
© 2017 Copyright - Haijai.com
การคลอดก่อนกำหนด
“คลอดก่อนกำหนด” คงเป็นคำที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายไม่อยากให้เกิดกับตัวเอง เพราะไม่เพียงความเสี่ยงหลายๆ ประการที่จะเกิดกับตัวคุณแม่เองแล้ว ก็ยังมีหมายถึงปัญหาสุขภาพนานาประการที่ลูกน้อยต้องเผชิญอีกด้วย แต่การคลอดก่อนกำหนดนั้น บางครั้งก็เป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมทั้งของคุณแม่และคุณหมอค่ะ การศึกษาเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ อย่างน้อยๆ ก็น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่อุ่นใจได้ว่า การคลอดก่อนกำหนด ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายอย่างที่คิดเสมอไป โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีทางการแพทย์รุดหน้าไปมากเช่นปัจจุบันนี้
หากคุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์และคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ เราจะเรียกการคลอดนี้ว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดค่ะ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่จะน้ำหนักน้อย ตัวเล็ก และจำเป็นต้องได้คลอดก่อนกำหนด กับระบบของร่างกาย
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนั้น ระบบต่างๆ ของร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แพทย์ต้องให้ความช่วยเหลือในหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่าร่างกายของลูกน้อยเต็มไปด้วยสายระโยงระยางดูน่ากลัว แต่ทั้งหมดนั้นก็เพื่อช่วยชีวิตของเจ้าตัวเล็กให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้นั่นเองค่ะ
พญ.หทัยทิพย์ ภารดีวิสุทธิ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด ให้ความรู้กับเราว่า โดยทั่วไปสิ่งที่แพทย์จะต้องตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือทารกที่คลอดก่อนเกณฑ์ มีหลายประการ แต่จะยกตัวอย่างบางระบบให้พอเข้าใจคือ
• การหายใจ และปอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนดเมื่อคลอดออกมาแล้วส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องการหายใจ ถ้าไม่มีข้อห้ามอื่นๆ สูติแพทย์จะแนะนำให้ฉีดยากระตุ้นการทำงานของปอด เพื่อภายหลังการคลอดปอดของลูกจะได้ทำงานได้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจเห็นว่ามีท่อช่วยหายใจที่ใส่ทางปากและอุปกรณ์ช่วยหายใจผ่านทางจมูก นอกจากนี้ยังมีการให้สารลดแรงตึงผิวในทารกบางราย นั่นก็เพื่อช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง
• หัวใจ ระหว่างที่อยู่ในครรภ์มารดา เลือดจากมารดาจะผ่านเส้นเลือดที่สายสะดือไหลไปที่หัวใจลูก และผ่านเส้นเลือดที่หัวใจ(Ductus arteriosus) ไปสู่เส้นเลือดแดงใหญ่และไปเลี้ยงทั่วร่างกายเลือดจะไม่ไปที่ปอดเนื่องจากความดันเลือดในปอดสูง หลังจากที่ลูกคลอด ความดันในปอดจะลดลงทำให้เลือดไปปอดมากขึ้น แต่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด อาจมีภาวะปอดที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้ความดันเลือดในปอดยังคงสูงทำให้เลือดไปที่ปอดน้อยลง และทำให้เส้นเลือดที่หัวใจเส้นนี้ยังเปิดอยู่ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาได้ทันทีอาจทำให้มีผลแทรกซ้อนต่อระบบอื่นๆ และอันตรายต่อชีวิตได้
