Haijai.com


Thai Herb That Heal ฉุกเฉินสมุนไพรช่วยได้


 
เปิดอ่าน 2023
 

Thai Herb That Heal ฉุกเฉินสมุนไพรช่วยได้

 

 

ขึ้นชื่อว่าเหตุฉุกเฉิน เมื่อจะเกิดขึ้นเราจึงมักไม่ได้เตรียมการล่วงหน้า ดังนั้นการแก้ไขสถานกาณ์ฉุกเฉินให้ดีขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องใช้ไหวพริบ สติ และความรวดเร็ว ในการนำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาเป็นเครื่องช่วยเหลือเพื่อให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นทุเลาเบาบางลง ยิ่งในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยขึ้นกับเจ้าตัวเล็กด้วยแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยิ่งรอช้าไม่ได้ และหากได้รู้ว่าสิ่งของใกล้ตัวที่อยู่ในบ้านเรา อย่างสมุนไพรไทยนั้น ช่วยรักษาอาการป่วยของลูกได้ด้วยแล้ว ก็น่าจะทำให้คุณพ่อคุณแม่วางใจได้ในระดับหนึ่ง

 

 

เปิดกรุครัวไทย สมุนไพรรักษาโรค

 

สรรพคุณของสมุนไพรไทยนั้นเป็นที่เลื่องลือ และใช้รักษาอาการต่างๆ ได้ดีไม่แพ้ยาปฏิชีวนะ แถมยังราคาถูกกว่ากันเยอะอีกด้วย มาดูกันดีกว่าว่าหากเจ้าตัวเล็กเกิดป่วยกายขึ้นมา สมุนไพรจะช่วยอย่างไรได้บ้าง

 

 

น้ำร้อนลวก ต้องว่านหางจรเข้

 

หากเจ้าตัวดีเกิดซนจนทำน้ำร้อนลวกมือตัวเองขึ้นมาล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้าค่ะ รีบหาว่านหางจระเข้ ตัดเอาใบสดๆ ปอกเอาเปือกแข็งๆ สีเขียวออก ขูดเมือกและล้างด้วยน้ำสะอาดจนยางเหลืองๆ ออกหมด จึงนำวุ้นที่อยู่ภายในมาฝานบางๆ ปิดบริเวณแผล แล้วใช้ผ้าพันแผลปิดเอาไว้ พอรู้สึกว่าว่านหางจระเข้เริ่มแห้งให้เปลี่ยนชิ้นใหม่ และทำความสะอาดแผลทุกวัน กรณีที่แผลสกปรกหรือมีเลือดออก ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด และห้ามเลือดก่อน หากไม่ดีขึ้นควรพาลูกไปพบแพทย์

 

 

หัวโน ฟกช้ำ จดจำดินสอพอง

 

เด็กๆ วัยอยากรู้อยากเห็น มักได้แผลฟกช้ำดำเขียวบ่อยๆ ไม่ที่ศีรษะ หน้าผาก ก็ที่หัวเข่า หากเจ้าตัวดีของคุณเกิดมีรอยแผลฟกช้ำขึ้นล่ะก็ คุณสามารถใช้น้ำมะนาวผสมดินสอพองพอกบริเวณที่ปูดบวมฟกช้ำ หลังจากนั้นใช้วิธีการประคบด้วยผ้าชุบน้ำร้อนวันละ 2-3 ครั้ง หากลูกมีอาการเซื่องซึมหลังได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ ควรรีบพาไปพบแพทย์

 

 

แมงกะพรุนไฟ พ่ายผักบุ้งทะเล

 

กรณีที่ไปเที่ยวทะเล แล้วลูกน้อยเผอิญไปสัมผัสกับเจ้าแมงกะพรุนไฟใจร้าย จนเกิดอาการแสบๆ ร้อนๆ ล่ะก็ ให้คุณพ่อคุณแม่รีบมองหาผักบุ้งทะเล ที่มักจะขึ้นอยู่ริมชายหาด เด็ดเอาใบมาล้างให้สะอาด ก่อนจะขยี้ๆ ให้ได้น้ำจากใบผักบุ้งทะเล แล้วนำมาทาบริเวณที่โดนแมงกะพรุน ก็จะช่วยบรรเทาอาการ ระหว่างที่พาเจ้าตัวเล็กไปหาหมอได้ ลักษณะของผักบุ้งทะเลจะเป็นไม้เลื้อยอยู่บนพื้น ใบเป็นรูปหัวใจปลายเว้าเข้าหากัน ดอกสีม่วงๆ เอ้า! ไปทะเลคราวหน้าอย่าลืมมองหาผักบุ้งทะเลด้วยนะค่ะ

 

 

เป็นไข้ ต้องใช้ขิง

 

เมื่อลูกน้อย เกิดไม่สบายเป็นไข้ คุณพ่อคุณแม่ลองใช้ขิงแก่ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ทุบพอแตก แล้วตำให้ละเอียด ใส่น้ำสะอาดแล้วคั้นให้ได้ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ ก่อนผสมน้ำผึ้ง 2 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากันแล้วให้ลูกจิบ ก็จะช่วยทำให้หนูน้อยรู้สึกดีขึ้นได้ อีกวิธีหนึ่งคือนำขิงมาฝานเป็นแผ่นบางๆ ต้มกับน้ำ 1 แก้วให้เดือด แล้วตักเนื้อขิงออก ใส่น้ำตาลเล็กน้อยให้ลูกจิบ สำหรับสูตรที่ใส่น้ำผึ้งนั้นควรใช้กับลูกวัย 1 ปี ขึ้นไปค่ะ และหากลูกคอแห้งหรือกระหายน้ำมากขึ้น ควรหยุดใช้สูตรสมุนไพรนี้ค่ะ

