชี้แนะจากคุณ เพราะเหตุผลบางทีก็อาจไม่ใช่เป็นเหตุผลที่ดีและถูกต้องเสมอไปค่ะ
ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งเปิดโอกาสให้ลูกวัย 4 ปีแสดงความเห็น และใช้เหตุผลได้เต็มที่ เมื่อหนูน้อยหยิบสมุดการบ้านของเพื่อนกลับมาบ้าน คุณแม่เห็นจึงถามว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น ลูกบอกว่าเพราะเพื่อนระบายสีสวย อยากทำได้บ้างจึงหยิบมาดู คุณแม่ก็เห็นว่าลูกมีเหตุผลดีจึงปล่อยเลยตามเลย แบบนี้ไม่ถูกต้องนักค่ะ เพราะเหตุผลเช่นนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักของความถูกต้องเลย ถึงแม้ว่าลูกจะคิดได้ แต่ไม่ได้ถือว่าลูกคิดเป็น กรณีนี้คุณควรสอนลูกว่า “แม่ดีใจที่ลูกอยากระบายสีได้สวยเหมือนเพื่อน แต่การหยิบของเพื่อนมานั้นไม่ถูกต้อง เป็นการขโมย ลูกต้องนำสมุดไปคืนเพื่อน”
การสอนให้ลูกรู้จักคิด คิดเป็น จึงไม่ใช่เพียงแค่คิดได้ แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนหลักของความถูกต้องด้วย
(Some images used under license from Shutterstock.com.)