• ระบบประสาทสมอง เป็นอวัยวะสำคัญมากอีกอวัยวะหนึ่ง เนื่องจากถ้าสมองขาดออกซิเจนก็จะมีผลกระทบต่อทุกๆ อวัยวะตามมา และในทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในช่องสมองได้ง่ายจึงต้องมีการตรวจ ultrasound ที่ศีรษะเป็นระยะ
• ระบบทางเดินอาหาร เด็กที่คลอดก่อนกำหนด การดูด การกลืนนม และระบบการย่อยจะยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น การให้นมก็ต้องระวัง หากสามารถให้นมแม่ได้ก็จะดีที่สุดซึ่งถ้ามีปัญหาการดูดการกลืนก็สามารถดูดนมแม่ได้ แต่ถ้าการดูด การกลืนการหายใจไม่สัมพันธ์กันก็ต้องให้ทางสายยางทีละน้อยๆ หรือหากไม่สามารถให้นมแม่ได้ก็ต้องใช้นมผงสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะ
• สายตา เด็กที่คลอดก่อนกำหนดเส้นเลือดในจอประสาทตายังพัฒนาไม่เต็มที่ ร่างกายก็จะสร้างเส้นเลือดเพิ่มขึ้นมาใหม่ ทำให้เส้นเลือดหนาขึ้นแล้วดึงจอประสาทตา จนอาจทำให้ตาบอดได้ ทารกคลอดก่อนกำหนดจึงต้องตรวจจอประสาทตาเป็นระยะเป็นระยะๆ ด้วย
รับการช่วยเหลือจากแพทย์ด้วยเครื่องมือต่างๆ ทั้งนี้เป็นเพราะระบบร่างกายของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่นั่นเอง ในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 10 ของหญิงตั้งครรภ์มีภาวะคลอดก่อนกำหนด และนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพของลูกน้อยหลังคลอด
อาหารการกิน กับการคลอดก่อนกำหนด
ถ้าทารกคลอดออกมาอายุครรภ์น้อย ยังดูดกลืนไม่ได้หรือการดูดการกลืนและการหายใจยังไม่สัมพันธ์กัน ก็ต้องใส่สายให้อาหารผ่านทางปากเข้าไปที่กระเพาะอาหารโดยตรง นอกจากนี้ยังมีสายให้น้ำเกลือและสารอาหารต่างๆ กรณีที่ทารกไม่มีปัญหาเรื่องการย่อย การดูด การกลืนและการหายใจที่ไม่สัมพันธ์กันก็จะให้ทารกดูดนมแม่ได้และค่อยๆ เพิ่มนมทีละน้อย หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมได้ก็จะใช้นมผงสำหรับเด็กคลอดก่อกำหนดแทนนมแม่ก่อน โดยประมาณ ภายใน 2 สัปดาห์หากไม่มีปัญหาอื่นๆ และโดยเฉพาะลำไส้ติดเชื้อ หรือรุนแรงจนถึงลำไส้เน่าทารกก็จะสามารถกินนมได้เต็มที่
ดูแลอย่างไร เมื่อลูกได้กลับบ้าน
ร่างกายของทารกคลอดก่อนกำหนดนั้นบอบบางและต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษค่ะ อย่างไรก็ตาม หากคุณหมออนุญาติให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกกลับบ้านได้ นั่นก็หมายความว่าเจ้าตัวน้อยของคุณปลอดภัยในระดับหนึ่งแล้ว หากแพทย์ไม่ได้แจ้งข้อยกเว้นอะไร การดูแลก็สามารถทำได้เหมือนทารกปกติค่ะ แต่มีบางสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็น
ความสะอาด
เนื่องจากทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป การดูแลสุขอนามัยของลูก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบๆ กายให้สะอาดอยู่เสมอก็จะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกอยู่ใกล้กับผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ไอ จาม มีน้ำมูก เพราะหากลูกได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายก็จะป่วยได้ง่าย และอาจเป็นหนักกว่าเด็กปกติ โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปี
พัฒนาการ