 

 

ใบน้อยหน่า รักษาเหา

 

สำหรับหนูน้อยวัยเรียน มีโอกาสที่จะติดเหาจากเพื่อนที่โรงเรียนค่อนข้างสูง เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกเป็นเหา เอาแต่เกาหัวแล้วล่ะก็ ลองใช้ใบน้อยหน่า 10 กำมือ หรือเมล็ดประมาณ 10 เมล็ด มาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมะพร้าว 1-2 ช้อนโต๊ะ ขยี้ให้ทั่วศีรษะของลูก ใช้ผ้าคลุมทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วล้างออกให้สะอาดก็จะช่วยรักษาเหาได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เข้าตาด้วยนะคะ

 

 

จมูกโล่ง ด้วยหอมแดง

 

ปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ คงมีเจ้าตัวดีหลายคนกำลังเป็นหวัดแน่ๆ เพื่อให้ลูกน้อยหายใจได้คล่อง โล่งจมูกมากขึ้น ให้นำหอมแดงมาปอกเปลือก บุบให้พอแตก ห่อผ้าขาวบาง วางไว้หัวนอนของลูก กลิ่นของหอมแดงจะช่วยทำให้จมูกของหนูน้อยโล่งขึ้น หายใจได้โล่งสบายมากขึ้น

 

 

รู้ไว้ใช่ว่า สมุนไพรไทย

 

การใช้สมุนไพรในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นนั้น จะเรียกว่าเป็นการรักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติบำบัดก็คงไม่ผิดนักค่ะ มูลนิธิสุขภาพไทย ได้ให้การยอมรับว่าสมุนไพรนั้นปลอดภัยกับคนทุกเพศทุกวัย หากรู้จักใช้ให้ถูกวิธี และในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งถึงแม้ว่าสมุนไพรจะปลอดภัยมากกว่ายาปฏิชีวนะ แต่ก็มีข้อควรระวังด้วย เช่น หากใช้สมุนไพรรักษาอาการติดเชื้อในเด็ก เช่น อาการไข้แล้วลูกไม่หาย หรือมีอาการอื่นๆ เพิ่มขึ้นควรหยุดและพาลูกไปพบแพทย์ นอกจากนี้สมุนไพรไม่สามารถรักษาโรคโลหิตจาง หรือขาดสารอาหารในเด็กได้ จะว่าไปแล้วการใช้สมุนไพรรักษาโรคนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เป็นทางเลือกในการปฐมพยาบาล และบรรเทาอาการเบื้องต้น ในอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อย่าง ฟกช้ำ เป็นหวัด คัดจมูก ฯลฯ ดีกว่าค่ะ แต่หากดูแล้วว่าลูกป่วยหนัก ก็ควรพาเจ้าตัวเล็กไปขอรับคำปรึกษาจากแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

 

 

Thai Herb Safety Tips

 

การใช้สมุนไพรให้ปลอดภัยนั้น มีหลักที่ต้องคำนึงอยู่ 5 ประการด้วยกัน ดังนี้

 

1.ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรไทยมีชื่อเรียกต่างกันไปตามท้องถิ่นค่ะ เช่น ฝรั่ง ที่ใบมีสรรพคุณแก้ท้องเสียนั้น หากเป็นทางแม่ฮ่องสอนจะเรียกว่า มะกา ซึ่งคำว่ามะกาในภาคกลางนั้นหมายถึงผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่ใบใช้เป็นยาถ่าย หากใช้ผิดขึ้นมา ก็อาจอาการหนักกว่าเก่าได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คุณจึงควรแน่ใจก่อนจะนำสมุนไพรมาใช้ว่า เป็นสมุนไพรที่คุณต้องการจริง

 

 

2.ใช้ถูกชิ้นส่วน เพราะแต่ละส่วนของพืชก็มีสรรพคุณต่างกันไป เช่น ผลกล้วยดิบ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้โรคกระเพาะ แต่ผลกล้วยสุกเป็นยาระบาย เป็นต้น

 

 

3.ใช้ในปริมาณที่เหมาะสม หลายคนคิดว่าสมุนไพรใช้มากเท่าไรก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ที่จริงแล้วการใช้สมุนไพรก็เหมือนการใช้ยาทุกชนิดคือต้องใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ

 

 

4.ใช้ถูกวิธี เช่น ว่านหางจระเข้ หากจะนำมาบรรเทาแผลน้ำร้อนลวก ก็ต้องปอกเปลือกและล้างเอายางเหลืองๆ ออกให้สะอาดก่อน หากไม่รู้ แล้วไม่ได้ล้างยางที่เป็นเมือกออก นำมาแปะที่แผลก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้

 

 

5.ใช้ให้ถูกกับโรค เหมือนกับยาปฏิชีวนะ หากปวดท้องเพราะไส้ติ่ง แต่กินยาแก้โรคกระเพาะ อาการก็คงไม่ทุเลา ดังนั้นก่อนจะใช้สมุนไพร ก็ต้องแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยมีอาการจากสาเหตุใด แล้วจึงเลือกใช้สมุนไพรที่เหมาะสม

(Some images used under license from Shutterstock.com.)