การกระตุ้นพัฒนาการให้เจ้าตัวน้อยที่คลอดก่อนกำหนดก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ค่ะ เพราะเด็กๆ ที่คลอดก่อนเกณฑ์นี้ มีโอกาสที่จะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป คุณพ่อคุณแม่จึงควรกระตุ้นพัฒนาการลูกให้มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยการพูดคุย เล่นกับลูกบ่อยๆ กอด นวดสัมผัส เปิดเพลงให้ลูกฟัง กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3 ปีแรกของชีวิตคุณอาจต้องใช้เวลากับการกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้มากกว่าเด็กทั่วไป เพราะเป็นเวลาที่สมองของลูกกำลังเจริญเติบโต หากได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมก็จะทำให้เจ้าตัวน้อยมีพัฒนาการเทียบเท่ากับเด็กที่คลอดปกติได้
Kangaroo Care อบอุ่นในกระเป๋าจิงโจ้
อีกวิธีการหนึ่งที่จะให้ความอบอุ่นหนูน้อยคลอดก่อนกำหนดได้ดีนั่นก็คือการอุ้มลูกด้วยวิธีที่เรียกว่า Kangaroo Care ซึ่งผิวของผู้อุ้มและทารกจะสัมผัสกันโดยตรง ลักษณะเดียวกับที่ลูกจิ้งโจ้อบอุ่นอยู่ในกระเป๋าของแม่จิ้งโจ้นั่นเองค่ะ วิธีการก็แสนง่ายเพียงแค่ปรับอุณหภูมิห้องให้อบอุ่นพอดี ผู้อุ้มหาที่นั่งเอนหลังสบายๆ แล้ว ปลดกระดุมเสื้อเพื่อให้ลูกได้อบอุ่นอยู่แนบอก ให้ผู้ช่วยอีกคนอุ้มลูกน้อยที่ใส่เพียงผ้าอ้อมมาวางไว้ที่หน้าอกในลักษณะคล้ายๆ กับการให้นม ซึ่งหูของหนูน้อยจะอยู่ใกล้กับหัวใจของผู้อุ้มพอดี วิธีการนี้เชื่อว่าช่วยทำให้ระดับการเต้นของหัวใจ การหายใจ และอุณหภูมิร่างกายของทารกคงที่มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์มากๆ ต่อหนูน้อยที่คลอดก่อนกำหนด
บุก NICU ห้องดูแลคุณหนูคลอดก่อนเกณฑ์
คุณพ่อคุณแม่ที่ให้กำเนิดลูกน้อยก่อนกำหนดคงมีความเครียดและกังวลมากในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ยิ่งถ้ามาเห็นห้องดูแลทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือที่เรียกกันว่า NICU (Neonatal Intensive Care Unit) ด้วย หรือห้องไอซียูของเด็กๆ ด้วยแล้ว บรรยากาศทึมๆ บวกกับความเงียบ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ไม่คุ้นตาดูน่ากลัว คงทำให้พ่อแม่หลายท่านรู้สึกอึดอัด ยิ่งเห็นลูกน้อยตัวเล็กจิ๋วของเรานอนอยู่ท่ามกลางสายระโยงระยางด้วยแล้วก็คงจะยิ่งหวั่นใจไปกันใหญ่ แต่ลองคิดอีกแง่หนึ่งสายต่างๆ และเครื่องมือเหล่านั้นมันคือสิ่งที่จะช่วยให้หนูน้อยมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่คลายความกังวล เราเลยพาคุณพ่อคุณแม่บุกไปดูห้อง NICU เพื่อให้รู้กันสิว่าเจ้าสายยางและเครื่องมือหน้าตาหน้ากลัวต่างๆ นั้น น่ากลัวจริงไหม แล้วมีหน้าที่อะไรกันบ้าง
• Radiant Warmer เบาะนอนของทารกที่มีหลอดไฟอยู่ด้านบนนั้น มีไว้เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ทารกค่ะ เพราะผิวของคุณหนูๆ ที่คลอดก่อนกำหนดค่อนข้างบาง จึงสูญเสียความร้อนทางผิวหนังค่อนข้างมาก เครื่อง Radiant Warmer นี้จะช่วยสร้างความอบอุ่นให้ทารก โดยจะมีตัวแปะที่ผิวทารกเพื่อวัดอุณหภูมิ แล้วแสดงที่หน้าจอ ว่าอุณหภูมิเท่าไร ร้อนหรือเย็นไปหรือไม่ เหมือนกับการอยู่ในตู้อบนั่นเองค่ะ แต่ตู้อบนั้นจะใช้ก็ต่อเมื่อ คุณหมอหรือพยาบาลไม่จำเป็นต้องทำหัตถการบ่อยๆ เช่น เปลี่ยนสายน้ำเกลือ วัดอุณหภูมิ แต่ทารกคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด การอยู่ใช้ Radiant Warmer จึงสะดวกมากกว่า
• Transport incubator รถเข็นคันใหญ่โตนี้ มีไว้สำหรับเคลื่อนย้ายทารกที่ใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากในรถนี้จะมีเครื่องควบคุมที่ค่อนข้างคงที่ สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดแล้วจำเป็นต้องย้ายทารกจากห้องคลอดมาห้อง NICU การใช้รถนี้ก็จะทำให้เคลื่อนย้ายทารกได้อย่างปลอดภัย
• ท่อช่วยหายใจ คือท่อที่ใส่เข้าทางปากของทารกนั้นเป็นท่อช่วยหายใจค่ะ ปัจจุบันมีอุปกรณ์ช่วยหายใจโดยใส่ทางจมูกเด็กโดยทีมแพทย์มักจะใช้ออกซิเจนช่วยทารกเท่าที่จำเป็นในระยะฉุกเฉินเท่านั้น เพราะถ้าใช้มากเกินความจำเป็น เด็กอาจจะมีอันตรายและมีภาวะแทรกซ้อนจากออกซิเจนได้
• Pulse Oxymeter สายที่เห็นแปะไว้ที่นิ้วมือน้อยๆ ของทารกมีหน้าที่เพื่อเชคค่าอ๊อกซิเจน ดูการเต้นของหัวใจ โดยพยาบาลต้องคอยเปลี่ยนให้ทารกทุกๆ 4 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นผิวของหนูน้อยอาจเป็นแผลได้
• สายให้น้ำเกลือทางสะดือ มีทั้งเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำถ้าเป็นเส้นเลือดแดงก็จะใช้สำหรับดูดเลือดไปตรวจ เส้นเลือดดำไว้ให้น้ำเกลือ สารอาหารรวมถึงให้ยาด้วย แต่จะใช้เพียงระยะแรกๆ เท่านั้น เพราะหากใช้นานอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีผลแทรกซ้อนอื่นๆได้
• ผ้าห่อตัวทารก (Nest) มีทั้งแบบสำเร็จและแบบที่ให้ผ้ามาพับเอง ใช้เพื่อห่อตัวทารกและให้ทารกนอนในท่าที่เหมือนอยู่ในครรภ์มารดา เป็นการช่วยส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการได้
• เครื่องประคองศรีษะทารก แนบอยู่ระหว่างหูทั้งสองข้างของทารก เพื่อให้หน้าของทารกตั้งตรง และเป็นตัวยึด ป้องกันไม่ให้ท่อช่วยหายใจหลุด ขณะเดียวกันก็ป้องกันเสียงรบกวนรอบข้างด้วย
• ตัวเลข มีไว้เพื่อกะตำแหน่งวางแผ่นเอกซเรย์และใช้วัดความยาวของสายต่างๆ เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนดจะต้องทำการเอกซเรย์ค่อนข้างบ่อย แต่ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้านทารกวันละหลายๆ ครั้งก็ไม่เป็นผลดี ดังนั้น หากสามารถเอกซเรย์ได้โดยไม่ต้องอุ้มทารกออกจากที่นอน ก็จะเพิ่มความปลอดภัยให้หนูน้อยมากขึ้น
สาเหตุการคลอดก่อนกำหนด
สาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดค่ะ อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อของน้ำคร่ำระหว่างตั้งครรภ์ เรื่องของถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด มีประวัติคลอดก่อนกำหนด หรือแท้งในระยะหลังของการตั้งครรภ์มาก่อน มีความผิดปกติของทารกหรือรก มีภาวะครรภ์แฝดน้ำ หรือว่าครรภ์แฝด ที่ส่งผลให้มดลูกขยายตัวมากกว่าปกติ มารดามีโรคร้ายแรง เช่น ปอดบวม ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น
คลอดก่อนกำหนดป้องกันได้
แม้ว่าจะไม่รู้สาเหตุที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด แต่ทั้งนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ ต่อไปนี้ค่ะ
• ดูแลเรื่องโภชนาการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่
• รักษาความสะอาดระหว่างตั้งครรภ์ เพราะเรื่องความสะอาดเป็นความสำคัญอันดับแรก ที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อและทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
• ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เพราะขณะตั้งครรภ์มดลูกที่ขยายตัวจะไปกดทางเดินปัสสาวะ ทำให้การไหลเวียนของทางเดินปัสสาวะลดลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น
• ไม่ทำงานหนักเกินไป เพราะทำงานหนักมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกได้
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
(Some images used under license from Shutterstock.com.)